ต่อไปนี้แจ้งความโรงพักไหนก็ได้ ผบ.ตร.สั่งแล้ว!! คก.ปฏิรูปฯชงเข้มปฏิรูปตำรวจ

เมื่อวันที่ 9 ตุลาคม 2561 ที่ห้องพรหมนอก สำนักงานตำรวจแห่งชาติ (ตร.) นายอัชพร จารุจินดา ประธานคณะกรรมการปฏิรูปประเทศด้านกระบวนการยุติธรรม พร้อมคณะเข้าพบ พล.ต.อ.จักรทิพย์ ชัยจินดา ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ (ผบ.ตร.) และคณะรองผบ.ตร.เพื่อหารือข้อราชการในการดำเนินการตามแผนปฏิรูปประเทศด้านกระบวนการยุติธรรม ตลอดจนกำหนดแนวทางในการแก้ไขปัญหา และอุปสรรคในการดำเนินงานร่วมกันระหว่างองค์กร ก่อนประชุมร่วมกัน โดยมี พล.ต.อ.วิระชัย ทรงเมตตา รอง ผบ.ตร.ด้านกฎหมายและสอบสวน เป็นตัวแทน ตร.ร่วมประชุม

พล.ต.ท.ปิยะ อุทาโย รักษาราชการแทนผู้ช่วย ผบ.ตร.ในฐานะโฆษกสำนักงานตำรวจแห่งชาติ กล่าวว่า การหารือร่วมกันเพื่อดำเนินการตามแผนปฏิรูปประเทศด้านกระบวนการยุติธรรม ตลอดจนกำหนดแนวทางในการแก้ไขปัญหา โดยมีหัวข้อการหารือ ประกอบด้วย บทบาทภารกิจและอำนาจหน้าที่ตามรัฐธรรมนูญและกฎหมายที่เกี่ยวข้องของคณะกรรมการปฏิรูปประเทศด้านกระบวนการยุติธรรม ภารกิจของสำนักงานตำรวจแห่งชาติตามแผนการปฏิรูปประเทศด้านกระบวนการยุติธรรม แผนการปฏิรูปประเทศด้านกระบวนการยุติธรรมในระยะเร่งด่วน ปัญหาอุปสรรคในการดำเนินการ ตามแผนปฏิรูปประเทศด้านกระบวนการยุติธรรมของสำนักงานตำรวจแห่งชาติ การอำนวยความสะดวกทางคดีและการติดตามความคืบหน้าของคดี ซึ่งจะได้มีการนำเอาเทคโนโลยีที่ทันสมัยมาใช้ในการปฏิบัติงาน

ด้าน พล.ต.ท.อำนวย นิ่มมะโน คณะกรรมการปฏิรูปประเทศด้านกระบวนการยุติธรรม กล่าวว่า ครั้งนี้เป็นก้าวแรกที่มาสำนักงานตำรวจแห่งชาติ จากนี้จะเริ่มมีการขับเคลื่อนกันอย่างจริงจัง บางเรื่องสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ได้แก้ไขกฎระเบียบเป็นที่เรียบร้อยแล้ว เช่น การรับแจ้งความต่างท้องที่ เมื่อวันที่ 8 ตุลาคม ที่ผ่านมา คณะกรรมการปฏิรูปประเทศด้านกระบวนการยุติธรรม ได้มีการประชุมเป็นนัดสุดท้าย โดย 2 ร่างกฎหมายในการปฏิรูปตำรวจ คือ ร่าง พ.ร.บ.ตำรวจแห่งชาติ และร่าง พ.ร.บ.สอบสวนคดีอาญา ได้ตกผลึกเสร็จสิ้นแล้ว จากนี้จะเข้าสู่กระบวนการนำเสนอคณะรัฐมนตรี เพื่อให้มีมติให้ความเห็นชอบ ถ้ากระบวนการต่างๆผ่านเป็นที่เรียบร้อยกฎหมายมีการใช้บังคับ จะได้เห็นความเปลี่ยนแปลงในสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องโครงสร้าง และอำนาจในการสืบสวนสอบสวน สำหรับ 4 กิจกรรมเร่งด่วนที่นำเสนอนั้น เป็นเพียงกิจกรรมนำร่องเท่านั้นเอง จากนี้จะมีการขับเคลื่อนในกิจกรรมอื่นๆต่อไป

ทั้งนี้สำหรับการปฏิรูปกระบวนการยุติธรรมตำรวจ นำเสนอมาตรการต่างๆร่วมกัน ดังนี้

มาตรการแรก คือการรับแจ้งความร้องทุกข์คดีอาชญากรรมต่างท้องที่ เพื่อให้เกิดความสะดวก รวดเร็วแก่ประชาชน ไม่ต้องเสียเวลาและค่าเดินทางไปแจ้งความที่สถานีตำรวจท้องที่จุดเกิดเหตุ แต่สามารถแจ้งความได้ที่สถานีตำรวจทุกแห่งทั่วประเทศ โดยสำนักงานตำรวจแห่งชาติได้มีคำสั่งแล้วให้สถานีตำรวจที่รับเรื่องร้องทุกข์เร่งสอบปากคำผู้แจ้งโดยละเอียด ก่อนจะส่งเรื่องให้กับสถานีตำรวจท้องที่ภายใน 3 วัน

มาตรการที่ 2 คือ โครงการทนายความอาสาประจำสถานีตำรวจ ที่ทางสภาทนายความจะจัดทนายไปประจำแต่ละสถานีตำรวจ นำร่องที่ 150 สถานีตำรวจตัวเมือง และสถานีตำรวจที่มีคดีเกิดขึ้นมากกว่า 1,000 คดีต่อปี ครอบคลุมทั้ง 77 จังหวัดทั่วประเทศ ส่วนสถานีที่มีคดีมากกว่า 2,000 คดี ต่อไปจะมีทนายอาสาตลอด 24 ชั่วโมง ขณะที่สถานีตำรวจที่เหลือ แม้จะไม่มีทนายอาสาในช่วงแรก แต่ประชาชนสามารถขอปรึกษากับทนายอาสาผ่านทางวิดีโอคอนเฟอเรนซ์ได้เช่นกัน โดยไม่มีค่าใช้จ่ายใดๆ ทั้งสิ้น

มาตรการที่ 3 คือ การห้ามนำตัวผู้ต้องหามาแถลงข่าว หรือให้สัมภาษณ์ต่อสื่อมวลชนในทุกกรณี เพื่อไม่ให้ละเมิดสิทธิของผู้ต้องหา ที่ศาลยังไม่มีคำพิพากษาถึงที่สุดว่ามีความผิด แต่สามารถนำรูปภาพของผู้ต้องหาหรือภาพถ่ายตามหมายจับมาเผยแพร่ต่อสื่อมวลชนได้ในกรณีที่เป็นประโยชน์ต่อสาธารณชน เช่น เพื่อการสืบสวนจับกุมคนร้าย หรือ ประชาสัมพันธ์ให้ผู้เสียหายที่ตกเป็นเหยื่อเข้าแจ้งความเพิ่มเติมกับตำรวจ

มาตรการที่ 4 คือ การขอปล่อยตัวชั่วคราวผู้ต้องหาในวันหยุดราชการ ซึ่งศาลจะมีการพิจารณาคำร้องผัดฟ้องฝากขังและปล่อยตัวชั่วคราวในวันหยุด ขณะที่ตำรวจก็จะเร่งพิจารณาว่าจะปล่อยตัวชั่วคราวผู้ต้องหาในชั้นพนักงานสอบสวนหรือไม่ภายใน 24 ชั่วโมง และสามารถฝากขังผู้ต้องหาได้ในช่วงวันหยุด นอกจากนี้ ที่ประชุมยังหารือเรื่องการนำกำไลข้อเท้า หรือ อีเอ็ม มาใช้กับผู้ต้องหาที่ได้รับการปล่อยตัวในชั้นพนักงานสอบสวนด้วย หลังจากที่ในชั้นศาลเริ่มนำมาใช้แล้วก่อนหน้านี้ ทั้งนี้ เพื่อลบข้อครหาว่ามีแต่คนรวยที่จะได้รับการปล่อยตัว ส่วนรายละเอียดยังต้องพิจารณาเรื่องเงื่อนไขว่าผู้ต้องหาประเภทใดที่จะได้รับการปล่อยตัวและสามารถใช้กำไลข้อเท้าได้ เพื่อให้มีเกณฑ์พิจารณาที่เหมาะสม และจะต้องไม่ใช่คดียาเสพติด หรือคดีอุกฉกรรจ์ร้ายแรง

 

ที่มา:มติชนออนไลน์