TIJ-กรมราชทัณฑ์ ลงพื้นที่เรือนจำอยุธยา ดูเรือนจำต้นแบบตาม “ข้อกำหนดกรุงเทพ” ยกระดับการปฏิบัติต่อผู้ต้องขังหญิง

เมื่อวันที่ 17 ส.ค. ผู้สื่อข่าวประชาชาติธุรกิจออนไลน์รายงานว่า สถาบันเพื่อการยุติธรรมแห่งประเทศไทย หรือ TIJ ลงพื้นที่ “เรือนจำต้นแบบ” ตามข้อกำหนดกรุงเทพ จากข้อกำหนดสหประชาชาติสู่การปฏิบัติในประเทศไทย ที่เรือนจำจังหวัดพระนครศรีอยุธยา

นายอดิศักดิ์ ภาณุพงศ์ ที่ปรึกษาพิเศษ สถาบันเพื่อการยุติธรรมแห่งประเทศไทย กล่าวว่า มีความตั้งใจที่จะพาชมเรือนจำพระนครศรีอยุธยา ซึ่งถือว่าเป็นเรือนจำต้นแบบที่มีการวางแผนที่ดี และประสบผลสำเร็จตามที่ “ข้อกำหนดกรุงเทพ” ได้ระบุไว้

อดิศักดิ์ ภาณุพงศ์

“ข้อกำหนดกรุงเทพได้เริ่มจัดตั้งขึ้นด้วยพระราชดำริของพระเจ้าหลานเธอ พระองค์เจ้าพัชรกิติยาภา ที่ทรงเล็งเห็นความต้องการของผู้ต้องขังหญิงในเรือนจำที่มีความแตกต่างในด้านกายภาพ เพศสภาพ ซึ่งควรจะได้รับการพิจารณาเป็นพิเศษ” นายอดิศักดิ์กล่าว

ที่ปรึกษาพิเศษ สถาบันเพื่อการยุติธรรมแห่งประเทศไทย กล่าวต่อว่า การพิจารณาผู้ต้องขังหญิงเป็นพิเศษนั้น ไม่ได้หมายความว่าได้รับการปฏิบัติเป็นพิเศษแตกต่างจากผู้ต้องขังชาย ทุกสิ่งทุกอย่างเป็นไปตามระเบียบของกรมราชทัณฑ์ เพียงแต่การนำข้อกำหนดกรุงเทพเข้ามาใช้จะเป็นการคำนึงถึงสิทธิมนุษยชนที่ทุกคนควรจะได้รับ

“นอกจากจะมีการฝึกอาชีพเพื่อให้เกิดรายได้แล้ว ยังหวังว่าเมื่อออกจากเรือนจำไปแล้วผู้ต้องขังจะสามารถประกอบสัมมาชีพได้ วัตถุประสงค์หลักของทีไอเจ และกรมราชทัณฑ์ คือ จะทำอย่างไรให้สังคมยอมรับ ต้อนรับบุคคลที่หลงผิดให้กลับคืนสู่สังคม และให้ผู้ต้องขังหญิงที่พ้นโทษไปแล้วมีความคิด กำลังใจที่ดี และจะไม่หันเหไปประพฤติสิ่งที่มิชอบอีก”

ด้าน ดร.นัทธี จิตสว่าง อดีตอธิบดีกรมราชทัณฑ์ และที่ปรึกษาพิเศษ สถาบันเพื่อการยุติธรรมแห่งประเทศไทย กล่าวว่า การนำข้อกำหนดกรุงเทพมาใช้ทำให้เจ้าหน้าที่สามารถทำงานได้อย่างเป็นระบบ และมีมาตรฐานในการทำงาน โดยในปี 2558 ได้ริเริ่มนำข้อกำหนดกรุงเทพมาใช้ให้เรือนจำต้นแบบจำนวน 3 แห่ง คือ เรือนจำจังหวัดอุทัยธานี ทัณฑสถานหญิงเชียงใหม่ และเรือนจำจังหวัดพระนครศรีอยุธยา

และในปี 2559 อีก 3 แห่ง คือ ทัณฑสถานบำบัดเพศหญิง ทัณฑสถานหญิงชลบุรี และเรือนจำกลางสมุทรสงคราม

ดร.นัทธี จิตสว่าง

ส่วนความแตกต่างระหว่างเรือนจำต้นแบบข้อกำหนดกรุงเทพ กับเรือนจำทั่วไปนั้น ดร.นัทธีกล่าวว่า ข้อกำหนดกรุงเทพเป็นข้อกำหนดที่ปฏิบัติต่อผู้ต้องขังในเรือนจำให้เป็นไปตามมาตรฐาน ตั้งแต่การรับตัวผู้ต้องขัง การตรวจค้นจะต้องคำนึงถึงศักดิ์ศรีความเป็นผู้หญิง การจัดทำทะเบียนเพื่อจำแนกผู้ต้องขัง ที่เจ้าหน้าที่จะต้องรู้จักผู้ต้องขังทุกคน และยังมีการติดตามผลหลังจากผู้ต้องขังถูกปล่อยตัวออกจากเรือนจำไปแล้ว

ดร.นัทธีกล่าวอีกว่า อุปสรรคที่ยากที่สุดในการนำข้อกำหนดกรุงเทพมาใช้คือ “คน” ในเรื่องของการปรับทัศนคติของเจ้าหน้าที่

“ไม่ได้นำข้อกำหนดฯมาใช้แล้วให้ผู้ต้องขังหญิงมีอภิสิทธิ์เหนือเจ้าหน้าที่ แต่เป็นการนำมาใช้เพื่อให้อยู่ภายใต้กฎระเบียบ และเป็นประโยชน์กับทั้งสองฝ่าย ซึ่งการปรับทัศนคติของเจ้าหน้าที่เป็นเรื่องยากที่สุด” ดร.นัทธีกล่าว

ขณะเดียวกัน อภิรดี จันทร รองผู้บังคับแดนหญิง เรือนจำจังหวัดพระนครศรีอยุธยา เปิดเผยว่า จำนวนผู้ต้องขังหญิงในเรือนจำมีทั้งหมด 563 คน ส่วนใหญ่จะเป็นผู้ต้องขังที่มีอายุตั้งแต่ 30 ปีขึ้นไป และได้รับโทษในคดียาเสพติดประมาณ 85 เปอร์เซ็นต์ของผู้ต้องขังหญิงทั้งหมด

 

ทั้งนี้ ภายในเรือนจำจังหวัดพระนครศรีอยุธยา เรือนจำต้นแบบข้อตกลงกรุงเทพนั้น มีการแบ่งสัดส่วนโซนกิจกรรมต่างๆ ให้กับผู้ต้องขังหญิงอย่างชัดเจน ไม่ว่าจะเป็นมุมอ่านหนังสือ การฝึกอาชีพต่างๆ เช่น การเสริมสวย การทำอาหาร ฯลฯ จากเจ้าหน้าที่สังคมสงเคราะห์ทั้งภายในและภายนอก

นอกจากนี้ยังมี Happy Center ที่เป็นห้องสร้างแรงบันดาลใจที่เป็นเสมือนคลินิกทางจิตที่จะช่วยฟื้นฟู และปรับสภาพจิตใจของผู้ต้องขังให้ดีขึ้น

นอกจากนี้ ในการลงพื้นที่ครั้งนี้ยังมีเจ้าหน้าที่กรมราชทัณฑ์ระดับสูงจากประเทศอาเซียนและจากประเทศเคนยาเข้ามาร่วมศึกษาดูเรือนจำต้นแบบ เพื่อนำไปเป็นแนวทางในการปฏิบัติกับเรือนจำของแต่ละประเทศต่อไป