จากใจนักเขียนซีไรท์ ‘วินทร์ เลียววาริณ’ ถึง ‘ครูอาจินต์ ปัญจพรรค์’ เจ้าของเหมืองแร่แห่งโลกวรรณกรรม

เมื่อวันที่ 18 พฤศจิกายน นายสมชัย เลียววาริณ นักเขียนรางวัลซีไรท์ โพสต์ผ่านเฟซบุ๊กส่วนตัว “วินทร์ เลียววาริณ” ระบุข้อความว่า อาจินต์ ปัญจพรรค์ แนะนำคนอยากเป็นนักเขียนว่า งานเขียนมิใช่ทางแก้ปัญหาของชีวิต งานเขียนไม่ใช่ขอนไม้ที่ลอยไปให้ผู้โดนมรสุมชีวิตเกาะพยุงชีพ

ผมขอแนะนำว่าอย่าเป็นนักเขียนเพราะความทุกข์ร้อนเข็ญใจ จงอย่าเป็นนักเขียนเพราะต้องการความเมตตาสงสารจากใคร อักษรศิลปะเกิดจากดวงใจที่คร่ำครวญได้, แต่ร้อยบรรณาธิการผู้อารีรวมกันก็สร้างนักเขียนหนึ่งคนไม่ได้ จงเขียนด้วยใจรักงานเขียน เขียนด้วยความเพียร เขียนด้วยความทนทาน ความรักในการเขียนจะให้ศิลปะ ความเพียรให้ผลงาน ความทนทานให้พลังที่จะเดินทางไปข้างหน้าเมื่อได้เป็นนักเขียน”

อาจินต์ ปัญจพรรค์ เรียนหนังสือไม่จบรีไทร์จากมหาวิทยาลัย แล้วไปทำงานในเหมืองแร่ แต่ต่อมาเขากลายเป็นเจ้าของเหมืองที่ใหญ่กว่าเหมืองแร่ นั่นคือเหมืองแร่อักษร ผมพบเหมืองแร่แห่งนั้นครั้งแรกเมื่อเรียนชั้นมัธยมต้น ห้องสมุดโรงเรียนมีหนังสือรวมเรื่องสั้นชุดเหมืองแร่ อ่านด้วยความสนุกสนาน ทว่าเมื่อโตขึ้นก็อ่านเพื่อศึกษาวิธีการเขียน

เรื่องสั้นของครูอาจินต์ ปัญจพรรค์ ถือเป็นงานเขียนชั้นครู ภาษาที่ใช้สั้น กระชับ ชกตรงเป้า หากเป็นมือกระบี่ อาจินต์ ปัญจพรรค์ ก็เป็นจอมกระบี่แบบฉับไว กระบวนท่างดงามรวบรัด แทงตรงเข้าขั้วหัวใจ

ผมเรียนการเขียนงานเรื่องสั้นแบบหักมุมจบจากงานเขียนของครูอาจินต์ เรียนวิธีการใช้คำและภาษา ศึกษาการวางเรื่องและการลำดับ ลุยทะเลคน เป็นรวมเรื่องสั้นที่ผมอ่านซ้ำแล้วซ้ำเล่า เพื่อชำแหละกลวิธีการเขียน

หนังสือทุกเล่มของครูอาจินต์เป็นเหมืองแร่อย่างแท้จริง ในยุคนั้นเหมืองแร่ที่ครูอาจินต์ประจำอยู่ชื่อฟ้าเมืองไทย นิตยสารฟ้าเมืองไทยจัดเป็นมหาวิทยาลัยของนักเขียน หากงานใครได้เกิดที่นั่น ถือว่าใช้ได้ และมีนักเขียนใหม่จำนวนมากเกิดที่นั่น เจ้าของเหมืองอบรมสั่งสอนทุกคน

คำพูน บุญทวี หยก บูรพา ก็เกิดที่เหมืองแร่แห่งนั้น เวลานั้น คำพูน บุญทวี เป็นผู้คุม มีปัญหาเรื่องเงินทอง จึงเขียนหนังสือไปส่งที่เหมืองฟ้าเมืองไทย และด้วยการชี้แนะของครูอาจินต์ คำพูน บุญทวี ก็กลายเป็นนักเขียนซีไรต์คนแรก

ไม่เพียงสอนและชี้แนะนักเขียนใหม่ ในบั้นปลายชีวิต ครูอาจินต์ยังสอนเด็กวินมอเตอร์ไซค์ในซอยให้เขียนหนังสือ!

ผมเรียนการเขียนงานเรื่องสั้นแบบหักมุมจบจากงานเขียนของครูอาจินต์ เรียนการใช้คำและภาษา ศึกษาการวางเรื่องและการลำดับ และเรียนการใช้ชีวิต

ผมไม่เคยคิดว่าจะได้พบตัวจริงของครูอาจินต์ จนเมื่อหัดคลานเตาะแตะในโลกหนังสือ จึงมีโอกาสพบพานหลายครั้ง ครูอาจินต์จับมือผมเหมือนญาติสนิทที่รู้จักกันมาสักห้าสิบปี คุยกันอย่างสนิทสนม

แกชอบเรื่องสั้น เช็งเม้งของผม เจอหน้ากันทีไร ก็คุยถึงเรื่องนี้ นักอ่านที่ไปงานหนังสือ หากได้พบครูอาจินต์ ย่อมรู้ดีว่าแกคุยกับนักอ่านทุกคนเหมือนญาติ คุยกันนานจนแถวยาวเหยียด

ครูอาจินต์ ปัญจพรรค์ เคยบอกว่า นักเขียนน่าจะหางานประจำสักงาน แล้วเขียนหนังสือเป็นงานไซด์ไลน์ เพราะนักเขียนอาชีพในประเทศนี้ลำบาก ในหัวใจของผม อาจินต์ ปัญจพรรค์ เป็นทั้งครู ญาติน้ำหมึก รู้สึกรักสนิทใจทุกครั้งที่พบพาน

เช่นเดียวกับนักเขียนไทยรุ่นครูทุกคนที่ผมรู้จัก ครูอาจินต์เป็นนักเขียนสูงสุดคืนสู่สามัญไม่ถือตัว โลกนี้มีเหมืองวรรณกรรมจำนวนไม่น้อย แต่มีเจ้าของเหมือง เช่น อาจินต์ ปัญจพรรค์ เพียงคนเดียว วันนี้เจ้าของเหมืองจากไปแล้ว แต่เหมืองแร่วรรณกรรมที่ครูอาจินต์ทิ้งไว้เบื้องหลังยังเปี่ยมด้วยสินแร่ รอให้คนรุ่นหลังไปขุด

 

 

 

ที่มา มติชนออนไลน์