พบตู้น้ำหยอดเหรียญในเมืองนนท์ 30% ไม่ผ่านเกณฑ์คุณภาพ จี้ท้องถิ่นเร่งออกข้อบัญญัติควบคุม

นายภานุ แย้มศรี ผู้ว่าราชการจังหวัดนนทบุรี เปิดเผยว่า จากการประชุมร่วมกับนายแพทย์วัฒนา โรจนวิจิตรกุล นายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดนนทบุรี และรองนายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดนนทบุรี ผู้อำนวยการหรือผู้แทนจากสำนัก กองสาธารณสุขและสิ่งแวดล้อม ขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นทุกแห่งในจังหวัดนนทบุรี และเจ้าหน้าที่ผู้เกี่ยวข้อง เพื่ออบรมผู้ดูแลและเฝ้าระวังคุณภาพน้ำบริโภคจากตู้น้ำดื่มอัตโนมัติขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น โดยพบว่าปัจจุบันย่านธุรกิจ ย่านชุมชน หอพัก มีการติดตั้งตู้น้ำดื่มอัตโนมัติหยอดเหรียญเป็นจำนวนมาก เพราะเป็นที่นิยมของประชาชน เนื่องจากน้ำดื่มหยอดเหรียญหาซื้อได้ง่าย และประหยัดกว่าการซื้อน้ำดื่มบรรจุขวดที่จำหน่ายตามร้านค้า แต่จากข้อมูลสถานการณ์คุณภาพน้ำบริโภคประเทศไทย จนถึงปี 2559 โดยสำนักสุขาภิบาลอาหารและน้ำ พบว่ายังมีตู้น้ำดื่มอัตโนมัติจำนวนมากที่มีคุณภาพไม่ผ่านเกณฑ์ ซึ่งตัวชี้วัดที่ไม่ผ่านเกณฑ์ ได้แก่ สี ความขุ่น ความเป็นกรด ด่าง และแบคทีเรีย สำหรับจังหวัดนนทบุรีในปี พ.ศ. 2559 – 2560 ได้มีการสุ่มตรวจโดยใช้ชุดทดสอบภาคสนาม พบว่ามีการปนเปื้อนโคลิฟอร์มแบคทีเรีย ร้อยละ 30 อันแสดงให้เห็นว่ายังมีปัญหาด้านคุณภาพของน้ำดื่มจากตู้น้ำดื่มอัตโนมัติฯ ซึ่งหากไม่มีการควบคุมอาจก่อให้เกิดปัญหาส่งผลกระทบต่อสุขภาพของประชาชน และเป็นสาเหตุของโรคระบบทางเดินอาหาร เช่น โรคอุจจาระร่วง โรคบิด โรคไทฟอยด์ โรคไวรัสตับอักเสบเอ อาหารเป็นพิษ

นายแพทย์วัฒนา โรจนวิจิตรกุล นายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดนนทบุรี กล่าวว่า ขณะนี้ข้อมูลจำนวนเครื่อง ตู้หยอดเหรียญน้ำดื่ม ในจังหวัดนนทบุรียังไม่ทราบว่ามีจำนวนเท่าไรแน่ น่าจะมีหลายพันตู้ เพราะจากที่สุ่มตรวจประมาณ 500 ตู้พบไม่ได้มาตรฐานถึง 30% และกิจการตู้น้ำดื่มถือเป็นกิจการที่เป็นอันตรายต่อสุขภาพซึ่งเป็นอำนาจหน้าที่ของท้องถิ่นต่างๆ จึงได้แจ้งให้ท้องถิ่นต่างๆไปดำเนินการออกข้อบัญญัติมาครบคุม และให้ผู้ประกอบการมาขออนุญาตให้ถูกต้อง หากไม่ผ่านเกณฑ์ก็ให้ปรับปรุงจนกว่าจะผ่านเกณฑ์แล้วจึงออกใบอนุญาตให้

นายแพทย์วัฒนากล่าวว่า จากการประชุมคณะกรรมการสาธารณสุขจังหวัดนนทบุรี ครั้งที่ 1/2561 เมื่อวันที่ 5 กันยายน 2561 ที่ประชุมจึงได้มีมติให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นทุกแห่ง ได้ดำเนินการดูแลและเฝ้าระวังคุณภาพน้ำบริโภคจากตู้น้ำดื่มอัตโนมัติ สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดนนทบุรี จึงได้จัดการประชุมอบรมเพื่อเสริมสร้างความรู้ความเข้าใจให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นได้มีแนวทางในการดูแลและเฝ้าระวังคุณภาพน้ำบริโภคจากตู้น้ำดื่มอัตโนมัติฯในพื้นที่รับผิดชอบ

 

ที่มา : มติชนออนไลน์