บอร์ด อภ.ไม่หวั่นปัญหาสิทธิบัตร อนุมัติงบเร่งด่วน 10 ล้านปลูกกัญชาจริง ม.ค.62

เมื่อวันที่ 15 ธันวาคม นพ.โสภณ เฆมธน ประธานกรรมการองค์การเภสัชกรรม (บอร์ด อภ.) ให้สัมภาษณ์ถึงการประชุมบอร์ด อภ.เมื่อวันที่ 14 ธันวาคมที่ผ่านมา ซึ่งมีวาระการพิจารณาเรื่องโครงการผลิตสารสกัดต้นแบบกัญชาทางการแพทย์ ว่า จากปัญหากัญชาของกลางที่ปนเปื้อนสารเคมีจนไม่สามารถนำมาใช้ทางการแพทย์ได้ จึงเห็นว่าจะต้องดำเนินการปลูกเอง ซึ่งแบ่งเป็นการปลูกระยะเร่งด่วน ระยะการปลูกและผลิตสารสกัดในระดับกึ่งอุตสาหกรรม และการดำเนินการในระดับอุตสาหกรรม ซึ่งในการประชุมบอร์ด อภ.ได้พิจารณาการดำเนินการในระยะเร่งด่วนและระยะกึ่งอุตสาหกรรม โดยได้เห็นชอบอนุมัติใช้งบสำรองกรณีจำเป็นเร่งด่วนปีงบประมาณ 2562 จำนวน 10 ล้านบาท ซึ่ง อภ.มีอยู่แล้ว ในการดำเนินการปรับปรุงและติดตั้งระบบเพาะปลูกกัญชา ซึ่งจะดำเนินการที่บริเวณชั้น 2 อาคารผลิตภัณฑ์ธรรมชาติ โรงงานผลิตยารังสิต

นพ.โสภณกล่าวว่า นอกจากนี้ยังเห็นชอบในการใช้งบลงทุนเพิ่มเติมกลางปี 2562 ในการปรับปรุงอาคารและติดตั้งระบบเพาะปลูกปรับปรุงพันธุ์กัญชาทางการแพทย์ รวมไปถึงค่าควบคุมงานและเรื่องความปลอดภัยตามมาตรฐานของสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) จำนวนรวมเกือบ 130 ล้านบาท ซึ่งจะต้องทำหนังสือขอความเห็นชอบไปยังสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ หรือสภาพัฒน์ ซึ่งจะเร่งดำเนินการส่งหนังสือขอความเห็นชอบเร็วที่สุด ส่วนระยะที่ 3 หรือระดับอุตสาหกรรมนั้น ได้ให้ไปศึกษาความเป็นไปได้ในการทำระดับอุตสาหกรรม ซึ่ง อภ.มีพื้นที่ 1,500 ไร่ที่ อ.หนองใหญ่ จ.ชลบุรี ถ้ามีความต้องการถึงระดับนี้เราก็จะได้เตรียมการ ซึ่งหากพิจารณากฎหมายยาเสพติดที่จะออกมาบังคับใช้ ในบทเฉพาะกาลจะให้เวลาดำเนินการ 5 ปี โดยไม่ให้ต่างชาติเข้ามาลงทุน โดยให้หน่วยงานรัฐหรือเอกชนที่ร่วมกับรัฐในการลงทุนดำเนินการเรื่องกัญชาทางการแพทย์ เพราะการสร้างโรงงานก็ต้องใช้เวลา 2-3 ปี กว่าจะปลูกและสกัดเป็นยาเพื่อให้ได้รายได้กลับเข้ามาต้องใช้เวลา ถ้าเปิดเลยให้ต่างชาติเข้ามาลงทุนทันที เราก็ไม่ทันเขา

นพ.วิฑูรย์ ด่านวิบูลย์ ผู้อำนวยการองค์การเภสัชกรรม (อภ.) กล่าวว่า สำหรับระยะเร่งด่วนที่จะปลูกได้ คาดว่าอย่างเร็วคือปลายเดือนมกราคม 2562 หรืออย่างช้าก็ต้นเดือนกุมภาพันธ์ 2562 ซึ่งต้องใช้เวลาในการปลูกแต่ละรอบประมาณ 10 สัปดาห์ ซึ่งเมื่ออนุมัติงบประมาณแล้วก็ดำเนินการปรับปรุงสถานที่เพื่อให้สามารถดำเนินการปลูกได้ทันที ส่วนในการของบกลางจากสภาพัฒน์ ก็จะทำหนังสือถึงสภาพัฒน์ให้ได้ภายในธันวาคมนี้

เมื่อถามถึงเรื่องคำขอสิทธิบัตรกัญชาจะเป็นปัญหาหรือไม่ นพ.โสภณกล่าวว่า ขณะนี้ อภ.ทำหนังสือส่งไปถามทางกรมทรัพย์สินทางปัญญาแล้ว แต่ยังไม่ได้รับคำตอบ แต่ที่เรายังต้องเดินหน้าต่อ เพราะว่ามิเช่นนั้นจะไม่มียาให้ชาวบ้านใช้ เป็นความรับผิดชอบที่เราต้องสกัดน้ำมันกัญชาให้ใช้ได้ ถ้าดูจากกฎหมาย สารสกัดจากพืชไม่มีใครมีสิทธิบัตร และ อภ.ก็เอากัญชามาปลูกมาพัฒนาสายพันธุ์มาสกัด ซึ่งออกมาเป็นอย่างไรก็ใช้แบบนั้นเลย ไม่ได้ออกมาแล้วไปเลียนแบบเขาหรือสูตรเขา ซึ่งเราก็ไม่รู้ผิดหรือไม่ผิด แต่ถ้าฟ้องขึ้นมาก็ลำบาก แต่ก็มั่นใจว่า ปลูกแล้วสกัดเป็นน้ำมันกัญชาเลยน่าจะได้ ไม่มีปัญหาอะไร

ผศ.วิเชียร กีรตินิจกาล อาจารย์คณะเกษตร มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ กล่าวว่า เรื่องขอจดสิทธิบัตรกัญชาจากสารธรรมชาติไม่น่ากังวล เพราะกฎหมายไม่ให้อยู่แล้ว ตามมาตรา 5, 6 และ 9 ของ พ.ร.บ.สิทธิบัตร แต่ที่กังวลคือ ต่างประเทศมีบางบริษัททำจากสารสังเคราะห์กัญชา ซึ่งกัญชามีสารแคนาบินอยด์ทั้งหมด 144 ตัว สามารถสังเคราะห์ได้ 90 กว่าตัวแล้ว อนาคตจะสามารถทำยาราคาถูกจนน่ากังวล เพราะเป็นการทำในห้องทดลอง ไม่ต้องปลูกพืช เพียงแค่ใช้ยีสต์ในการทำ เราถึงต้องการให้กรมทรัพย์สินทางปัญญาเปลี่ยนแปลงกฎหมาย โดยห้ามจดสิทธิบัตรสารสังเคราะห์ที่เหมือนสารในธรรมชาติ ต้องไม่ให้สิทธิบัตร เพราะมีผลต่อความสงบเรียบร้อยในประเทศ เราต้องมองการณ์ไกล กัญชาไทยต้องรักษาไว้ให้คนไทยที่มีมาแต่โบราณ การจดสารสังเคราะห์ที่เลียนแบบจากธรรมชาติเลยเราไม่ควรให้ แต่การออกกฎหมายไม่ให้จดก็ขึ้นกับดุลพินิจของรัฐบาล ซึ่งควรมีคำตอบอย่างรวดเร็วเพื่อเดินหน้าไปได้ ส่วนที่ยื่นขออยู่ตอนนี้ส่วนใหญ่เป็นสารธรรมชาติก็ต้องไม่ให้ด้วยเช่นกัน

 

 

ที่มา : มติชนออนไลน์