“กฤษฎา” ยันกฎหมายขึ้นทะเบียนหมา-แมว ยังไม่มีผลบังคับ

นายกฤษฎา บุญราช รมว.เกษตรและสหกรณ์ กล่าวว่า ร่างพระราชบัญญัติป้องกันการทารุณกรรมและการจัดสวัสดิภาพสัตว์ (ฉบับที่ …) พ.ศ. …. ยังไม่มีผลบังคับใช้แต่อย่างใด เป็นเพียงร่างกฏหมายที่ต้องผ่านกระบวนการพิจารณาของสภานิติบัญญิติแห่งชาติ (สนช.) อีก 3 วาระ ยืนยันว่าจะไม่ทำให้ปชช.เดือดร้อนจากกฎหมายทารุณกรรมสัตว์ฯนี้ กระทรวงเกษตรกำลังหาทางยกเว้นหรือไม่จัดเก็บค่าธรรมเนียมการขึ้นทะเบียนสัตว์เลี้ยง

ทั้งนี้ สิ่งที่กระทบต่อประชาชน คนเลี้ยง หมา แมวมากที่สุด คงเป็นภาระในการนำสุนัขและแมว หรือสัตว์เลี้ยงมาขึ้นทะเบียน ในกฏหมายจึงมีการกำหนดอัตราค่าธรรมเนียมการขึ้นทะเบียนไว้ที่ 450 บาท/ตัว ซึ่งเป็นอัตราสูงสุดที่ต้องจ่าย แต่ความจริงแล้วค่าใช้จ่ายที่กำหนดเป็นค่าธรรมเนียม มีรายละเอียด ดังนี้ คือ ค่าคำร้องขอขึ้นทะเบียน 50 บาท สมุดประจำตัวสัตว์ 100 บาท และเครื่องหมายประจำตัวสัตว์ 300 บาท ในส่วนเครื่องหมายประจำตัวสัตว์ คือการฝังชิพที่จะระบุได้ว่าสัตว์ตัวนี้ มีประวัติอย่างไร เหมือนบัตรประชาชน แต่เป็นชิพแทน โดยราคา 300 บาท เป็นราคาสูงสุดในปัจจุบัน อนาคตราคาอาจแปรผันไปตามตลาด และการเปลี่ยนแปลงของเทคโนโลยีในอนาคตก็อาจจะถูกลง

“450 บาท/ตัว คือค่าธรรมเนียมสูงสุด แต่ในครั้งแรก ซึ่งเป็นไปได้สูงที่หากต้องมีการขึ้นทะเบียนสัตว์ อาจไม่มีค่าใช้จ่าย เพื่อเช็คจำนวนที่ถูกต้อง หรือ หากมีการเสียค่าธรรมเนียม กระทรวงเกาตรกำลังพิจารณาในเรื่องของสวัสดิการ ที่จะต้องได้ อาทิ อาจมีการฉีดวัคซีนฟรี หรือมีสวัสดิการอย่างอื่นให้ ซึ่งไม่ได้ระบุไว้ในร่างกฏหมายฯเพราะเป็นขั้นตอนหลังจาก ร่างกฏหมายฯผ่านคณะรัฐมนตรีก่อนจึงจะหารอกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อให้กฏหมายสามารถควบคุมปริมาณสัตว์ ง่ายต่อการกำกับดูแล”

ด้านนายสรวิช ธานีโต อธิบดีกรมปศุสัตว์ กล่าวว่า กม.นี้ยังไม่มีผลบังคับใช้แต่อย่างใด เป็นเพียงร่างกฏหมายที่ต้องผ่านกระบวนการพิจารณาของสภานิติบัญญัติแห่งชาติ อีก 3 วาระ ประการสำคัญในการประชุมคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 10 ต.ค. พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ได้พิจารณาแล้วเห็นว่า โดยที่หลักการของร่างพระราชบัญญัติ ในเรื่องนี้ เป็นประโยชน์ในการป้องกันการทารุณกรรมและการจัดสวัสดิภาพสัตว์ ซึ่งทำให้เจ้าของมี ความรับผิดชอบต่อสัตว์เลี้ยงตัวเองมากขึ้น อย่างไรก็ตาม ยังมีบทบัญญัติบางประการ เช่น การขึ้นทะเบียน และการทำเครื่องหมายประจำตัวสัตว์ การกำหนดอัตราค่าธรรมเนียม และอัตราค่าปรับ ที่อาจเป็นภาระ แก่ประชาชนเกินสมควร


คณะรัฐมนตรีจึงมีมติให้กระทรวงเกษตรและสหกรณ์รับร่างพระราชบัญญัติในเรื่องนี้กลับไปพิจารณาทบทวนร่วมกับสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เกี่ยวกับความเหมาะสมของบทบัญญัติ ตามความเห็นของนายกรัฐมนตรี โดยจะต้องไม่เป็นภาระแก่ประชาชน แล้วเสนอคณะรัฐมนตรีพิจารณาอีกครั้งหนึ่ง ระหว่างนี้ประชาชนสามารถเสนอแนะความเห็นมายังกรมปศุสัตว์ได้