กรมอุตุฯ ชี้แจง ข่าวลือพายุปลาบึกจะเข้าสู่อ่าวไทย และภาคใต้

ตามที่สื่อสังคมออนไลน์ได้มีการแพร่ลือข่าวเรื่องพายุจะเข้าสู่อ่าวไทย ภาคใต้และเคลื่อนลงทะเลอันดามันนั้น ได้มีการนำแบบจำลองสภาพอากาศจากคอมพิวเตอร์ มาคาดการณ์การเกิดพายุหมุนเขตร้อนล่วงหน้า โดยระบุว่าจะมีพายุเกิดขึ้นในบริเวณทะเลจีนใต้แล้วจะเคลื่อนเข้าสู่อ่าวไทยและภาคใต้ และพายุนี้จะมีความรุนแรงทำให้คลื่นสูงมากถึง 8 เมตร โดยความเร็วลมก่อนจะขึ้นฝั่งภาคใต้ฝั่งตะวันออกตอนล่างถึง 140
กิโลเมตร/ชั่วโมงหลังจากนั้นพายุนี้จะเคลื่อนลงทะเลอันดามันนั้น

กรมอุตุนิยมวิทยามีข้อแนะนำแก่ประชาชนและชี้แจงดังนี้ คือการเกิดหย่อมความกดอากาศต่ำในช่วงของฤดูหนาวแถวทะเลจีนใต้ตอนล่างใกล้กับเกาะบอเนียวนั้น ส่วนใหญ่จะเกิดขึ้นเป็นประจำเมื่อมีระลอกของอากาศหนาวหรือบริเวณความกาศสูงกำลังแรงจากประเทศจีนได้แผ่ขยายลงมาปกคลุมประเทศไทยและทะเลจีนใต้ อาจทำให้เกิดหย่อมความกดอากาศต่ำบริเวณเกาะบอเนียว ซึ่งอาจจะเคลื่อนตัวเข้าสู่อ่าวไทยและภาคใต้ได้ โดยเป็นเพียงหย่อมความกดอากาศต่ำกำลังแรงหรืออาจจะพัฒนาเป็นดีเปรสชันได้ ซึ่งในการพยากรณ์พายุหมุนเขตร้อนนั้น เพื่อให้ข้อมูลมีความถูกต้องมากที่สุด นอกจากอาศัยแบบจำลองทางคณิตศาสตร์แล้ว ยังต้องวิเคราะห์ปัจจัยอื่นๆประกอบด้วย เช่น อุณหภูมิผิวน้ำทะเล ความกดอากาศบริเวณศูนย์กลาง ลมในหลายระดับ ซึ่งทางกรมอุตุนิยมวิทยา ได้เฝ้าติดตามการเกิดพายุตลอดเวลาไม่ได้นิ่งนอนใจ แต่ต้องปฏิบัติงานให้ถูกต้อง บนพื้นฐานหลักวิชาการ และขอให้เชื่อมั่นว่าทางกรมอุตุนิยมวิทยาจะสามารถเตือนภัยได้ทันเหตุการณ์อย่างแน่นอน

จากการคาดการณ์ของกรมอุตุนยมวิทยา ในช่วงวันที่ 31 ธันวาคม – 1 มกราคม 2562 มีหย่อมความกดอากาศต่ำกำลังแรงปกคลุมบริเวณทะเลจีนใต้ตอนล่าง คาดว่าจะเคลื่อนผ่านบริเวณปลายแหลมญวนเข้าสู่อ่าวไทยในช่วงวันที่ 2-3 มกราคม 2562 และจะเคลื่อนผ่านภาคใต้ลงทะเลอันดามันในช่วงวันที่ 3-5 มกราคม 2562 ลักษณะเช่นนี้ทำให้ภาคใต้มีฝนตกหนักถึงหนักมากบางแห่ง สำหรับคลื่นลมบริเวณอ่าวไทย
และทะเลอันดามันจะมีกำลังแรง โดยบริเวณอ่าวไทยมีคลื่นสูง 2-3 เมตร ส่วนทะเลอันดามันมีคลื่นสูงประมาณ 2 เมตร

กรมอุตุนิยมวิทยาและหน่วยงานต่าง ๆ ได้มีการประชุม วิเคราะห์ข้อมูล และติดตามสถานการณ์ร่วมกันอย่างต่อเนื่อง ดังนั้นจึงขอให้ประชาชน ติดตามข้อมูลการพยากรณ์อากาศและการแจ้งเตือนภัยจากหน่วยราชการเท่านั้น ในการประกาศแจ้งเตือนจะมีรายละเอียด วันและเวลาที่แน่นอน และขอให้อย่าได้ตื่นตะหนกจากข้อมูลที่ไม่ได้มาจากผู้ทำงานรับผิดชอบโดยตรง หรือการส่งต่อกันตามสื่อออนไลน์ต่าง ๆ และสามารถ
สอบถามข้อมูลได้ที่สายด่วน 1182 และหมายเลขโทรศัพท์ 0 2399 4012-3 ได้ตลอด 24 ชั่วโมง หรือที่เว็บไซต์กรมอุตุนิยมวิทยา https://www.tmd.go.th/