ระฆัง วัด คอนโด และการอยู่ร่วมกัน: สำรวจกรณี “วัดไทร” กับผู้เชี่ยวชาญด้านผังเมือง

พิราภรณ์ วิทูรัตน์ : เรื่อง 

เป็นข่าวครึกโครมจนยึดพื้นที่สื่ออย่างต่อเนื่องสำหรับกรณีที่สำนักงานเขตบางคอแหลมมีหนังสือถึงวัดไทร แขวงบางโคล่ เขตบางคอแหลม กรุงเทพมหานคร ขอให้ลดเสียงตีระฆังลง เนื่องจากมีผู้พักอาศัยในโครงการคอนโดมิเนียมข้างเคียงร้องเรียนไปยังเขต

หลังมีการเปิดเผยหนังสือร้องเรียนดังกล่าว กระแสสังคมตีกลับไปที่คอนโด สำนักงานเขต และผู้ร้องเรียนเป็นจำนวนมาก และเสียงส่วนใหญ่ในสังคมมองว่า การตีระฆังวัดเป็นการประกอบสังฆกรรมที่มีมายาวนาน คอนโดจึงควรเป็นฝ่ายปรับตัวและต้องยอมรับกับสถานการณ์ที่เกิดขึ้นมากกว่า

จากข้อร้องเรียนสู่การมุ่งพิสูจน์ความจริงว่าด้วยเรื่องของ “ความดัง”  มีการลงพื้นที่สำรวจโดยให้พระสงฆ์จำลองการตีระฆังวัด บ้างก็มีการสอบถามความเห็นของชาวบ้านละแวกใกล้เคียง ที่สุดมีการนำเครื่องวัดระดับความดังเสียงมาใช้เพื่อให้เห็นเป็นรูปธรรมเลยทีเดียว

“ประชาชาติธุรกิจ” ชวนท่านผู้อ่านพูดคุยแลกเปลี่ยนความคิดเห็นกับ ผศ.ดร.จาตุรงค์ โพคะรัตน์ศิริ อาจารย์ประจำสาขาวิชาการผังเมือง คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์และการผังเมือง มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ถึงข่าวดังตลอดสัปดาห์นี้

Advertisment

ต้องนำวัดเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของ “ผังเมือง”

ประเด็นหนึ่งที่น่าสนใจ คือ สถานที่ราชการหรือกระทั่งวัดไม่ได้ถูกพิจารณาเข้าเป็นส่วนหนึ่งของผังเมืองอย่างเอาจริงเอาจังตั้งแต่แรก

Advertisment

ผศ.ดร.จาตุรงค์ ได้ยกตัวอย่างโรงพยาบาลศิริราชให้เห็นภาพชัดยิ่งขึ้นว่า ภายในโรงพยาบาลมีการก่อสร้างส่วนต่อขยายอาคารอย่างแน่นขนัด ซึ่งในแง่ของการผังเมืองแล้วการก่อสร้างในลักษณะนี้คงจะไม่ถูกต้องนัก แต่ด้วยสถานที่ราชการอย่างโรงพยาบาลรัฐไม่ได้ถูกผนวกรวมเข้าเป็นส่วนหนึ่งของบทบังคับใช้นั่นเอง

ในส่วนของวัดไทรก็เช่นเดียวกัน พื้นที่ภายในตัววัดก็ดี รอบข้างตัววัดก็ดี ไม่ได้มีกฎหมายบังคับใช้เหมือนกับพื้นที่เอกชนตั้งแต่แรก เมื่อเกิดเหตุการณ์ในลักษณะ “วัดไทร” จึงไม่มีตัวบทกฎหมายใดมาคุ้มครอง ฉะนั้นสิ่งที่เราถอดบทเรียนได้จากกรณีนี้อย่างหนึ่งก็คือ ต้องมีการนำวัดเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของผังเมืองก่อนเพราะเมื่อเกิดเหตุการณ์ในลักษณะคล้ายกันนี้จะเกิดผลดีกับวัดที่ได้รับการคุ้มครองโดยชอบด้วยกฎหมาย

ในวันที่ “วัด 2018” ต้องอยู่ร่วมกับชุมชนเมือง

เพราะไม่ใช่แค่วัดไทรเท่านั้นที่ประสบกับปัญหานี้ ผศ.ดร.จาตุรงค์เล่าว่า ตัวอย่างของวัดในเมืองใหญ่อย่างวัดยานนาวาที่ตั้งอยู่ใจกลางย่านธุรกิจ ทำให้ที่ดินรอบข้างของวัดมีมูลค่าสูงตามไปด้วย ซึ่งวัดเองได้เลือกเปลี่ยนพื้นที่ชุมชนรอบข้างตัววัดที่มีมากว่าร้อยปีสู่คอมเพลกซ์เพื่อการค้าแทน และนำเม็ดเงินที่ได้จากตรงนี้เข้าสู่กระบวนการทำนุบำรุงศาสนาในลำดับถัดไป

ในทางตรงกันข้ามก็มีวัดที่ประสบปัญหากับการเติบโตของเมืองใหญ่เช่นกัน ที่เห็นได้ชัด คือ วัดชนะสงครามตั้งอยู่พื้นที่ใกล้เคียงกับถนนข้าวสารและซอยรามบุตรี หากใครเคยผ่านย่านนี้บ่อย ๆ ก็จะเห็นว่า ภายในตัววัดเสื่อมโทรมไปมากพอสมควร พื้นที่ภายในวัดถูกเปลี่ยนให้กลายเป็นที่จอดรถสำหรับบุคคลภายนอกที่สัญจรไปมา

“ถ้าดูจากบริบทแวดล้อมของวัดกับสถานที่รอบข้างอย่างถนนข้าวสารที่เต็มไปด้วยสถานบันเทิง ร้านค้า นักท่องเที่ยว ผมมองว่า วัดไม่น่าจะอยู่ได้เลยด้วยซ้ำ อย่างที่บอกไปว่า ตัวกฎหมายผังเมืองเองไม่มีอะไรที่สามารถควบคุมตรงนี้ได้เลย ผมว่าตรงนี้หนักกว่าเคสคอนโดอีก นี่ยังไม่นับรวมโรงเรียนเด็กเล็กที่เคยอยู่แถวนั้นซึ่งปัจจุบันก็แก้ปัญหาโดยการปิดและย้ายไปเรียบร้อยแล้ว เห็นตรงนั้นผมยังรู้สึกว่า วัดกับชุมชนจะอยู่ได้อย่างไร”

สำรวจพื้นที่คอนโด: ผิดหรือชอบด้วยกฎหมาย ?

ถ้าเรามาลองดูกันจริง ๆ แล้วจะเห็นว่า โครงการสตาร์วิวตั้งอยู่ในพื้นที่ผังสีน้ำตาลย.9 หรือที่ดินประเภทที่อยู่อาศัยหนาแน่นมาก ซึ่งตามข้อกำหนดผังเมืองรวมกรุงเทพมหานครพุทธศักราช 2556 สามารถจัดสรรอาคารที่อยู่อาศัยรวม (คอนโด) เกิน 10,000 ตารางเมตรได้ และปัจจุบันก็ยังไม่มีข้อกำหนดควบคุมอาคารเรื่องระยะห่างจากศาสนสถาน นั่นหมายความว่า คอนโดมิเนียมนี้ตั้งอยู่ในพื้นที่ที่ชอบด้วยกฎหมายอย่างแน่นอน แม้จะมีหลายเสียงออกมาบอกว่า คอนโดนี้อาจจะขัดต่อหลัก EIA (Environmental Impact Assessment) ก็ตาม

แต่ถามว่า ตามข่าวที่มีการร้องเรียนถึงความดังของระฆังวัดชาวคอนโดสามารถทำได้หรือไม่ ผศ.ดร.จาตุรงค์บอกว่า จริง ๆ แล้วการตีระฆังวัดไม่ผิดกฎหมายแต่อย่างใด และตัววัดเองยังสามารถไปร้องเรียนคัดค้านการสร้างคอนโดได้ตั้งแต่แรกด้วยซ้ำ เพราะพื้นที่ย่านพระรามสามในตอนนี้ตั้งอยู่บนฐานคิดของย่านอยู่อาศัยแบบไฮเอนด์ไปเรียบร้อยแล้ว ฉะนั้นนี่ไม่ใช่คอนโดเพียงแห่งเดียวแน่นอนที่จะได้รับการอนุมัติให้สร้าง และส่วนตัวเชื่อว่า อีกไม่กี่ปีข้างหน้ายังจะมีคอนโดสูงตามมาอีกมาก

“จริง ๆ ในทางผังเมืองถ้าเป็นวัดที่มีโบราณสถานสำคัญอย่างเจดีย์หรือโบสถ์เก่าแก่ก็อาจจะโชคดีหน่อยที่มีโบราณสถานอะไรที่มีกฎหมายคุมได้ระดับนึง ตรงนี้อยู่ที่ผู้บังคับใช้กฎหมายเลยว่า ไม่ได้บังคับใช้อย่างจริงจังรึเปล่า แต่ถ้าพูดถึงกรณีการตีระฆังของวัดผมว่า มันไม่ผิดระเบียบหรือกฎหมายอะไรเลยนะ ถ้าเป็นการใช้เครื่องเสียงงานบวชหรืออะไรที่ไม่เกี่ยวข้องกับศาสนกิจนี้สิถึงจะผิดและเรียกร้องได้”

ความเข้าใจและการตื่นตัว – สิ่งที่วัดต้องรู้ให้เท่าทัน

ผศ.ดร.จาตุรงค์ยังเปิดเผยอีกว่า ในฐานะนักผังเมืองเวลามีประชุมผังเมืองหรือการพิจารณากระบวนการพรบ.ผังเมือง หน่วยงานที่มักไม่ค่อยเห็นการนำส่งตัวแทนเข้าประชุมก็คือ วัด จะมีแต่วัดสำคัญ ๆ รอบเกาะรัตนโกสินทร์เท่านั้นที่พระลูกวัดมีความตื่นตัวในการเข้าประชุมและมีส่วนร่วมในการพิจารณาแผนแม่บทเสมอ อาจจะด้วยความที่เป็นวัดใหญ่และวัดดัง ซึ่งจริง ๆ แล้วทุกวัดควรมีความตระหนักในการรับฟังและทำความเข้าใจตรงนี้เพื่อรักษาผลประโยชน์ของตนเอง

นอกจากนี้ผศ.ดร.จาตุรงค์ยังมองว่า การที่วัดไม่ได้เทคแอกชั่นเรื่องนี้มากเท่าที่ควร น่าจะเป็นสาเหตุมาจากการขาดความรู้ความเข้าใจด้านการผังเมือง ไม่รู้ว่าตนมีสิทธิในการเรียกร้องและปกป้องวัดได้มาน้อยแค่ไหน วัดไทรจึงเป็นอีกกรณีที่เราควรนำมาถอดบทเรียนกัน

 “เวลาผมไปประชุมผังเมืองทุกครั้งเหมือนเราต้องไปนั่งเปิดเลคเชอร์ในที่ประชุมเลยนะว่า ผังเมืองคืออะไร หลักการคืออะไร น้อยคนมากที่จะเข้าใจมาก่อนหน้า พอประชุมเสร็จทุกครั้งเวลามีชาวบ้านที่ให้ความสนใจเข้ามาฟังเขาก็จะมาถามเราใหญ่กว่าจะเข้าใจก็ใช้เวลาพอสมควร อย่างกรณีวัดเองก็คงไม่ได้คิดว่า ตัวเองเป็นผู้มีส่วนใดส่วนเสียกรณีนี้จึงทำให้ได้รู้ว่า วัดก็ต้องตั้งตัวเองไปมีบทบาทเวลาประชุมผู้มีส่วนได้ส่วนเสียเหมือนกัน”

ตัวอย่างการคัดค้าน

เมื่อช่วงกลางปี 2560 ที่ผ่านมาในบริเวณใกล้เคียงกับวัดไทรและโครงการคอนโดสตาร์วิวเฟสแรก มีไอเดียก่อสร้างโครงการคอนโดสตาร์วิวเฟสสองออกมา ทำให้ลูกบ้านกว่า 393 ชีวิตออกมายื่นเรียกร้องขอความเป็นธรรมโดยให้เหตุผลว่า การก่อสร้างโครงการเฟสสองจะเกิดการรบกวนความเป็นส่วนตัว และเกิดความไม่ปลอดภัยจากการก่อสร้าง เนื่องจากอาคารเฟสสองตั้งอยู่ติดกับเฟสแรกเพียง 13 เมตรเท่านั้น ท้ายที่สุดบริษัท อีสเทอร์น สตาร์ เรียล เอสเตท จำกัด (มหาชน) เจ้าของโครงการได้ออกหนังสือชี้แจงถึงข้อเรียกร้องของลูกบ้าน และโครงการเฟสสองจึงถูกตีตกตามหลัก EIA ไป

รวมไปถึงตัวอย่างคอนโดติดริมทะเลที่ ผศ.ดร.จาตุรงค์ ได้ยกตัวอย่างว่า เคยมีกรณีการก่อสร้างคอนโดริมทะเลได้ทำการปิดช่องทางเดินเข้าออกเชื่อมต่อระหว่างบ้านของชาวบ้านในละแวกใกล้เคียงที่มีมายาวนาน ตรงนี้ชาวบ้านก็สามารถเขียนร้องเรียนห้ามปิดช่องทางนี้ได้เช่นเดียวกัน

“จริง ๆ การร้องเรียนในลักษณะนี้คอนโดไม่เสียหายนะ ทำแบบนี้ได้จะไม่เกิดผลกระทบทั้งสองฝ่าย และทุกคนได้ผลประโยชน์รวมกัน เพราะกฎหมายผังเมืองตั้งบนพื้นฐานนี้อยู่แล้ว แต่ถ้าเขาไม่มาแจ้งเราก็ไม่รู้ว่า มีคนกังวลเรื่องนี้ แค่มาแสดงตนและพูดเท่านั้น กรณีวัดไทรก็คงไม่เคยรู้ว่า การสร้างแต่ละอย่างสร้างได้สูงขนาดไหน ฟังก์ชั่นแบบไหนทั้งที่เรื่องนี้มันมีผลกระทบสูงมากนะ อย่างที่บอกว่าต่อไปย่านนั้นจะต้องมีโครงการอาคารที่พักอาศัยอีกมากก็น่าคิดถึงผลที่จะตามมาเหมือนกัน”  ผศ.ดร.จาตุรงค์กล่าว