กทม. นำร่องก่อน! สั่ง 50 เขต ชวนประชาชนนำ “หมา-แมว” ไปขึ้นทะเบียน

กทม.นำร่อง ขึ้นทะเบียน หมาแมว – 11 ต.ค. ที่ศาลาว่าการกทม. นายทวีศักดิ์ เลิศประพันธ์ รองผู้ว่าฯ กทม. กล่าวถึงกรณีคณะรัฐมนตรี (ครม.) เห็นชอบร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) ป้องกันทารุณกรรมและการจัดสวัสดิภาพสัตว์ ฉบับ พ.ศ. …. แก้ไขเพิ่มเติม 2557 ว่า

หลังจากประกาศราชกิจจานุเบกษามีผลบังคับใช้แล้ว กทม.ต้องดำเนินการตามขั้นตอน ก่อนหน้านี้ กทม.มีข้อบัญญัติกรุงเทพมหานคร โดยกำหนดให้เจ้าของต้องนำสุนัขไปจดทะเบียนทำบัตรประจำตัวอิเล็กทรอนิกส์ ที่กองสัตว์แพทย์สาธารณสุข สำนักอนามัยและศูนย์บริการสาธารสุข ภายใน 120 วันนับแต่วันที่สุนัขเกิดหรือภายใน 30 วันที่นำสุนัขมาเลี้ยง หากฝ่าฝืนมีโทษปรับ 5,000 บาทอยู่แล้ว แต่กรณีที่นำมาขึ้นทะเบียนกับหน่วยงานสาธารณสุข ของกทม. จะยกเว้นค่าใช้จ่าย

ทั้งนี้ที่ผ่านมา กทม.รณรงค์ ให้ประชาชนนำสัตว์เลี้ยง มาขึ้นทะเบียนต่อเนื่อง พร้อมจัดหน่วยบริการเคลื่อนที่ออกบริการฉีดวัคซีนป้องกันโรคพิษสุนัขบ้า ทำหมันและฝังไมโครชิพในสุนัขและแมว ออกบริการประชาชนฟรี ปัจจุบัน กทม.ยังจัดหน่วยเคลื่อนที่ออกให้บริการประชาชนตามโครงการไทยนิยม ยั่งยืนของกทม.ที่จัดขึ้นทุกสองสัปดาห์ต่อครั้ง หมุนเวียนตามพื้นที่เขตต่างๆ ทั้งนี้ การขึ้นทะเบียนสัตว์ทำให้สามารถรู้ประวัติสัตว์ อาทิ สายพันธุ์ สี อายุ วัคซีน เพื่อป้องกันกรณีเจ้าของนำไปปล่อย หรือทอดทิ้งสัตว์

ส่วนการแก้ไขปัญหาสุนัขจรจัดในพื้นที่กรุงเทพฯ ที่ผ่านมา สำนักงานสัตวแพทยสาธารณสุข สำนักอนามัย ออกดำเนินการแก้ไขปัญหาต่อเรื่อง ออกตรวจสอบ ใช้วิธีดักจับและเคลื่อนย้ายไปยังศูนย์พักพิงสุนัขเขตประเวศ กทม. จากนั้นจะรอดูอาการ หรือรอเจ้าของมารับกลับ กรณีที่ไม่มีเจ้าของมารับ กทม.จะนำเข้าสู่กระบวนการ ฉีดวัคซีน ทำหมัน ก่อนเคลื่อนย้ายไปยังศูนย์พักพิงสุนัข อ.ทัพทัน จ.อุทัยธานี เพื่อใช้ช่วงชีวิตสุดท้ายของสัตว์

ส่วนประเด็นค่าธรรมเนียม กทม.ขอศึกษารายละเอียดเพิ่มเติม เนื่องจากเป็นกฎหมายที่ให้อำนาจท้องถิ่นอยู่แล้ว กทม.อาจจะนำประเด็นดังกล่าวมาพิจารณาว่ามีความเหมาะสม เกิดผลกระทบ หรือภาระต่อประชาชน อย่างไรบ้าง

หากประชาชนได้รับผลกระทบจะนำไปสู่การพิจารณาแก้ไขบัญญัติและค่าธรรมเนียม โดยเฉพาะประชาชนในพื้นที่กรุงเทพฯ แต่สิ่งสำคัญที่ กทม.ต้องการ คือ ให้ประชาชนนำสัตว์มาขึ้นทะเบียนเข้าสู่ระบบ ส่วนค่าธรรมเนียมที่จัดเก็บจะคืนสู่ประชาชนอย่างไรนั้น การจัดเก็บค่าธรรมเนียมของ กทม. ทุกด้าน ปัจจุบันกทม.นำภาษีดังกล่าวคืนกลับสู่ประชาชนในรูปแบบต่างๆ อาทิ การให้บริการประชาชน โดยไม่คำนึงผลกำไรสูงสุด

อย่างไรก็ตามปัจจุบันจำนวนสัตว์เลี้ยงในกทม. ที่ขึ้นทะเบียนราว 50,000 ตัว ของจำนวนครัวเรือน 2.5 ล้านคน แต่คาดจะมีประมาณ 100,000 ตัว ระหว่างนี้ กทม.จะกำชับให้ทุกเขตพื้นที่ ตรวจตรา ให้คำแนะนำ เชิญชวนประชาชนให้นำสัตว์ขึ้นทะเบียน รวมถึงจัดหน่วยบริการเคลื่อนที่เข้าไปดำเนินการฝังไมโครชิพสัตว์ต่อเนื่อง

ด้านนายศิวะ ไม้สนธิ์ ผู้อำนวยการสำนักสัตวแพทยสาธาณสุข สำนักอนามัย กล่าวว่า กทม.มีข้อบัญญัติกทม. เรื่อง การการเลี้ยงหรือปล่อยสุนัข พ.ศ.2548 โดยเจ้าของสุนัขจะต้องนำสัตว์มาขึ้นทะเบียนทำบัตรประจำตัวสัตว์​ แต่ข้อบัญญัติดังกล่าวครอบคลุมเพียงสุนัข ไม่รวมแมว หากพ.ร.บ.ดังกล่าวประกาศใช้ กทม.ก็ต้องดำเนินการตามขั้นตอน แก้ไขข้อบัญญัติกทม.ให้สมบูรณ์ตามพ.ร.บ.กำหนด

โดยอาจนำ ข้อบัญญัติเดิม มาประกอบพิจารณาการแก้ไขเพิ่มเติม อย่างไรก็ตาม ตามข้อบัญญัติ กทม.ได้ยกเว้นค่าธรรมเนียม กรณีที่ประชาชนนำสัตว์มาขึ้นทะเบียนกับหน่วยงานสาธารณสุขของ กทม. แต่ประชาชนก็สามารถนำสัตว์ไปขึ้นทะเบียนตามคลินิกเอกชนได้

ส่วนกรณีการกำหนดค่าขึ้นทะเบียนตามกระแสข่าว 450 ต่อตัวนั้น กทม.จะต้องศึกษารายละเอียดร่างกฎหมายดังกล่าวก่อน เนื่องจากอาจระบุว่าไม่เกิน 450 บาท หากกำหนดไว้ไม่เกิน กทม.ก็จะนำประเด็นดังกล่าวมาปรับลดตามความเหมาะสมได้

แต่ปกติแล้วการจดทะเบียนตามคลินิกเฉลี่ยค่าใช้จ่ายสูงกว่า 450 บาทแน่นอน อย่างไรก็ตาม มองว่ากฎหมายดังกล่าวมีทั้งข้อดี โดยจะทำให้ผู้เลี้ยงมีความรับผิดชอบต่อสัตว์มากขึ้น ลดปัญหาการทอดทิ้งสัตว์ หากคิดจะเลี้ยงสัตว์ ส่วนข้อเสียอาจจะมีเรื่องที่เกี่ยวข้องกับค่าใช้จ่าย โดยกรณีนี้ ผู้บริหารกทม.จะหยิบประเด็นดังกล่าวขึ้นมาหารือ

 


ที่มา ข่าวสดออนไลน์