อดีตรมว.คลัง เตือน รับใช้นายทุนมีความเสี่ยง ปมสร้างเทอร์มินัล 2 ชี้มอเตอร์เวย์ส่อหายนะ

วันนี้ (7 ต.ค.) นายธีระชัย ภูวนาถนรานุบาล อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง โพสต์ข้อความทางเฟสบุ๊ก Thirachai Phuvanatnaranubala แสดงความเห็นกรณีการสร้างอาคารผู้โดยสารสุวรรณภูมิหลังทมี่ 2

“การรับใช้นายทุนนั้น มีความเสี่ยง!” ถามว่า แผนแม่บทสุวรรณภูมิที่ทำไว้ 26 ปีก่อน ในวันนี้ใช้ไม่ได้แล้ว จริงหรือ?

ตอบว่า แผนผังในแผนแม่บท เนื่องจากเป็นผังที่เรียบง่าย ที่เน้นเฉพาะองค์ประกอบหลัก ดังนั้น จะสามารถใช้ได้ต่อไปอีกนาน

สุวรรณภูมิอยู่ในชัยภูมิที่วาง runway ทิศเหนือ/ใต้ได้อย่างสะดวก ซึ่งเหมาะสมกับทิศทางลมของประเทศไทยพอดี เพราะเกือบทั้งปี ลมพัดจากใต้ขึ้นเหนือ ยกเว้นช่วงหน้าหนาวเปลี่ยนเป็นจากเหนือลงใต้ ก็แค่กลับทิศของ runway

ส่วนรถยนต์ที่วิ่งเข้าออก ก็มาได้ 2 ทาง คือ ทางมอเตอร์เวย์ด้านเหนือ และ ทางบางนา-ตราดด้านใต้

เนื่องจากสนามบินต้องคำนึงถึงจราจรทั้งบน taxi way จำนวนงวงเทียบเครื่องบิน และการจราจรของรถยนต์ไปพร้อมกัน ดังนั้น แผนแม่บทจึงวางเทอร์มินอลขนาดใหญ่ไว้ 2 อาคาร ด้านเหนือ (ซึ่งสร้างแล้ว และใช้งานอยู่ในขณะนี้) และด้านใต้ (ซึ่งยังไม่ได้เริ่มสร้าง)

Advertisment

ปัจจัยหลักในการใช้สนามบินในช่วง 26 ปีที่ผ่านมา ก็ยังเหมือนเดิม และต่อไปในอนาคต ก็จะยังเหมือนเดิม …

ยังไม่มีผู้โดยสารขี่ไม้กวาดเหาะไปมาเอง ยังไม่มีเครื่องบินที่สามารถปล่อยผู้โดยสารลงกลางอากาศได้ ดังนั้น เทคโนโลยีที่้ปลี่ยนแปลง จึงมีแต่เครื่องบินขนาดใหญ่ขึ้นเท่านั้น เช่น A380

Advertisment

สิ่งที่เปลี่ยนแปลงสำหรับสุวรรณภูมิ มีอยู่อย่างเดียว คือมีความโลภมากขึ้น

ความโลภที่ใครอาจจะต้องการปกป้อง ไม่ให้สนามบินยึดเอาพื้นที่ City Garden คืนไป ถามว่าเป็นได้หรือไม่? ความโลกที่ใครอยากได้พื้นที่เอาไปให้เช่าช่วงมากขึ้น ถามว่าเป็นได้หรือไม่?

ถามว่า โครงการเทอร์มินอล 2 ของ ทอท. เป็นไปตามแผนแม่บท หรือไม่?

ข้อมูลในเพจ @องค์การต่อต้านคอร์รัปชัน ระบุว่า

“อาคารผู้โดยสาร Terminal 1 นั้น เดิมถูกออกแบบไว้ 11 ช่วงเสา แต่สร้างจริงเพียง 7 ช่วงเสา พื้นที่ประมาณ 560,000 ตารางเมตร เพื่อประหยัดงบประมาณในตอนเริ่มต้น

โดยมีประสิทธิภาพในการรองรับผู้โดยสาร 45 ล้านคน สำหรับ 124 Gates (หลายรูปแบบรวมกัน) โดยมีที่ว่างด้านทิศตะวันออกและตะวันตก ของ Terminal 1 เหลืออยู่ฝั่งละ 2 ช่วงเสา

และได้วางแผนต่อขยาย เพิ่มพื้นที่ให้กับ Terminal 1 ได้อีกรวมประมาณ 150,000 – 200,000 ตารางเมตร”

และ ทอท. ได้มีการออกแบบการขยายด้านทิศตะวันออก จนเสร็จสิ้นเรียบร้อยแล้ว ซึ่งถ้าต่อขยายในส่วนนี้ จะสามารถรองรับผู้โดยสารเพิ่มขึ้นได้อีก 15-20 ล้านคน พอที่จะใช้งานไปจนกว่าจะสร้าง Terminal 2 ตามตำแหน่งที่กำหนดไว้เดิมในแผนแม่บท (คืออาคารใหม่ที่จะตั้งอยู่ทางทิศใต้ของสนามบิน)

“ทอท. บอกว่า พื้นที่ด้านซ้ายและด้านขวา (ทิศตะวันออกและตะวันตก) ของ Terminal 1 นั้น ทำการก่อสร้างอาคารเพื่อขยายพื้นที่ได้ยาก แค่รถตักดินขนดินออกไปก็ลำบากแล้ว การก่อสร้างขยายอาคารจะทำให้ต้องปิดพื้นที่ Terminal 1 เดิม ไปถึง 20 เปอร์เซ็นต์

ตามความเป็นจริง สถาปนิกและวิศวกรทุกคนก็รู้ว่า ทุกวันนี้เราสามารถสร้างต่อขยายอาคารที่มีพื้นที่ว่างโดยรอบกว้างขวางเช่นนั้น โดยอาคารที่เปิดใช้งานอยู่ แทบจะไม่รู้สึกอะไรเลย ทั้งงานโครงสร้างและงานระบบประกอบอาคาร ก็สามารถทำไปจนแล้วเสร็จ จึงมาเชื่อมกับอาคารเดิม

การปิดพื้นที่อาคารเดิม ก็จะมีเพียงวันที่ต้องเชื่อมผนังอาคารเดิม เข้ากับอาคารต่อขยาย ไม่ว่าจะรื้อผนังเดิมออกทั้งหมดให้โล่งถึงกัน หรือจะเจาะหลายๆ ช่อง เพียงให้ใช้งานต่อเชื่อมกันได้ ทั้งนี้ การปิดพื้นที่แค่บางส่วนเพียงแคบๆ ของแนวผนังอาคารเดิม น่าจะใช้เวลาไม่นาน ไม่กี่วัน ขึ้นอยู่กับรูปแบบ

การก่อสร้างอาคารส่วนต่อขยาย ทั้ง East Wing และ West Wing ของ Terminal 1 ที่ปัจจุบันเป็นสวน อยู่ใต้หลังคาส่วนหนึ่ง อยู่ภายนอกส่วนหนึ่ง นั้น ในโลกปัจจุบันนี้ เอาผู้รับเหมาแค่ระดับกลางๆ เขาก็สามารถก่อสร้างอาคารนั้นจนเสร็จสมบูรณ์ ทั้งงานโครงสร้าง สถาปัตยกรรม และงานระบบ จนแล้วเสร็จเสียก่อน

เมื่อพร้อมที่จะต่อเชื่อมกับอาคารเดิม เขาจึงจะปิดพื้นที่บางส่วนเล็กน้อย เท่าที่จำเป็นในการทำงาน น่าจะใช้ระยะห่างจากผนังกระจกเดิมไม่เกิน 5 – 6 เมตร เพื่อการเชื่อมต่อนั้นในระยะเวลาไม่กี่วัน หรืออย่างมากก็หนึ่งเดือน โดยที่ระหว่างก่อสร้าง ยังสามารถควบคุมไม่ให้มีผลกระทบ กับการใช้งานทั้งสนามบิน ทั้งตัวอาคารผู้โดยสารเดิม ได้อย่างง่ายดาย”

สำหรับด้านงบประมาณ ก็ระบุว่า

“ตามความเป็นจริง งบประมาณ 42,000 ล้านบาท ในเบื้องต้น เป็นเพียงงบของตัวอาคารและระบบประกอบอาคาร ยังไม่นับรวมงบในส่วนสนับสนุนต่างๆ ที่จะเชื่อมไปยัง Terminal 1 หรืออาคารมิดฟิลด์ ที่กำลังจะเสร็จในปีหน้า

คาดว่าน่าจะอีกหลายหมื่นล้านหรือไม่?

ตรงกันข้าม ถ้าต่อเติมอาคาร Terminal 1 ฝั่งทิศตะวันตกและตะวันออก (ที่ได้ดำเนินการออกแบบไปแล้ว) จะได้พื้นที่อีกรวม 150,000 – 200,000 ตารางเมตร รองรับคนเพิ่มได้ 15 – 20 ล้านคน ด้วยราคาค่าก่อสร้าง (คิดเป็นราคาต่อตารางเมตร) ของตัวอาคารส่วนต่อขยาย ที่ถูกกว่าถึงครึ่งหนึ่งของอาคารแปลกปลอม(หมายถึงเทอร์มินอล 2) โดยไม่ต้องไปเสียงบประมาณในการแก้ปัญหา หรือในการสร้างระบบสนับสนุนอาคารใดๆเพิ่มอีกมากด้วย เพราะอยู่ในมาสเตอร์แปลนอยู่แล้ว

รวมแล้ว ถ้าทำตามมาสเตอร์แปลน เฉพาะสองส่วนนี้ น่าจะรองรับคนได้เพิ่มขึ้น 20-30 ล้านคน คุ้มค่ามากกว่าการสร้างอาคาร Terminal แปลกประหลาด(หมายถึงเทอร์มินอล 2) โดยยุ่งยากน้อยกว่า เสียงบประมาณน้อยกว่า แต่ได้ประสิทธิภาพ สมบูรณ์ สมดุล ตามมาสเตอร์แปลน ที่วางเอาไว้

น่าสงสัยว่า ถ้าอาคารเทอร์มินอลแปลกประหลาดนี้(หมายถึงเทอร์มินอล 2) ได้ถูกสร้างขึ้น แล้วเปิดใช้งานจริง ก็จะเสมือนมีอาคารผู้โดยสารขนาดยักษ์ 2 อาคาร ที่ควรต้องมี infrastructure ของตัวเอง แต่กลับมาใช้ร่วมกัน ถนนมอเตอร์เวย์จะหายนะขนาดไหน ถนนภายในสุวรรณภูมิเองทางฝั่งทิศเหนือ ทั้งตัวสะพานลอย และถนนทางราบ คงจะติดเหมือนสาทร

ทั้งหมดนี้ คือ ข้อมูล ข้อสมุมติฐานและคำถาม ที่ทาง ทอท. น่าจะต้องออกมารับผิดชอบเป็นลายลักษณ์อักษร ว่าสิ่งที่ผู้บริหาร และผู้รับผิดชอบ ได้ตัดสินใจไป จะไม่เป็นเช่นนี้ และหากเสียหายตามนี้ พวกตนพร้อมจะรับผิดชอบชดใช้ความเสียหายทั้งหมด ประชาชนผู้เสียภาษี ก็คงจะสบายใจขึ้น”

ผมค้นชื่อกรรมการ ทอท. พบว่าหลายคนมีประวัติน่าเชื่อถือ และอยู่ในฐานะเป็นผู้นำแก่สังคมได้ จึงนำภาพมาแสดงไว้ที่นี่

แต่ผมขอให้ข้อสังเกตแก่กรรมการ ดังนี้

1. ท่านแน่ใจหรือยัง ว่าโครงการนี้สอดคล้องกับแผนแม่บท ซึ่งเป็นไปตามที่คณะรัฐมนตรีอนุมัติไว้ ซึ่งการออกไปนอกแผนแม่บท ย่อมจะทำให้ท่านมีความผิด?

2. ท่านแน่ใจหรือยัง ว่าโครงการของ ทอท. นั้น สอดคล้องกับข้อเสนอของ ICAO?

(ผมเสนอแนะให้ท่านดูข้อเสนอของ ICAO ก่อนปี 2554 เขาเสนอให้ขยายเทอร์มินอล 1 ใช่หรือไม่?)

3. ท่านแน่ใจหรือยัง ว่าวงเงินลงทุนทั้งหมดของโครงการเทอร์มินอล 2 ของ ทอท. จะต่ำกว่าการขยายเทอร์มินอล 1?

(ผมเสนอแนะให้ท่านตรวจสอบให้ดีเสียก่อน เพราะผมเห็นว่าตัวเลขที่เปรียบเทียบ น่าจะไม่ถูกต้อง)

4. ท่านแน่ใจหรือยัง ว่าท่านจะต้องรับผิดชอบค่าใช้จ่ายการดำเนินการที่ออกไปนอกกรอบแผนแม่บท เป็นการส่วนตัว หรือไม่?

เนื่องจากการดำเนินการออกไปนอกกรอบที่คณะรัฐมนตรีกำหนดนั้น ทำให้รัฐวิสาหกิจเกิดค่าใช้จ่ายที่ไม่จำเป็น และนอกจากท่านจะมีความผิดอาญาถ้าหากกระทำโดยทุจริตแล้ว ท่านอาจจะต้องหารยาว เพื่อร่วมกันรับผิดชอบเป็นการส่วนตัวแทน ทอท. ในค่าใช้จ่ายที่ไม่สมควรจะเกิดขึ้นด้วย

นอกจากนี้ กรณีที่มีข่าว ว่านายชัยวัฒน์ ทองคำคูณ ปลัดกระทรวงคมนาคม ได้พบนายนิตินัย ศิริสมรรถการ ผู้อำนวยการใหญ่ ทอท. แล้วให้ข่าวผลการชี้แจงกรณีอาคารเทอร์มินอล 2

โดยปลัดฯ ฟันธงอย่างมั่นใจว่า ทอท. มีการก่อสร้างอาคารผู้โดยสารหลังที่ 2 ถูกต้อง และเป็นไปตามแผนแม่บท ดังนั้นให้ ทอท. เดินหน้าทำตามแผนและลงนามในสัญญาต่อไปได้ นั้น

ผมเองฟันธงเหมือนกันว่า จะไม่สามารถเป็นยันต์กันผีคุ้มครองคณะกรรมการ ทอท. ได้ครับ เพราะเหตุใด?

*หลักการของแผนแม่บท* ออกแบบไว้ชัดเจน ดังนี้

(ก) มีอาคารขนาดยักษ์สำหรับพาผู้โดยสารเข้า/ออก 2 อาคาร

(ข) แต่ละอาคาร ผู้โดยสารเข้าถึงทางรถยนต์ แยกต่างหากจากกัน *ย้ำ-แยกต่างหากจากกัน*

อาคารทิศเหนือ(ที่สร้างและใช้งานอยู่แล้ว)เข้าทางมอเตอร์เวย์ อาคารทิศใต้(ที่จะต้องสร้างในอนาคต)เข้าทางบางนา-ตราด

[[โครงการของ ทอท. สองอาคารยักษ์ใหญ่ ผู้โดยสารเข้าถึงทางมอเตอร์เวย์ทางเดียว]]

(ค) แต่ละอาคาร วางตำแหน่งสำหรับเทียบเครื่องบิน ในทิศทางตรงกันข้าม(คือทิศเหนือ/ใต้) *ย้ำ-ทิศทางตรงกันข้าม*

เพื่อมิให้เครื่องบินที่จะแท๊กซี่เข้า/ออกแต่ละอาคาร จะต้องไขว้กัน

[[โครงการของ ทอท. สองอาคารยักษ์ใหญ่ ตั้งอยู่เบียดกัน เครื่องบินกรูเข้า/ออก เป็นคอขวด]]

(ง) แต่ละอาคาร ต้องมีอาคารลูก (satellite) ของตัวเอง *ย้ำ-ของตัวเอง*

เพื่อให้ผู้โดยสารที่ผ่านพิธีการนั่งรถไฟไร้คนขับไปพักรอก่อนขึ้นเครื่อง

[[โครงการของ ทอท. สองอาคารยักษ์ใหญ่ จะใช้อาคารลูก (satellite) เดียวกัน]]

ดังนั้น ที่ปลัดคมนาคมประกาศอย่างมั่นใจว่า โครงการของ ทอท. เป็นไปตามแผนแม่บทนั้น ขอให้อธิบายว่า ตรงกับหลักการแผนแม่บทข้างต้นอย่างไร?

วันที่ 7 ตุลาคม 2561
ธีระชัย ภูวนาถนรานุบาล
Facebook Thirachai Phuvanatnaranubala
หมายเหตุ: การกล่าวถึงชื่อบุคคลใดมิใช่เป็นการกล่าวหากระทำความผิด แต่เป็นเพื่อประกอบการบรรยายทางวิชาการเพื่อประโยชน์แก่ทางราชการในการรักษาประโยชน์ของประเทศชาติเป็นสำคัญ

 

 

 

ที่มา มติชนออนไลน์