“ไทย-โสมขาว” จับมือทลายขบวนการล่อลวงสาวไทยค้าประเวณีเกาหลีใต้

เมื่อวันที่ 19 สิงหาคม น.ส.บุษฎี สันติพิทักษ์ อธิบดีกรมสารนิเทศและโฆษกกระทรวงการต่างประเทศกล่าวถึงกรณีข่าวกรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) จับกุมขบวนการหลอกสาวไทยไปค้าบริการที่เกาหลีใต้เมื่อวันที่ 17 สิงหาคมว่า ทีมงานของดีเอสไอได้เดินทางไปเกาหลีใต้ เมื่อวันที่ 18-23 กรกฏาคมที่ผ่านมา เพื่อร่วมหารือกับสถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงโซล และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องของเกาหลีใต้เพื่อหาข้อมูลและหลักฐาน ซึ่งนำไปสู่การจับกุมขบวนการค้ามนุษย์ในรูปแบบของการหลอกหญิงไทยมาค้าบริการตามที่ปรากฏเป็นข่าว

น.ส.บุษฎีกล่าวว่า เมื่อเดือนกรกฎาคมที่ผ่านมา ได้มีการประชุมหารือด้านการกงสุลไทย-เกาหลี ครั้งที่ 3 โดยมีนายชาตรี อรรจนานันท์ รองอธิบดีกรมการกงสุล รักษาราชการแทนอธิบดีกรมการกงสุลเป็นหัวหน้าคณะผู้แทนไทยและ นายคิม วันจอง อธิบดีกรมกิจการชาวเกาหลีโพ้นทะเลและการกงสุล เป็นหัวหน้าคณะผู้แทนเกาหลีใต้ ที่ประชุมได้ให้ความสำคัญกับการจัดการขบวนการหลอกหญิงไทยมาค้าประเวณีเป็นอย่างมาก โดยตกลงที่จะมีความร่วมมือที่เป็นรูปธรรมที่จะจัดตั้งกลไกการหารือระดับคณะทำงานระหว่างหน่วยงานตรวจคนเข้าเมืองไทยกับกระทรวงยุติธรรมเกาหลีใต้ในระดับผู้ปฏิบัติ เพื่อหารือรายละเอียดเกี่ยวกับแนวทางการป้องกันและการคัดกรองคนเดินทาง ทั้งนี้เพื่อหามาตราการคุ้มครองผู้เดินชาวไทยที่ต้องการเข้ามาท่องเที่ยวในเกาหลีใต้โดยสุจริต รวมถึงจะเป็นกลไกสำคัญในการจัดการกับขบวนการนายหน้าของทั้งสองประเทศ ในการหลอกลวงคนไทยว่าสามารถจัดหางานให้ทำในเกาหลีใต้ได้ และโดยเฉพาะอย่างยิ่งในประเด็นการหลอกหญิงไทยมาค้าประเวณีในประเทศเกาหลีใต้ด้วย

โฆษกกระทรวงการต่างประเทศย้ำว่า ไทยและเกาหลีใต้มีความร่วมมือระหว่างกันอย่างดียิ่งในเรื่องการคุ้มครองดูแลคนชาติของแต่ละฝ่าย โดยที่ผ่านมาสถานเอกอัครราชทูตไทยได้ขอความร่วมมือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องของเกาหลีใต้ให้ความช่วยเหลือแก่นักศึกษาอาชีวะไทยจำนวน 8 รายที่ถูกหลอกมาทำงานในฟาร์มเกษตร และหญิงไทยจำนวน 5 รายที่ถูกกักขังหน่วงเหนี่ยวเพื่อค้าประเวณี โดยได้ลอบส่งจดหมายเพื่อของความช่วยเหลือออกจากสถานที่คาประเวณี ล่าสุดฝ่ายเกาหลีใต้ได้แจ้งความคืบหน้าในการดำเนินคดีต่อผู้กระทำความผิดและผู้เกี่ยวข้อง ซึ่งอัยการสูงสุดเกาหลีใต้ตกลงส่งฟ้องศาลทั้ง 2 คดีแล้ว

น.ส.บุษฎีกล่าวว่า จากสถิตของปี 2560 มีคนไทยพำนักอยู่ที่เกาหลีใต้มากกว่า 100,000 คน โดยเป็นผู้พำนักอย่างผิดกฎหมายสูงถึงเกือบ 6 หมื่นคน ซึ่งถือเป็นจำนวนชาวต่างชาติอันดับหนึ่งที่อยู่พำนักในเกาหลีใต้อย่างผิดกฎหมาย ซึ่งสถานเอกอัครราชทูตไทยได้พยายามประชาสัมพันธ์อย่างต่อเนื่องเพื่อให้แรงงานไทยที่ประสงค์จะเข้ามาทำงานในประเทศเกาหลีใต้ต้องเข้าระบบการจัดหางานอย่างถูกต้อง โดยต้องมีการสอบทักษะความพร้อมในการทำงาน ภาษา และสอบสัมภาษณ์ เพื่อจะสามารถทำงานได้อย่างถูกกฎหมาย และมีสวัสดิการประกันสังคม และการรักษาพยาบาลได้ ตลอดสัญญาการทำงานด้วย

 


ที่มา : มติชนออนไลน์