นักวิชาการลั่น! ต้องยกระดับคุม “บุหรี่ไฟฟ้า” ชี้คนหนุน ให้ข้อมูลผิดๆ

วันที่ 28 ต.ค. ผศ.ศรีรัช ลอยสมุทร วิทยาลัยนิเทศศาสตร์ มหาวิทยาลัยรังสิต กล่าวว่า สถานการณ์การใช้ “บุหรี่ไฟฟ้า” ในประชาชนไทย ถือว่ามีความน่าเป็นห่วงมากขึ้นเรื่อยๆ โดยพบว่า คนส่วนใหญ่หันมาใช้บุหรี่ไฟฟ้า เพราะได้รับการสื่อสารความเชื่อผิดๆ โดยเฉพาะในสื่อโซเชียลมีเดีย ที่อ้างว่า บุหรี่ไฟฟ้าไม่อันตรายแต่อย่างใด ซึ่งเป็นข้อมูลที่ไม่จริง

โดยมีงานวิจัยจำนวนมากที่ชี้ว่า บุหรี่ไฟฟ้า และบุหรี่มวน มีอันตราย นอกจากนี้ ยังมีการสื่อสารความเชื่อผิดๆ ว่า การสูบบุหรี่ไฟฟ้า จะช่วยลดอัตราการสูบบุหรี่มวนได้ แต่แท้จริงแล้วเป็นเพียงการเปลี่ยนประเภทการสูบเท่านั้น หรือแม้แต่การอ้างอิงว่าบุหรี่ไฟฟ้า ได้รับการยอมรับในทุกประเทศ ซึ่งข้อเท็จจริงแล้ว หลายประเทศเริ่มมีมาตรการควบคุมโดยเฉพาะในกลุ่มเยาวชน อาทิ สหรัฐอเมริกา สิงคโปร์ ฯลฯ

แม้ว่าขณะนี้ พ.ร.บ.ควบคุมผลิตภัณฑ์ยาสูบ และประกาศกระทรวงพาณิชย์ ได้กำหนดให้บารากู่ บารากู่ไฟฟ้า และบุหรี่ไฟฟ้า เป็นสินค้าที่ต้องห้ามในการนำเข้ามาในราชอาณาจักร ซึ่งไม่สามารถซื้อขาย หรือ โฆษณาในราชอาณาจักรได้ แต่กลับมีการลักลอบนำเข้า และขายบุหรี่ไฟฟ้าจำนวนมาก

ทำให้หากจะต้องทบทวนกฎหมายเรื่องการควบคุมบุหรี่ไฟฟ้า ควรมีการทบทวนเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการควบคุมและการบังคับใช้กฎหมายให้เป็นไปอย่างตรงวัตถุประสงค์ เพื่อให้ไม่มีการขาย หรือโฆษณาบุหรี่ไฟฟ้าได้ตามกฎหมายที่มีในปัจจุบัน

ผศ.ศรีรัช กล่าวต่อว่า ปัจจุบันจากการสำรวจนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 5-6 อายุ 16-18 ปี จำนวน 945 คนในกรุงเทพฯ พบว่า 30.5% สูบบุหรี่ไฟฟ้าโดยเชื่อว่าปลอดภัยและไม่เสพติด และการสำรวจในกลุ่มวัยมหาวิทยาลัย 1,155 คน พบ 61% สูบบุหรี่ไฟฟ้า และ 41% เชื่อข้อมูลในเฟสบุ๊กที่ขายบุหรี่ไฟฟ้าว่าปลอดภัย เป็นการสูบแต่ไอน้ำ โดยไม่ทราบว่า ในบุหรี่ไฟฟ้านั้น มีนิโคติน และสารประกอบอื่นๆ ที่เป็นสารเคมีอันตรายเช่นเดียวกัน

โดยพบว่า ปัจจุบันมีการสร้างเพจขึ้นมาให้ข้อมูลเกี่ยวกับบุหรี่ไฟฟ้า แต่เป็นข้อมูลที่ขัดต่อหลักฐานทางวิชาการ และเป็นการสร้างความเชื่อผิดๆ ให้กับเยาวชน และกลุ่มนักสูบว่าบุหรี่ไฟฟ้าปลอดภัย

สิ่งที่น่าห่วงในกลุ่มเยาวชนคือ หลายคนเริ่มหันมาเริ่มต้นการสูบบุหรี่ไฟฟ้า ซึ่งการปรับแต่งกลิ่น รส ของบุหรี่ไฟฟ้า ทำให้สูบได้ง่ายขึ้น ไม่มีอาการเจ็บคอหรือระคายคอเหมือนบุหรี่ชนิดมวน จึงทำให้การสูบนั้นง่ายขึ้นและอาจกลายเป็นการสูบบ่อยจนติดบุหรี่โดยไม่ทันรู้ตัว ทำให้อัตราการติดบุหรี่ของเด็กและเยาวชนเพิ่มสูงขึ้น

ประกอบการการกระตุ้นตลาดในสื่อออนไลน์ ขายตรงทางไลน์ เฟสบุ๊ก ซึ่งเข้าถึงตัวเด็กได้ง่าย จะทำให้ยากต่อการควบคุม ซึ่งการบังคับใช้กฎหมายก็ยังไม่สามารถควบคุมได้ทั่วถึง

 

 

 


ที่มา ข่าวสดออนไลน์