นักวิชาการชี้ ‘ประเทศกูมี’ คือความหวัง-นิยามเป็นบทเพลงปลุกใจภาคประชาชนที่เบื่อรัฐ

เมื่อวันที่ 31 ตุลาคม ที่ห้องประกอบ หุตะสิงห์ อาคารอเนกประสงค์ 1 มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์ จัดงานเสวนา “ศิลปะ อำนาจ และการขัดขืน”

รศ. ดร.สุชาติ แสงทอง มหาวิทยาลัยราชภัฏนครสวรรค์ กล่าวว่า เพลงลักษณะที่เป็นเพลงการเมือง จะเกิดมาในสังคมไทยเป็นช่วงๆ ตลอดเวลา ดังนั้นเพลงลักษณะนี้หนีไม่พ้นเรื่องของแรงบันดาลใจที่มีรากฐานความคิดของผู้สร้างบทเพลงเพื่อสะท้อนวัฒนธรรมการเมืองที่เกิดขึ้นในแต่ละยุคสมัย ซึ่งความงดงามของความเป็นดนตรีมันไม่เสียเลือดเสียเนื้อ แต่เป็นการสร้างศิลปะทางดนตรีเอามาต่อสู้ซึ่งกันและกัน ที่ผ่านมาเป็นแบบนี้ตลอด และเพลงประเทศกูมีวันนี้เป็นบทเพลงอีกหน้าหนึ่งของประวัติศาสตร์บทเพลงทางการเมือง ส่วนตัวให้นิยามบทเพลงประเทศกูมีว่า เป็นบทเพลงปลุกใจของภาคประชาชนที่เบื่อรัฐ และสร้างอะไรบางอย่างเป็นภาพสะท้อน

นายอนุสรณ์ อุณโณ คณบดีคณะสังคมวิทยา และมานุษยวิทยา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ กล่าวว่า เดิมทีไม่ได้ฟังเพลงเเร็พและไม่สามารถเข้าถึง แต่พอได้ฟังเพลงประเทศกูมีแล้วรู้สึกชื่นชอบไม่ใช่เเค่เนื้อร้องหรือท่วงทำนอง แต่เป็นเพราะช่วยให้รู้สึกมีความหวังขึ้นมาอีกครั้ง ทำให้พื้นสังคมหรือศิลปะมันสามารถที่จะเป็นช่องทางให้เราสร้างทางเลือกใหม่ได้ หลังจากที่เราผิดหวังจากวงการศิลปะ จากศิลปินที่เรารู้กัน ทั้งนี้หากย้อนดูพัฒนาการการเคลื่อนไหวของคนในสังคม ในช่วงปลายปี 30 ถึงต้นปี 40 เรามีขบวนการประชาชน ซึ่งเราเรียกว่าขบวนการเคลื่อนไหวทางสังคมรูปแบบใหม่ มีขบวนการชาวบ้าน เอ็นจีโอออกมาขับเคลื่อนประเด็นปัญหาต่างๆ พื้นที่ทางการเมืองเปิดให้เราขับเคลื่อนได้ ที่น่าสนใจคือหลังรัฐประหารปี 57 สิ่งที่เรียดว่าขบวนการเคลื่อนไหวทเหล่านี้ถดถอยไป แต่สิ่งที่เกิดใหม่คือการต่อต้านจากอาวุธของผู้อ่อนแอ เรามีตั้งแต่กินแซนด์วิช อ่านหนังสือ1984 แต่สิ่งเหล่านั้นเกิดขึ้นแล้วถูกกดปราบทำให้เงียบหายไป ไม่ก่อให้เกิดเเรงกระเพื่อม หรือมีพลังในการเปลี่ยนแปลงสังคมแต่อย่างใด

“แต่สิ่งที่เกิดจากเพลงประเทศกูมีต่างออกไป ก่อนหน้านั้นมีคนดูประมาณ 9 แสน แต่พอมีการขู่ของคนที่มีอำนาจ ปรากฎว่าผลมันกลับตาลปัตร ภายในเวลา 24 ชม.ยอดผู้ชมขึ้นไปอีก 9 ล้าน ชี้ให้เห็นว่าสังคมนี้ยังมีหวัง คือคนรู้สึกถึงการกดปราบที่ต่อเนื่องยาวนาน ผมคิดว่าเพลงนี้เป็นตัวอย่างหนึ่ง ที่จุดประกายให้คนที่รู้สึกถูกกดปราบลุกขึ้นมาเพื่อทำอะไรบางอย่าง ซึ่งผมคิดว่าการต่อต้านในลักษณะดูแล้วเเชร์ โดยไม่หวั่นเป็นสิ่งที่ชี้ให้เห็นเเล้วว่าอย่างน้อยที่สุดยังมีคนจำนวนมากที่เชื่อเรื่องความเสมอภาค เรื่องสิทธิและเสรีภาพในการแสดงออก” นายอนุสรณ์กล่าว

 

 

ที่มา  มติชนออนไลน์