องค์การอนามัยโลก รับรองยาต้านไวรัสเอดส์ รายแรกของไทย

เมื่อวันที่ 2 พ.ย. ที่โรงงานผลิตยารังสิต 1 อ.ธัญญบุรี จ.ปทุมธานี นพ.โสภณ เมฆธน ประธานกรรมการองค์การเภสัชกรรม (บอร์ดอภ.)แถลงความสำเร็จในการบรรจุยาต้านไวรัสเอดส์ จนได้รับการยอมรับจากองค์การอนามัยโลก ว่า ยาเอฟฟาไวเรนส์ (Efavirenz Tablets) 600 มิลลิกรัม ของ อภ.เป็นยารายการแรกของประเทศไทย และเป็นประเทศเดียวในกลุ่มอาเซียนที่ได้รับการรับรองมาตราฐานสากล WHO Prequalification Program (WHO PQ) จากองค์การอนามัยโลก

โดยได้ขึ้นบัญชียาดังกล่าวไว้ในบัญชียาขององค์การอนามัยโลก เพื่อให้หน่วยงานหรือองค์กรสาธารณสุขนานาชาติ จัดซื้อยาจากผู้ผลิตที่ผ่านกระบวนการตรวจรับรองที่เข้มงวดนี้แล้วเท่านั้น เช่น กองทุนโลก ยูนิเซฟ ที่ทำหน้าที่จัดซื้อยาให้กับประเทศสมรชิกที่ต้องการหรือประเทศที่ด้อยโอกาส การรับรองนี้ถือเป็นการยกระดับมาตรฐานผลิตภัณฑ์ยาเป็นสากลที่ทั่วโลกยอมรับ เพื่อเพิ่มความเชื่อมั่นในประสิทธิภาพประสิทธิผล ความปลอดภัย มีศักยภาพในการแข่งขันมากขึ้นทั้งในและต่างประเทศ

“ยาตัวนี้เป็นตัวแรกที่ให้กับผู้ติดเชื้อเอชไอวีทุกรายตั้งแต่ตรวจพบเชื้อในร่างกาย ซึ่งในประเทศไทยมีผู้ติดเชื้อประมาณ 8 หมื่นราย และขณะนี้เตรียมพัฒนาโรงงานผลิตยารังสิตเฟส 2 มูลค่า 5.6 พันล้านบาท อยู่ระหว่างเปิดซองผู้รับเหมาคาดว่าจะสามารถเริ่มก่อสร้างได้ในมกราคม 2562” นพ.โสภณ กล่าวและว่า ล่าสุดยังอยู่ในระหว่างการขึ้นทะเบียนตำรับยาไปยังประเทศฟิลิปปินส์ คาดว่ามีมูลค่าการสั่งซื้อเพิ่มขึ้นราว 50 ล้านบาท

ด้าน ภญ.มุกดาวรรณ ประกอบไวทยกิจ รองผอ.อภ. กล่าวว่า อภ.พยายามมานานกว่า 16 ปี ก็สามารถพัฒนาและนำยาตัวนี้จนผ่านมาตรฐานขององค์การอนามัยโลก คุณภาพเทียบเท่ายาต้นแบบ ทำให้ผู้ป่วยเข้าถึงยาดี มีคุณภาพจากเมื่อก่อนที่ยังไม่สามารถผลิตได้เองทำให้ราคาสูงกระปุกละกว่า 1 พันบาท แต่ ณ วันนี้ ผลิตได้เองทำให้ราคาลดลงเหลือเพียง 180 บาทต่อกระปุก

ทั้งนี้หลังได้รับการรับรองแล้วเมื่อกองทุนต่างๆ จะซื้อยาจะเข้าไปดูรายชื่อบริษัทใดบ้างที่ได้รับการรับรองจากองค์การอนามัยโลก แต่ติดต่อให้ไปร่วมประมูลยา ล่าสุดได้รับการติดต่อจากประเทศแถบทะเลแคริเบียนให้เข้าร่วมการประมูล เช่นเดียวก่อนหน้านี้ทางประเทศฟิลิปปินส์ ก็ขอให้ไทยเข้าไปขึ้นทะเบียนยาในประเทศเขา เพราะมีความเชื่อมั่นในคุณภาพยาของไทย ดังนั้นจึงอยู่ระหว่างดำเนินการ ซึ่งจะมีมูลค่าสั่งซื้อเพิ่มราว 51 ล้านบาท

ภญ.มุกดาวรรณ กล่าวอีกว่า นอกจากนี้ยังยาของอภ.สามารถขึ้นทะเบียนได้รวดเร็วขึ้น ไม่ต้องผ่านกระบวนการ อย.ปกติของแต่ละประเทศ เพราะใช้ข้อมูลการรับรองขององค์กาอนามัยโลกได้เลย และตอนนี้ได้ส่งยาต้านไวรัสจีพีโอเวียร์ (VIR T) ซึ่งเป็นสูตรรวม กินแค่เม็ดเดียว ไปขอการรับรองจากองค์การอนามัยโลกเช่นเดียวกัน คาดว่าอีก 2 ปีจะทราบผล แต่มั่นใจว่าน่าจะสามารถผ่านได้ นอกจากนี้อนาคตยังเตรียมส่งยาต้านวัณโรค และยารักษาโรคมาลาเรียเข้าสู่การรับรองด้วย

“การได้รับการรับรองมาตรฐานครั้งนี้ทำให้เปิดโอกาสที่อภ.จะจำหน่ายยาได้มากขึ้น เพิ่มมูลค่าทางเศรษฐกิจของประเทศได้อย่างมาก ซึ่งยืนยันว่ากำลังการผลิตของเราเพียงพอต่อการใช้ในประเทศ และส่งออก ซึ่งในการผลิตปี 2561 สามารถผลิตยาต้านฯ 42 ล้านเม็ด หรือ 2.5 เปอร์เซ็นต์ของกำลังการผลิตยาในโรงงานนี้ทั้งหมด 4 พันล้านเม็ด แถมยังมีการเตรียมขยายโรงงานปลิตเฟส 2 อีก” ภญ.มุกดาวรรณ กล่าว

 


ที่มา  ข่าวสดออนไลน์