ปธ.คุมยาเสพติดระหว่างประเทศหนุนไทยใช้ “กัญชา” ทางการแพทย์ ชี้ช่องทำให้เร็ว

กรณีสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) เตรียมเสนอรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) ปรับสถานะสารสกัดกัญชาที่เป็นยาเสพติดประเภท 5 เป็นยาเสพติดประเภท 2 ซึ่งจะทำให้สามารถนำสารสกัดกัญชามาใช้ในทางการแพทย์ได้อย่างถูกต้องตามกฎหมาย แต่ในส่วนของการปลูกยังต้องรอแก้ไขกฎหมาย ซึ่งขณะนี้อยู่ในการพิจารณาของสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) นั้น

เมื่อวันที่ 4 พฤศจิกายน ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ขณะนี้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับการนำพืชกัญชามาใช้ในทางการแพทย์และการวิจัยยังมีข้อถกเถียงในประเด็นต่างๆ อย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะในประเด็นการทำให้มีการใช้พืชกัญชาได้อย่างถูกต้องตามกฎหมายทั้งของภายในประเทศและต่างประเทศ โดยเฉพาะกฎหมายระหว่างประเทศ 3 ฉบับ คือ อนุสัญญาเดี่ยวว่าด้วยยาเสพติดให้โทษ ค.ศ.1961 อนุสัญญาว่าด้วยวัตถุที่ออกฤทธิ์ต่อจิตและประสาท ค.ศ.1971 และอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการต่อต้านการลักลอบค้ายาเสพติดและวัตถุที่ออกฤทธิ์ต่อจิตและประสาท ค.ศ.1988 อย่างไรก็ตาม เมื่อวันที่ 18-19 ตุลาคมที่ผ่านมา ในการสัมมนาและระดมสมอง เรื่อง “กัญชาทางการแพทย์ (Medical Cannabis) กับกฎหมาย: จากยาเสพติด สู่ ยารักษาโรค” ซึ่งจัดโดยองค์การเภสัชกรรม (อภ.) และคณะนิติศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ภก.วิโรจน์ สุ่มใหญ่ ในฐานะประธานคณะกรรมการควบคุมยาเสพติดระหว่างประเทศ (INCB) องค์การสหประชาชาติ ได้แสดงความคิดเห็นถึงการนำสารสกัดจากกัญชามาใช้ประโยชน์ทางการแพทย์ว่า ยูเอ็นไม่ได้ห้าม เพราะเปิดช่องให้แล้ว แต่รัฐภาคีจะต้องสร้างกฎหมายให้รองรับกฎกติกาที่มีอยู่ในอนุสัญญา

“เนื่องจากมีข้อระบุไว้ในอนุสัญญาว่าด้วยวัตถุมีฤทธิ์ต่อจิตและประสาทว่าเป็นพืชที่มี 2 สถานะ คือ มีประโยชน์ทางการแพทย์นำไปใช้เป็นยารักษาโรคและมีฤทธิ์เหมือนฝิ่นและโคคา จึงห้ามผลิต ห้ามปลูก นอกจากรัฐจะปลูกเพื่อนำไปใช้ประโยชน์การวิจัยทางการแพทย์โดยต้องมีการควบคุม” ภก.วิโรจน์ กล่าวและว่า สำหรับประเทศไทยนั้น ปัจจุบันกฎหมายยังกำหนดให้กัญชาเป็นยาเสพติดประเภท 5 การปลดล็อกกัญชาให้พ้นสถานะพืชเสพติด ยังทำไม่ได้ในเวลาอันสั้น แต่มีข้อเสนอในการแก้ไขปัญหาเพื่อให้นำสารสกัดกัญชาออกมาใช้ได้ก่อนคือ ใช้อำนาจรัฐมนตรีว่าการ สธ. โดยให้ อย.ออกประกาศ สธ.(ฉบับที่ …) พ.ศ. … เรื่องประกาศรายชื่อและจัดแบ่งประเภทยาเสพติดให้โทษ (เพิ่มเติม) ตาม พระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) ยาเสพติดให้โทษ พ.ศ.2522 โดยกำหนดให้สารสกัดกัญชาในส่วนของ Cannabis resin, Cannabis Oil, Cannabis extract และ Tincture of cannabis เป็นสารเสพติดให้โทษประเภท 2 และกำหนดให้พืชกัญชาเป็นยาเสพติดประเภท 5 โดยให้นิยามพืชกัญชาหมายถึง ใบ ดอก ยอด ผล ยาง และลำต้น ทั้งนี้ สธ.สามารถดำเนินการได้ทันทีโดยไม่ต้องอาศัยมาตรา 44 ของคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) และจะทำให้ประชาชนที่เป็นผู้ป่วยได้ประโชยน์สามารถใช้ยาได้ตามใบสั่งแพทย์

ในส่วนของการปลูกพืชกัญชานั้น ภก.วิโรจน์ กล่าวอีกว่า ประเทศไทยสามารถปฏิบัติได้ตามอนุสัญญาข้อที่ 23 และข้อที่ 28 เกี่ยวกับการอนุญาตปลูกพืชกัญชาเพื่อนำมาใช้เป็นวัตถุดิบในการผลิตยา เพื่อการศึกษาวิจัยนำไปสู่การพัฒนายาเพื่อนำไปใช้ในวงการแพทย์ แต่จะต้องมีการตั้งหน่วยงาน (Cannabis Agency) ขึ้นมาควบคุมกำกับดูแลทั้งการปลูก การออกใบอนุญาตให้ปลูก การจำกัดพื้นที่ จำนวนที่ปลูก และการรับซื้อผลผลิต ทั้งนี้แนวทางดังกล่าวขึ้นอยู่กับรัฐภาคีจะทำข้อตกลงกันเอง

ภก.วิโรจน์ กล่าวต่อไปว่า ขณะนี้ในหลายประเทศทั่วโลกมีการตื่นตัวกับการนำพืชกัญชามาใช้ในทางการแพทย์ ล่าสุดองค์การอนามัยโลกจึงได้มีการหยิบยกเรื่องดังกล่าวมาทบทวน และศึกษาวิจัยเพิ่มเติม และเตรียมจะมีการนำผลการทบทวนไปรายงานต่อที่ประชุมในวันที่ 12-16 พฤศจิกายนนี้ ที่นครเจนีวา สหพันธรัฐสวิส

ด้าน นพ.โสภณ เมฆธน ประธานคณะกรรมการองค์การเภสัชกรรม (อภ.) ในฐานะประธานคณะกรรมการพิจารณาการนำกัญชามาใช้ประโยชน์ทางการแพทย์ กล่าวว่า ในส่วนของการปลูกนั้น จำเป็นต้องอาศัยการแก้ไขเพิ่มเติม พ.ร.บ.ยาเสพติดให้โทษ พ.ศ.2522 ซึ่งขณะนี้อยู่ในกระบวนการ อย่างไรก็ตาม ยืนยันว่าทุกฝ่ายได้พยายามอย่างเต็มที่ที่จะนำพืชกัญชามาใช้ประโยชน์ในทางการแพทย์ และสำหรับประเทศไทยนั้น ยังต้องดำเนินการแบบค่อยเป็นค่อยไป เพราะเป็นเรื่องละเอียดอ่อนที่มีผลกระทบหลายด้าน

“ขณะนี้ทุกฝ่ายค่อนข้างเห็นตรงกันแล้วว่า พืชกัญชามีประโยชน์ในทางการแพทย์ แต่ขณะเดียวกันกัญชาก็มีโทษในเชิงยาเสพติด ดังนั้นเรื่องนี้จึงจำเป็นต้องอาศัยเวลาในการพิจารณา แต่ยืนยันว่าในส่วนไหนที่สามารถทำได้ก่อนก็จะทำทันที เพื่อให้มีการนำมาใช้ในทางการแพทย์ได้อย่างถูกต้อง” นพ.โสภณกล่าว

 

 

ที่มา มติชนออนไลน์