ร้อง ปปป.อธิบดีดีเอสไอ-ผอ.กองคดีการเงิน ผิด ม.157 ยึดทรัพย์มูลนิธิวัดธรรมกาย

ชาวพุทธพลังแผ่นดินร้อง ปปป. ดำเนินคดี อธิบดีดีเอสไอ และ ผอ.กองคดีการเงิน ปฏิบัติหน้าที่มิชอบ ม.157 กรณียึดทรัพย์มูลนิธิวัดธรรมกาย

เมื่อวันนที่ 6 ธันวาคม ที่กองบังคับการป้องกันปราบปรามการทุจริตและประพฤติมิชอบ (บก.ปปป.) กลุ่มชาวพุทธพลังแผ่นดิน นำโดย นายจรูญ วรรณกสิณานนท์, นาวาเอกพิเศษวินัย เสวกวิ, ทนายพงค์นรินทร์ อมรรัตนา พร้อมด้วยเครือข่ายองค์กรชาวพุทธอื่นๆ ร่วมกันไปยื่นเรื่องร้องเรียนต่อ พล.ต.ต.วิวัฒน์ ชัยสังฆะ ผบก.ปปป เพื่อแจ้งข้อกล่าวหาต่อ พ.ต.อ.ไพสิฐ วงศ์เมือง อธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษ และ พ.ต.ท.ปกรณ์ สุชีวกุล ผอ.กองคดี การเงินการธนาคารและการฟอกเงิน กรมสอบสวนคดีพิเศษ กรณีแจ้งข้อกล่าวหาฟอกเงิน และอายัดทรัพย์สินของวัดพระธรรมกายโดยมิชอบ

นายจรูญกล่าวว่า ตามที่อธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษ หรือดีเอสไอ ได้แจ้งข้อกล่าวหาวัดพระธรรมกายด้วยข้อหาฟอกเงินจากเงินรับบริจาคนั้น เป็นการตั้งข้อหาโดยมิชอบ ไม่เป็นไปตาม พ.ร.บ.การฟอกเงิน พ.ศ.2558 ที่มิได้บัญญัติว่า เงินที่ได้รับจากการบริจาคถือเป็นความผิดฐานฟอกเงินตามพระราชบัญญัติดังกล่าว จึงเป็นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ ตามมาตรา 157 และการปฏิบัตินั้นยังเข้าข่ายเป็นการเพื่อจะแกล้งผู้หนึ่งผู้ใดให้ได้รับโทษหนักขึ้น อันเป็นความผิดตามมาตรา 200 อีกด้วย

นายจรูญกล่าวต่อว่า นอกจากนี้ พ.ต.อ.ไพสิฐ ได้มีการเสนออัยการฟ้องศาลให้ยึดทรัพย์สินและอายัดอาคารสถานที่อันเป็นสมบัติของวัดพระธรรมกายนั้น เป็นการปฏิบัติฝ่าฝืนพระราชบัญญัติคณะสงฆ์ พ.ศ.2505 แก้ไขเพิ่มเติม พ.ศ.2535 มาตรา 34 วรรคสอง “ห้ามมิให้บุคคลใดยกอายุความขึ้นต่อสู้กับวัด หรือกรมการศาสนา แล้วแต่กรณีในเรื่องทรัพย์สินอันเป็นที่วัด ที่ธรณีสงฆ์ หรือที่ศาสนสมบัติกลาง” และมาตรา 35 “ที่วัด ที่ธรณีสงฆ์ และที่ศาสนสมบัติกลาง เป็นทรัพย์สินซึ่งไม่อยู่ในความรับผิดแห่งการบังคับคดี”

“และยังเป็นการเข้าข่ายผิดกฎหมายรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย ปี 2560 มาตรา 67 ที่กำหนดว่า รัฐพึ่งอุปถัมภ์และคุ้มครองพระพุทธศาสนา อันเป็นศาสนาที่ประชาชนชาวไทยส่วนใหญ่นับถือ และต้องมีมาตรการและกลไกในการป้องกันมิให้มีการบ่อนทำลายพระพุทธศาสนาไม่ว่าในรูปแบบใด การกระทำของ พ.ต.อ.ไพสิฐ จึงเข้าข่ายฐานบ่อนทำลายพระพุทธศาสนาในรูปแบบการทำลายโดยใช้กฎหมายในการทำลายอีกด้วย” นายจรูญกล่าวและว่า พ.ต.อ.ไพสิฐ ละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ ซึ่งเมื่อวันที่ 27 กุมภาพันธ์ ปี2560 กลุ่มชาวพุทธพลังแผ่นดินได้แจ้งข้อกล่าวหากลุ่มบุคคล กรณีเก็บเงินฮาลาลผิดกฎหมาย ต่ออธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษ โดยมีการเรียกเก็บเงินจากผู้ประกอบการไม่ผ่านนายทะเบียน ตาม พ.ร.บ.เครื่องหมายการค้า พ.ศ.2534 เข้าข่ายเป็นอาชญากรทางธุรกิจ สร้างความเสียหายต่อประเทศชาติและประชาชนอย่างกว้างขวาง แต่กรมสอบสวนคดีพิเศษได้แจ้งว่า ได้ตรวจพิจารณาแล้ว ไม่ปรากฏว่า มีการกระทำผิดอาญาเกิดขึ้น จึงมีคำสั่งยุติการสืบสวน แม้ตอนหลังทางกลุ่มผู้ร้องได้ยื่นเรื่อง ขอให้ทบทวนและขอให้เปลี่ยนตัวพนักงานสอบสวน พร้อมเอกสารคำขอจดทะเบียนเครื่องหมายฮาลาล แบบ ก.01 คำขอเลขที่ 372520 ระบุชนิดสินค้า 2 ชนิด คือ บะหมี่สำเร็จรูป และ น้ำปลา แต่กลุ่มผู้กระทำความผิดได้นำเครื่องหมายนั้นแอบอ้างต่อสาธารณชนและผู้ประกอบการเพื่อให้ติดตราดังกล่าว เป็นเหตุให้สินค้าจำนวนมากในประเทศไทย มีการติดตราสัญลักษณ์ฮาลาล ทำให้ผู้ผลิตสูญเสียเงินจำนวนมาก และต้องบวกต้นทุนขึ้นกับผู้บริโภคอีกต่อหนึ่ง

“การที่ พ.ต.อ.ไพสิฐ วินิจฉัยว่า ไม่พบการกระทำความผิด จึงเป็นการละเว้นการปฏิบัติหน้าที่ เพื่อช่วยเหลือมิให้ผู้มีส่วนเกี่ยวข้องได้รับโทษ จึงเป็นการละเว้นการปฏิบัติต่อหน้าที่ตามมาตรา 157 และการละเว้นการปฏิบัตินั้น เข้าลักษณะเพื่อจะช่วยเหลือกลุ่มผู้กระทำความผิดมิให้ต้องรับโทษ เข้าข่ายความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 200 ด้วย นอกจากนี้ ยังเข้าข่ายเป็นการฝ่าฝืนพระราชบัญญัติการอำนวยความสะดวกในการพิจารณาอนุญาตของทางราชการ พ.ศ.2558 ตามมาตรา 8 และ ตามมาตรา 13 ด้วย” นายจรูญกล่าว

 


ที่มา : มติชนออนไลน์