อย.ชี้แล้ว! กฎหมายระบุ “กัญชา” เป็นยาเสพติด ใช้ทางการแพทย์ได้แต่ต้องควบคุม

จากกรณี ศ.นพ.ธีระวัฒน์ เหมะจุฑา อาจารย์สาขาประสาทวิทยา ภาควิชาอายุรศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เตรียมรวบรวมข้อมูลผู้ป่วยนิรนามที่ใช้กัญชาทางการแพทย์แล้วผลลัพธ์เป็นที่น่าพอใจ โดยจะรวบรวมเสนอ สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา(อย.) เพื่อประกอบการพิจารณาว่า หากปรับกลุ่มประเภทสารเสพติดจากกัญชา เป็นสารเสพติดประเภท 5 เป็นประเภท 2 ให้เป็นยา โดยไม่ใช่แค่สารสกัด แต่รวมทั้งดอกใบ โดยขอให้นับเป็นพืชยาได้ด้วยนั้น

ล่าสุดเมื่อวันที่ 24 ตุลาคม นพ.ธเรศ กรัษนัยรวิวงค์ เลขาธิการคณะกรรมการอาหารและยา(อย.) กล่าวถึงข้อเสนอนี้ว่า ในการใช้อำนาจรัฐมนตรีว่าการ สธ. ออกประกาศเพื่อให้สารสกัดและน้ำมันกัญชายกระดับเป็นสารเสพติดประเภท 2 ที่ใช้ประโยชน์ทางการแพทย์ได้ เหมือนมอร์ฟีน จะสามารถดำเนินการตามแนวทางนี้ ซึ่งคณะกรรมการควบคุมยาเสพติดได้ให้แนวทางไว้เฉพาะส่วนที่เป็นสารสกัด และน้ำมันเท่านั้น ไม่สามารถครอบคลุมไปถึงส่วนของพืชและกัญชาได้ เนื่องจากในพ.ร.บ.ยาเสพติดฯ ระบุกัญชาเป็นยาเสพติด ทั้งนี้ หากประกาศนี้มีผลบังคับใช้ ทาง อย.จะเป็นผู้ดำเนินการกระบวนการทั้งหมด เช่นเดียวกันมอร์ฟีน โดยจะเป็นผู้จำหน่ายภายใต้กองทุนยาเสพติดเพียงรายเดียวเช่นเดียวกับมอร์ฟีน รวมถึงจะมีการควบคุมการจำหน่ายและการใช้ประโยชน์ทางการแพทย์อย่างเข้มงวด โดยจะอนุญาตให้ใช้เฉพาะ 4 กลุ่มอาการที่มีข้อมูลทางวิชาการรองรับว่า สามารถใช้รักษาหรือบำบัดได้อย่างชัดเจนเท่านั้น ส่วนโรคอื่นๆ อาจอนุญาตในลักษณะศึกษาวิจัย ซึ่งจะต้องมีการออกใบอนุญาตการใช้สารสกัดจากกัญชาให้ผู้นำไปใช้ด้วย โดยผู้ใช้อาจจะเป็นเพียงแพทย์แผนปัจจุบันหรือแพทย์แผนไทยเท่านั้น

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า สำหรับ 4 กลุ่มที่มีข้อบ่งชี้ทางการแพทย์เบื้องต้นนั้น ประกอบด้วย 1. รักษาอาการคลื่นไส้ในผู้ป่วยโรคมะเร็งที่ให้คีโม 2. โรคลมชักดื้อต่อการรักษาในเด็ก 3. ปลอกประสาทอักเสบ และ 4. อาการปวดรุนแรง

 

 


ที่มา มติชนออนไลน์