มาแน่! โซนร้อน “ปาบึก” เข้าภาคใต้ เตรียมรับมือฝนตกหนักถึงหนักมาก ชุมพร-ประจวบ-เพชรบุรี ระวัง

มาแน่! ภาคใต้เตรียมรับมือโซนร้อนปาบึก ฝนตกหนักถึงหนักมาก จับตาชุมพร-ประจวบฯ-เพชร เตรียมตั้งศูนย์วิเคราะห์สถานการณ์ 24 ชั่วโมง ย้ำไม่แรงเท่าไต้ฝุ่นเกย์

จากกรณีกรมอุตุนิยมวิทยา แจ้งเตือนประชาชนให้เฝ้าระวังอันตรายจากพายุ ”ปาบึก” (PABUK) ที่ทวีกำลังแรงขึ้นเป็นพายุโซนร้อน และได้เคลื่อนตัวเข้าสู่อ่าวไทย ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อพื้นที่ภาคใต้ช่วงวันที่ 3-5 มกราคม ทำให้บริเวณดังกล่าวมีฝนเพิ่มมากขึ้น และมีฝนตกหนักถึงหนักมากบางแห่งนั้น

เมื่อเวลา 10.30 น. วันที่ 2 มกราคม ที่สำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สนทช.) อาคารจุฑามาศ ถ.วิภาวดีรังสิต นายสำเริง แสงภู่วงศ์ รองเลขาธิการ สนทช. ประชุมพร้อมคณะทำงานศูนย์เฉพาะกิจชั่วคราวในภาวะวิกฤต เพื่อติดตามเฝ้าระวัง วิเคราะห์สภาพน้ำ การเคลื่อนตัวของพายุและแนวโน้มการเกิดอุทกภัยจากอิทธิพลของพายุโซนร้อนปาบึก โดยประชุมเป็นเวลานาน 1 ชั่วโมง

โดยในที่ประชุมได้เปิดเผยถึงรายงานคาดการณ์ความเร็วลมของพายุปาบึกจากต่างประเทศ ว่าในขณะนี้อยู่ที่ 50 กิโลเมตรต่อชั่วโมง แต่ในวันที่ 3-4 มกราคมเมื่อพายุเข้าสู่อ่าวไทย ก่อนขึ้นสู่ฝั่งจะมีกำลังลมแรงสูงสุด 90 กิโลเมตรต่อชั่วโมง และจะลดกำลังลงในวันที่ 5 มกราคมต่อไป

อย่างไรก็ดี ศูนย์เฉพาะกิจชั่วคราวในสภาวะวิกฤตได้ประเมินสถานการณ์น้ำจากอิทธิพลพายุลูกนี้ที่จะทำให้เกิดฝนตกหนักถึงหนักมากในพื้นที่ภาคใต้ ระหว่างวันที่ 3-5 มกราคมนี้ คาดการณ์ว่า บริเวณจังหวัดสุราษฎร์ธานี, พัทลุง, สงขลา, ปัตตานี, ยะลา, นราธิวาส, กระบี่, ตรัง, สตูล, ระนอง และนครศรีธรรมราช โดยต้องเฝ้าระวังที่ ชุมพร, ประจวบคีรีขันธ์, และเพชรบุรี เป็นพิเศษ ซึ่งจะมีปริมาณน้ำฝนสูงประมาณ 200-300 มิลลิเมตร ส่งผลให้ปริมาณน้ำในอ่างเก็บน้ำและในแม่น้ำเพิ่มขึ้นฉับพลัน

สำหรับรายงานปริมาณน้ำในอ่างเก็บในภาคใต้ที่ต้องเฝ้าระวังมีด้วยกันทั้งหมด 3 แห่ง ที่ปริมาณมากกว่า 80 เปอร์เซ็นต์ คือ แก่งกระจาน, ปราณบุรี และรัชชประภา รวมทั้งอ่างขนาดกลางอีก 19 แห่ง

นายสำเริงกล่าวว่า ที่ประชุมได้คาดการณ์ว่าทิศทางของพายุจะเข้าสู่อ่าวไทย และมีผลกับชายฝั่งตั้งแต่วันที่ 3 มกราคมนี้เป็นต้นไป และจะมีฝนตกหนักในวันที่ 4-5 มกราคมนี้ ก่อนจะเบาบางลงในวันที่ 6 มกราคม ซึ่งผลสรุปจากที่ประชุมระบุว่า ในวันพรุ่งนี้จะเริ่มตั้งศูนย์วิเคราะห์และประเมินสถานการณ์ที่กรมบรรเทาและป้องกันสาธารณะภัย (ปภ.) จ.สุราษฏร์ธานี เพื่อประชุมและพูดคุยแลกเปลี่ยนข้อมูลกันตลอด 24 ชั่วโมง ไปจนกว่าสภาวะดังกล่าวจะบรรเทาลงไป

เมื่อถามว่า พายุปาบึกจะสามารถพัฒนาความรุนแรงได้เทียบเท่าไต้ฝุ่นเกย์หรือไม่นั้น นายสำเริงกล่าวว่า จากการวิเคราะห์แล้วคาดว่าไม่ถึงขั้นนั้น แต่ยังถือเป็นพายุโซนร้อนที่มีความรุนแรง ซึ่งอาจสร้างความเสียหายกับสิ่งปลูกสร้างบริเวณชายฝั่งได้มากพอสมควร

“ที่ผ่านมาเคยมีเหตุน้ำล้นสปริงเวย์ที่อ่างแก่งกระจาน และอ่างปราณบุรี จึงได้รายงานให้เจ้าหน้าที่กรมชลประธาน การไฟฟ้าส่วนผลิต และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเร่งพร่องน้ำ และแจ้งเตือนประชาชนโดยเร็ว ส่วนเรื่องดินถล่มก็ได้แจ้งให้ศูนย์ ปภ. จัดตั้งหน่วยเฝ้าระวังภัยแล้ว” รอง เลขาฯ สนทช. กล่าวและว่า ขอให้เฝ้าระวังน้ำท่วม น้ำป่าไหลหลาก น้ำเอ่อล้นตลิ่ง ดินโคลนถล่มและคลื่มลมแรงซัดชายฝั่งซึ่งจะมีความสูงประมาณ 3-5 เมตร จึงขอให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องพิจารณาบริหารจัดการน้ำเพื่อรองรับภาวะฝนตกหนัก รวมทั้งประกาศแจ้งเตือนประชาชนในพื้นที่อาจได้รับผลกระทบทราบกันต่อไป

 

ที่มา : มติชนออนไลน์