พิพากษายืนคุก 10 เดือนไม่รอลงอาญา “สุพจน์ ทรัพย์ล้อม” อดีตปลัดคมนาคม

องค์คณะอุทธรณ์พิพากษายืน จำคุก 10 เดือน ห้ามดำรงตำแหน่งเจ้าหน้าที่รัฐ 5 ปี “ปลัดสุพจน์” ร่ำรวยผิดปกติ ระบุเป็นผู้บริหารระดับสูงทำผิดเอง แม้ไม่เคยต้องโทษ-มีคุณงามความดี แต่ไม่พอให้รอการลงโทษ

เมื่อเวลา 10.00 น. วันที่ 18 ตุลาคม ศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง ถ.แจ้งวัฒนะ องค์คณะวินิจฉัยอุทธรณ์รวม 9 คน ที่ได้รับเลือกจากที่ประชุมใหญ่ศาลฎีกาให้พิจารณาอุทธรณ์ ซึ่งมีนายไสลเกษ วัฒนพันธุ์ รองประธานศาลฎีกา เป็นเจ้าของสำนวน นัดฟังคำพิพากษาอุทธรณ์คดีหมายเลขดำ อม.27/2560 ที่ นายสุพจน์ ทรัพย์ล้อม อายุ 65 ปี อดีตปลัดคมนาคมระหว่างปี 2552-2554 ผู้คัดค้าน ยื่นอุทธรณ์ผลคำพิพากษาองค์คณะศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง 9 คน ที่มีนายชำนาญ รวิวรรณพงษ์ ประธานแผนกคดีล้มละลาย เป็นเจ้าของสำนวน มีมติเสียงข้างมาก เมื่อวันที่ 26 กันยายน 2560 ที่ให้จำคุกนายสุพจน์ ตาม พ.ร.บ.ว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ.2542 มาตรา 119 ฐานจงใจยื่นบัญชีทรัพย์สินหนี้สินและเอกสารประกอบอันเป็นเท็จ หรือปกปิดข้อเท็จจริงกรณีพ้นจากตำแหน่ง รวม 5 กระทงๆ ละ 2 เดือน จำคุกทั้งสิ้น 10 เดือน และมีคำสั่งห้าม นายสุพจน์ดำรงตำแหน่งเจ้าหน้าที่รัฐ เป็นเวลา 5 ปีนับจากวันที่พ้นจากตำแหน่งปลัดกระทรวงคมนาคมวันที่ 18 พฤษภาคม 2555 ด้วย

กรณีที่คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) เป็นผู้ร้อง ยื่นให้ศาลวินิจฉัยข้อกล่าวหา จงใจยื่นบัญชีทรัพย์สินและหนี้สินและเอกสารประกอบด้วยข้อความอันเป็นเท็จ หลังจากเมื่อปี 2555 ป.ป.ช.ชี้มูลความผิดข้อกล่าวหานายสุพจน์ มีพฤติการณ์ร่ำรวยผิดปกติ และจงใจยื่นบัญชีทรัพย์สินเท็จเกี่ยวกับเงินจำนวน 17,553,000 บาทเศษ และรถโฟลค์สวาเกน (Volk Swagen) ทะเบียน ฮต 8822 กทม. รวมมูลค่าทั้งสิ้น 20,473,000 บาท โดยกรณีสืบเนื่องจากหลังเกิดเหตุคนร้ายบุกปล้นบ้านนายสุพจน์ ในซอยลาดพร้าว 64 เมื่อค่ำวันที่ 12 พ.ย. 2554 ซึ่งผู้ที่ร่วมทำผิดคดีอาญาได้ให้การเกี่ยวกับทรัพย์สินว่าพบเงินสดในบ้านนายสุพจน์นับร้อยล้านบาท โดยนายสุพจน์ ไม่สามารถชี้แจงที่มาของเงิน 17 ล้านบาทเศษ และรถโฟลค์สวาเกน (Volk Swagen) ทะเบียน ฮต 8822 กทม.ได้

ขณะที่ นายสุพจน์ได้ประกันตัวไปในชั้นอุทธรณ์ ด้วยหลักทรัพย์ที่ศาลตีราคาประกัน 2 ล้านบาท และกำหนดเงื่อนไขห้ามเดินทางออกนอกประเทศเว้นแต่จะได้รับอนุญาตจากศาล

โดย “องค์คณะวินิจฉัยอุทธรณ์ 9 คน” พิจารณาแล้วมีมติเสียงข้างมาก เห็นว่าตามกฎหมาย ป.ป.ช. พ.ศ.2542 ต้องยื่นบัญชีแสดงทรัพย์สินและเอกสารประกอบนั่น เพื่อป้องกันเจ้าหน้าที่รัฐใช้อำนาจในตำแหน่งหน้าที่แสวงหาผลประโยชน์มิชอบ แต่ข้อเท็จจริงกลับปรากฎว่าผู้คัดค้านไม่ได้ยื่นบัญชีทรัพย์สินทั้ง 2 รายการทั้งที่เป็นผู้บริหารระดับสูง ควรต้องเป็นตัวอย่างที่ดี แต่กระทำผิดเสียเองจึงนับว่าพฤติการณ์เป็นเรื่องร้ายแรง แม้ผู้คัดค้านไม่เคยกระทำผิดมาก่อน และเคยประกอบคุณงามความดีปฏิบัติหน้าที่ราชการจนได้รับตำแหน่งระดับสูง ยังไม่เป็นเหตุผลเพียงพอให้รอการลงโทษ อุทธรณ์ของผู้คัดค้านฟังไม่ขึ้น พิพากษายืนให้จำคุก 10 เดือน และห้ามดำรงตำแหน่งเป็นเจ้าหน้าที่รัฐ 5 ปี โดยให้ออกหมายขังผู้คัดค้านตามคำพิพากษาถึงที่สุดและให้คืนหลักประกัน 2 ล้านบาทกับผู้คัดค้าน

ภายหลังเจ้าหน้าที่ชุดปฏิบัติการพิเศษ เรือนจำพิเศษกรุงเทพฯ ได้ควบคุมตัวนายสุพจน์ ขึ้นรถเรือนจำไปควบคุมต่อที่เรือนจำพิเศษกรุงเทพ เพื่อรับโทษตามคำพิพากษาซึ่งถึงที่สุดแล้ว

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า หลังศาลอ่านคำพิพากษาเสร็จสิ้น ทางครอบครัวและญาติที่เดินทางมาให้กำลังใจได้ร่ำไห้เข้าไปกอดนายสุพจน์พร้อมพูดคุย ขณะที่นายสุพจน์ก็มีสีหน้าเศร้าน้ำตานอง พูดปลอบใจครอบครัวด้วยว่าแป๊บเดียว ก่อนถอดสิ่งของมีค่าฝากให้ครอบครัว เพราะหลังจากนี้เจ้าหน้าที่ราชทัณฑ์จะนำคุมตัวไปคุมขังรับโทษยังเรือนจำตามคำพิพากษา

สำหรับ นายสุพจน์นั้นในชั้นพิจารณาคดีได้ต่อสู้ว่าเงิน 17 ล้านบาทเศษ และรถโฟลค์สวาเกน (Volk Swagen) นั้นไม่ใช่ของตน โดยรถโฟลค์สวาเกนเป็นของนายเอนก จงเสถียร นักธุรกิจฟิล์มถนอมอาหาร และได้คืนให้กับนายเอนกไปแล้ว ต่อมาภายหลังนายเอนกได้มอบรถคันดังกล่าวให้กับวัดแห่งหนึ่งเพื่อใช้ประกอบกิจของสงฆ์ ส่วนเงินจำนวน 17 ล้านบาทเศษ ซึ่งเป็นของกลางที่คนร้ายอ้างว่าปล้นมาจากบ้าน หลังเกิดเหตุตนได้แจ้งความว่าเงินหาย 5,068,000 บาทโดยเป็นเงินสินสอดในงานแต่งบุตรสาว และภายหลังเสร็จสิ้นพิธีก็ได้คืนให้กับบุตรสาวและบุตรเขย จึงไม่จำเป็นต้องยื่นบัญชีแสดงทรัพย์สิน 2 รายการนี้ นอกจากนี้ การไต่สวนของ ป.ป.ช.ไม่ชอบด้วยกฎหมาย เพราะไม่ได้ชี้มูลความผิดให้ตนได้แก้ข้อกล่าวหา แต่มาดำเนินการภายหลัง

แต่ชั้นพิจารณาศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง เห็นว่าเงินที่เกิดเหตุปล้นเมื่อวันที่ 12 พ.ย.54 นั้น ตามคำให้การของคนร้าย ฟังได้ว่า นำไปแต่เงินสดจำนวนมากที่ “นายสุพจน์” เก็บไว้เท่านั้น ไม่ได้นำเงินสินสอดไปด้วย จึงเชื่อว่าจำนวนเงินที่ ป.ป.ช.ชี้มูลความผิดจงใจยื่นบัญชีทรัพย์สินเท็จฯ จำนวน 17,553,000 บาทนั้นเป็นเงินก้อนเดียวกับที่ถูกปล้นบ้าน ไม่ใช่เงินสินสอด ซึ่ง “นายสุพจน์” จะต้องแสดงบัญชีทรัพย์สินในส่วนนี้

ส่วนรถโฟล์คสวาเกน มูลค่า 3 ล้านบาท ที่นางนฤมล ภรรยานายสุพจน์ อ้างว่าเป็นรถที่นายเอนก จงเสถียร มอบให้เป็นค่าตอบแทนที่ช่วยเหลืองานสอนเด็กและเผยแพร่ศาสนานั้น เห็นว่าระยะเวลาการไปช่วยงานเพียง 2 เดือนและเป็นการช่วยงานเพียงครั้งคราว แต่กลับได้รถมูลค่าถึง 3 ล้านบาท แตกต่างจากพนักงานบริษัทที่ทำงานประจำได้ค่าตอบแทนเป็นเงินเดือน 30,000 -50,000 บาท และยังมีหลักฐานว่าในการชำระเงินซื้อรถ นายอเนกได้มอบเงินให้กับนางนฤมลหลายครั้ง ซึ่งมีพิรุธและเสี่ยงต่อการสูญหาย อีกทั้งการจดทะเบียนเลขทะเบียน ก็เป็นเลขกลุ่มเดียวกับเลขทะเบียนรถของบุตรสาวนายสุพจน์ แต่ไม่ใกล้เคียงกับกลุ่มรถของนายอเนกที่มีอยู่หลายคัน ขณะที่ความสัมพันธ์นายเอนกกับนายสุพจน์ ก็ปรากฏว่าระหว่างที่นายสุพจน์เป็นกรรมการ (บอร์ด) การบินไทย นายเอนกก็ได้ทำสัญญาทางธุรกิจกับกลุ่มคิงพาวเวอร์ ข้อเท็จจริงจึงฟังได้ว่ารถเป็นทรัพย์สินของนายสุพจน์ในชื่อผู้อื่น โดยมีวัดเป็นผู้ครอบครองชั่วคราว และเป็นทรัพย์สินที่ต้องแสดงบัญชีทรัพย์สิน

ซึ่งแม้จะมีทรัพย์สินเพียง 2 รายการ แต่พฤติการณ์แสดงให้เห็นว่านายสุพจน์ไม่ประสงค์ที่จะให้ ป.ป.ช.ตรวจสอบทรัพย์สินหลังจากการพ้นตำแหน่ง ประธานบอร์ด รฟท., บอร์ดการบินไทย, ประธานบอร์ด รฟม. ครั้งที่ 3 และการพ้นจากตำแหน่งปลัดคมนาคม กับการพ้นจากตำแหน่งปลัดคมนาคมมาแล้ว 1 ปี ซึ่งเป็นการจงใจแสดงบัญชีทรัพย์สินและหนี้สินอันเป็นเท็จ รวม 5 ครั้ง ในทรัพย์สินชุดเดียวกัน

โดย นายสุพจน์ใช้สิทธิยื่นอุทธรณ์คำพิพากษา ตามบัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญฯ ปี 2560 มาตรา 195 วรรคสี่ ที่ให้อุทธรณ์คำพิพากษาศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง ได้ทั้งข้อเท็จจริงและข้อกฎหมาย ซึ่งจะต้องยื่นอุทธรณ์ต่อที่ประชุมใหญ่ศาลฎีกา ภายใน 30 วัน นับแต่วันที่มีคำพิพากษา จนมาฟังคำพิพากษาในวันนี้

 


ที่มา : มติชนออนไลน์