จากกรณีเมื่อวันที่ 16 ตุลาคม 2561 กระทรวงสาธารณสุขได้มีการเสนอขอให้คณะรัฐมนตรีพิจารณาทบทวนมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 17 เมษายน 2516 เพื่อขอเพิ่มค่าปรับนักศึกษาแพทย์ผู้ผิดสัญญาการเป็นนักศึกษาวิชาแพทยศาสตร์ จากจำนวน 400,000 บาท เป็น 2,500,000 บาท โดยขอให้มีผลบังคับใช้ตั้งแต่ปีการศึกษา 2562 เป็นต้นไป โดยมอบให้กระทรวงสาธารณสุขทำหน้าที่ประสานกับสถาบันการผลิตนักศึกษาแพทยศาสตร์และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องนั้น
เมื่อวันที่ 8 พฤศจิกายน ผู้สื่อข่าวรายงานถึงกรณีดังกล่าวว่าก่อนหน้านี้ สำนักงานปลัดกระทรวงสาธารณสุขได้ส่งร่างสัญญาการเป็นนักศึกษาเพื่อศึกษาวิชาแพทยศาสตร์ มาให้สำนักงานอัยการสูงสุดตรวจพิจารณา โดย นายธนกฤต วรธนัชชากุล อัยการจังหวัดประจำสำนักงานอัยการสูงสุด พนักงานอัยการเจ้าของสำนวน ได้พิจารณาแล้วเห็นว่า มติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 17 เมษายน 2516 ที่กำหนดจำนวนค่าปรับชดใช้ทุนของนักศึกษาแพทย์ ผู้ผิดสัญญาการเป็นนักศึกษาเพื่อศึกษาวิชาแพทย์ศาสตร์ จำนวน 400,000 บาท นั้น เป็นจำนวนค่าปรับที่ถูกกำหนดไว้ตั้งแต่ปี 2516 ซึ่งเป็นระยะเวลานานมากแล้ว จึงมีความไม่เหมาะสม และจึงได้แจ้งสำนักงานปลัดกระทรวงสาธารณสุขว่าควรพิจารณาทบทวนจำนวนค่าปรับชดใช้ทุนของนักศึกษาแพทย์ที่ผิดสัญญาที่กำหนดไว้จำนวน 400,000 บาท โดยควรพิจารณาถึงค่าครองชีพ อัตราเงินเฟ้อ จำนวนนักศึกษาแพทย์ที่ไม่เข้ารับราชการหรือทำงานตามที่กำหนดไว้ในสัญญาว่ามีมากน้อยพียงใด
สำนักงานปลัดกระทรวงสาธารณสุขจึงได้ขอถอนร่างสัญญาการเป็นนักศึกษาเพื่อศึกษาวิชาแพทยศาสตร์จากการพิจารณาของสำนักงานอัยการสูงสุด เพื่อนำมาพิจารณาปรับปรุงแก้ไข และต่อมาเมื่อวันที่ 26 กรกฎาคม 2561 กระทรวงสาธารณสุขโดยคณะกรรมการพิจารณาจัดสรรนักศึกษาแพทย์ผู้ทำสัญญาการเป็นนักศึกษาแพทย์ ซึ่งมีนายเจษฎา โชคดำรงสุข ปลัดกระทรวงสาธารณสุข เป็นประธานคณะกรรมการ ได้พิจารณาเห็นชอบและอนุมัติให้กำหนดค่าปรับชดใช้ทุนของนักศึกษาแพทย์ผู้ผิดสัญญาเป็นจำนวน 2,500,000 บาท
โดยใช้หลักการการคิดอัตราเงินเฟ้อ และค่าปรับคิดจากการลงทุนโครงการ CPIRD/โครงการปกติ ปีละ 300,000 บาท ต่อคนต่อปี จำนวน 6 ปี เท่ากับ 1,800,000 บาท และงบลงทุนที่สนับสนุนให้กับคณะแพทยศาสตร์ จำนวน 700,000 บาท
ซึ่งในขณะนี้เรื่องเพิ่มค่าปรับนักศึกษาแพทย์ ผู้ผิดสัญญาอยู่ระหว่างการรอบรรจุวาระเข้าพิจารณาในคณะรัฐมนตรีต่อไป
ที่มา มติชนออนไลน์