“บิ๊กอู๋”ชูวันสต็อปเซอร์วิสEEC แก้ปมแรงงานขาด14,000คน

พลตำรวจเอกอดุลย์ แสงสิงแก้ว รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน(แฟ้มภาพ)

อีอีซีขาดแคลนแรงงาน 14,000 คน อุตสาหกรรมยานยนต์สมัยใหม่ นำโด่ง “บิ๊กอู๋” ชู 4 แนวทางแก้ปม ดึงเอกชนร่วม สั่งตั้งศูนย์พิเศษบริการวันสต็อปเซอร์วิสที่ชลบุรี ผลิตบุคลากรป้อน 10 อุตฯ เป้าหมาย ชี้ระยะยาวต้องมีกฎหมายรองรับ

 

พลตำรวจเอกอดุลย์ แสงสิงแก้ว รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า เมื่อเร็ว ๆ นี้ได้สำรวจแรงงานในพื้นที่โครงการเขตพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก หรือ EEC (Eastern Economic Corridor) เพื่อจัดทำฐานข้อมูลแรงงานที่มีอยู่ในปัจจุบัน และประมาณการความต้องการแรงงานในสาขาต่าง ๆ ของ 10 อุตสาหกรรมเป้าหมายของสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (BOI) ในพื้นที่โครงการ EEC จาก 3 จังหวัดคือ ชลบุรี, ระยอง และฉะเชิงเทรา รวมทั้งสิ้น 37,296 แห่ง มีจำนวนแรงงานรวมกว่า 1.5 ล้านคน

EEC ขาดแรงงาน 14,000 คน

“พบว่ายังขาดแคลนแรงงานอีกราว 14,000 คน โดยเฉพาะในสถานประกอบการ 1,000 แห่งใน 10 อุตสาหกรรมเป้าหมายยังคงขาดแคลนแรงงานฝีมืออีกกว่า 3,000 คน โดยมีกลุ่ม “ยานยนต์สมัยใหม่” จาก 124 สถานประกอบการต้องการแรงงานที่มีทักษะเพิ่มเติมมากที่สุดถึง 969 คน รองลงมาคือกลุ่มอิเล็กทรอนิกส์อัจฉริยะรวม 681 คน และกลุ่มการบินและโลจิสติกส์รวม 506 คน

จากผลสำรวจดังกล่าว กระทรวงแรงงานจึงโฟกัสเรื่องการเตรียมแรงงานเพื่อรองรับ และเพื่อเพิ่มความคล่องตัวในส่วนที่เกี่ยวข้องกับ 4 เรื่องหลักคือ 1) จัดตั้งศูนย์บริหารแรงงานเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (EEC Labour Admin-istration Centre) ในพื้นที่สถาบันพัฒนาฝีมือแรงงาน 3 บริเวณจังหวัดชลบุรี เพื่อให้บริการและเพิ่มความคล่องตัวในการอนุญาตทำงานให้กับผู้บริหาร ช่างฝีมือ และผู้ชำนาญการตามกฎหมายของสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (BOI) สนับสนุนการขับเคลื่อนการพัฒนาพื้นที่อีอีซีให้เป็นระบบ มีประสิทธิภาพ และสร้างความมั่นใจให้กับนักลงทุนในด้านความพร้อมของคนทำงาน 2) บูรณาการศูนย์บริหารแรงงานฯ ให้ทำงานร่วมกันใน 3 ส่วนสำคัญคือ นายจ้าง, สถานประกอบการ และสถานศึกษา 3) วางแผนการผลิตและพัฒนาแรงงานร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้งรัฐและเอกชน ด้วยการจัดทำข้อตกลงความร่วมมือเชื่อมโยง แลกเปลี่ยนข้อมูล big data เพื่อวางแผนผลิต และพัฒนากำลังคน พร้อมทั้งยกระดับมาตรฐานวิชาชีพ และทักษะของผู้เรียนหรือผู้สำเร็จการอาชีวะให้ได้ตามมาตรฐานและ 4) พัฒนาทักษะฝีมือแรงงาน และผู้ที่จะเข้าสู่ตลาดแรงงานรองรับอีอีซีโดยเฉพาะ

“ศูนย์ดังกล่าวเสมือนเป็นการย่อส่วนหลายหน่วยงานให้มาอยู่ในที่เดียวกัน ทั้งยังนำเทคโนโลยีเข้ามาช่วยด้วย เช่น ระบบ big data ในการช่วยวิเคราะห์และวางแผนรองรับ ดังนั้น สิ่งที่เห็นภาพชัดเจนในปี 2562 นี้ นอกจากจะมีแรงงานและผู้ที่จบการศึกษาประมาณ 40,000 คนเข้าสู่ตลาดแรงงาน จะต้องผลักดันต้นทางของการพัฒนาคนทำงานคือ กระทรวงศึกษาธิการ พัฒนาหลักสูตรให้สอดรับกับความต้องการของอีอีซี”

ขอออกกฎหมายพิเศษคุมพื้นที่

พลตำรวจเอกอดุลย์กล่าวเพิ่มเติมว่าสิ่งที่กระทรวงแรงงานค่อนข้างกังวลในขณะนี้คือ ศูนย์บริหารแรงงานเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออกใช้อำนาจการบริหารจัดการภายใต้กระทรวงแรงงาน รัฐมนตรีว่าการกระทรวง และปลัดกระทรวงในการสั่งการ แต่ในทางปฏิบัติยังมีหลายขั้นตอนที่เกี่ยวข้องกับกระทรวง และหน่วยงานรัฐอื่น ๆ อีก เช่นกระทรวงศึกษาธิการ, กระทรวงอุตสาหกรรม และบีโอไอ ซึ่งในอนาคตควรมี “กฎหมายเฉพาะ” กำกับดูแล และให้อำนาจการตัดสินใจในการดำเนินการต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้อง

หากพิจารณาจากกรอบอำนาจหน้าที่แล้ว กระทรวงแรงงานจะต้องดูแลคุ้มครองแรงงาน จัดระบบสวัสดิการ และอื่น ๆในขณะที่กระทรวงศึกษาธิการต้องดูแลหลักสูตรการเรียนการสอนของสถานศึกษาต่าง ๆ ฉะนั้น แนวทางคืออาจจะตั้งระดับผู้อำนวยการศูนย์ขึ้นมาเพื่อบริหารและสั่งการ

พลตำรวจเอกอดุลย์กล่าวย้ำอีกว่า จากความพยายามของรัฐบาลในการส่งเสริมให้มีการลงทุนในอีอีซี ส่งผลให้นักลงทุนทั้งในและต่างประเทศให้ความสนใจที่จะเข้ามาลงทุนในพื้นที่อีอีซีมากขึ้น รวมถึงสิทธิประโยชน์ทางภาษีที่ค่อนข้างดึงดูดความสนใจ ทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้องจะเร่งเตรียมความพร้อมให้ทันต่อการลงทุนของภาคเอกชน

รายงานจากระทรวงแรงงานระบุว่า สำหรับศูนย์บริหารแรงงานเขตพัฒนาพิเศษฯ มีภารกิจหลัก 4 ด้านคือ หนึ่ง การบริหารงาน จับคู่ตำแหน่งงานว่าง หรือjob matching การรับลงทะเบียนและสัมภาษณ์เบื้องต้น การแนะแนวทดสอบความพร้อมทางอาชีพ สอง โดยให้บริการตรวจลงตรา และอนุญาตทำงาน เป็นการทำงานร่วมกันระหว่างกรมการจัดหางาน และสำนักงานตรวจคนเข้าเมือง เพื่อให้บริการแก่ผู้บริหาร ช่างฝีมือ ผู้ชำนาญ ตามกฎหมายของ BOI การนิคมอุสาหกรรมแห่งประเทศไทย (กนอ.) และการปิโตรเลียม สาม การเพิ่มทักษะฝีมือแรงงานให้สอดรับกับความต้องการของตลาดแรงงานใน10 อุตสาหกรรมเป้าหมาย และสี่ ให้ความคุ้มครองแรงงานและสิทธิประโยชน์จากประกันสังคม

ยานยนต์สมัยใหม่ต้องการ 1,000 อัตรา


ทั้งนี้สำหรับ 10 อุตสาหกรรมเป้าหมายในพื้นที่อีอีซี ประกอบด้วยยานยนต์สมัยใหม่ ต้องการแรงงานเพิ่ม 969 อัตรา, อิเล็กทรอนิกส์อัจฉริยะ ต้องการแรงงานเพิ่ม 681 อัตรา, ท่องเที่ยวกลุ่มรายได้ดีและการท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ ต้องการแรงงานเพิ่ม 323 อัตรา, แปรรูปอาหาร ต้องการแรงงานเพิ่ม 496 อัตรา, การบินและโลจิสติกส์ ต้องการแรงงานเพิ่ม 506 อัตรา, เชื้อเพลิงและเคมีชีวภาพ ต้องการแรงงานเพิ่ม 66 อัตรา, ดิจิทัล ต้องการแรงงานเพิ่ม 25 อัตรา, การแพทย์ครบวงจร ต้องการแรงงานเพิ่ม 33 อัตรา ในขณะที่หุ่นยนต์และการเกษตร-เทคโนโลยีชีวภาพ ยังไม่ได้แจ้งเสนออัตรากำลังคนที่ต้องการเพิ่ม