สธ.เตือน 3 กลุ่มโรคระวังสุด “ฝุ่นพิษ” ส่วนมาตรการ กม. มอบท้องถิ่นออกประกาศแล้ว

เมื่อวันที่ 23 มกราคม ที่ศูนย์ปฏิบัติการด้านการแพทย์และสาธารณสุข (EOC) กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) นพ.ปิยะสกล สกลสัตยาทร รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข พร้อมด้วย นพ.สุขุม กาญจนพิมาย ปลัดกระทรวงสาธารณสุข พญ.พรรณพิมล วิปุลากร อธิบดีกรมอนามัย นพ.สุวรรณชัย วัฒนายิ่งเจริญชัย อธิบดีกรมควบคุมโรค แถลงข่าวการเฝ้าระวัง ดูแลสุขภาพประชาชนในสถานการณ์ฝุ่นขนาดเล็ก PM2.5

นพ.ปิยะสกล กล่าวว่า ขณะนี้กระทรวงสาธารณสุข ได้เฝ้าระวังดูแลสุขภาพประชาชนมาอย่างใกล้ชิดและต่อเนื่อง แนะนำวิธีการป้องกันตนเอง จัดทีมแพทย์ลงพื้นที่ให้ความรู้แก่ประชาชนในการปฏิบัติตนและการป้องกันตนเองรวมทั้งแจกหน้ากาก โดยเฉพาะผู้ที่ปฏิบัติงานกลางแจ้ง เช่น ตำรวจจราจร แม่ค้าริมถนน คนงานก่อสร้าง โดยเฉพาะอย่างยิ่งในพื้นที่ที่มีค่าเฉลี่ยประจำวันสูงเกิน 90 ไมโครกรัม/ลูกบาศก์เมตร (สีแดง) ต้องเน้นให้ป้องกันตนเองให้มากขึ้น โดยสวมหน้ากากที่เหมาะสม โดยใส่ให้ถูกวิธีแนบกับสนิทกับใบหน้า เมื่อเสร็จสิ้นภารกิจให้อาบน้ำให้สะอาด ในกลุ่มเสี่ยง ได้แก่ เด็กและผู้สูงอายุ และผู้ที่มีโรคประจำตัว ควรหลีกเลี่ยงการทำกิจกรรมนอกอาคาร ปิดประตูหน้าต่างให้มิดชิด ดื่มน้ำสะอาดให้เพียงพอ สังเกตอาการ หากมีอาการผิดปกติ เช่น ไอบ่อย หายใจลำบาก เจ็บหน้าอก แน่นหน้าอก ให้รีบพบแพทย์ ควรเตรียมยาและอุปกรณ์ช่วยเหลือให้พร้อม ในการติดตามสถานการณ์ประจำวันประชาชนสามารถใช้แอปพลิเคชั่น Air4Thai ของกรมควบคุมมลพิษ และเว็บไซต์กรมอนามัย www.anamai.moph.go.th ในหัวข้อภัยสุขภาพจากฝุ่นละอองขนาดเล็ก PM2.5

นพ.ปิยะสกล กล่าวต่อว่า นอกจากนี้ ล่าสุดยังให้กรมการแพทย์ โดย รพ.นพรัตนราชธานี ตั้งคลินิกมลพิษขึ้น บริเวณชานเมืองด้วย ในการเฝ้าระวังกลุ่มโรคที่เสี่ยง ซึ่งขณะนี้ได้มอบให้กรมควบคุมโรคเฝ้าระวังการเพิ่มขึ้นของผู้ป่วยใน 3 โรค ได้แก่ โรคหอบหืด ถุงลมโป่งพอง หลอดเลือดหัวใจเฉียบพลัน ซึ่งตัวเลขผู้ป่วยไม่ได้เพิ่มขึ้นในลักษณะมาจากฝุ่นละออง เนื่องจากปกติอากาศเย็นก็จะมีกลุ่มโรคเหล่านี้ โดยเฉพาะหอบหืด ก็จะพบได้ อย่างไรก็ตาม สธ.ได้เฝ้าระวังอย่างต่อเนื่อง จึงไม่อยากให้ตี่นตระหนกกันมาก แต่ให้ตระหนักในการดูแลตัวเอง ส่วนในเรื่องของมาตรการทางกฎหมายนั้น ที่หลายคนอาจเข้าใจว่ากระทรวงสาธารณสุขมีอำนาจในการออกกฎเกณฑ์ต่างๆ ต้องชี้แจงว่า ในเรื่องของสาธารณสุข จะมี พ.ร.บ.การสาธารณสุข พ.ศ.2535 เกี่ยวกับมาตรการควบคุมกรณีเกิดเหตุรำคาญ หรือมีผลต่อสุขภาพ อย่างที่ผ่านมา มีเรื่องไข้เลือดออกและจำเป็นต้องตัดวงโคจรลูกน้ำยุงลาย ก็สามารถออกมาตรการให้ประชาชนในบ้านเรือนกำจัดลูกน้ำยุงลาย แต่มาตรการนี้จะมอบอำนาจให้ท้องถิ่นดำเนินการ ซึ่งหากในพื้นที่ กทม. ก็จะเป็นอำนาจของผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ส่วนในเรื่องของฝุ่นละอองนั้น ก็จะมีลักษณะเดียวกัน แต่ไม่ใช่ว่ากระทรวงสาธารณสุขจะเป็นผู้ไปจัดการ

ด้าน พญ.พรรณพิมล วิปุลากร อธิบดีกรมอนามัย กล่าวว่า ในเรื่องของการใช้ พ.ร.บ.การสาธารณสุข พ.ศ.2535 ได้มอบอำนาจให้ท้องถิ่นดำเนินการ อย่างเรื่องฝุ่นละออง ขณะนี้ ทางกรุงเทพมหานครได้ออกประกาศห้ามเผาขยะในที่โล่งแจ้งแล้ว ส่วนเรื่องควันดำจากรถยนต์นั้น ใน พ.ร.บ.การสาธารณสุขฯ จะไม่สามารถใช้ได้ เพราะกฎหมายสาธารณสุขจะเป็นเรื่องเฉพาะพื้นที่ แต่เรื่องรถที่ปล่อยควันดำต่างๆ นั้น จะเป็นกฎหมายจราจร ซึ่งจะมีข้อบังคับอยู่ นอกจากนี้ กรมอนามัยได้ออกมาตรการ 8 ข้อ สำหรับโรงเรียนอนุบาล และศูนย์เด็กเล็กต่างๆ ดังนี้ 1.ติดตามสถานการณ์ฝุ่นละอองขนาดเล็ก pm 2.5 ตามช่องทางต่างๆ 2.เลี่ยงการทำกิจกรรมนอกอาคาร ในช่วงที่ฝุ่นละอองอยู่ในระดับสีเขียว ตั้งแต่ 26-37 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร 3.ให้เด็กดื่มน้ำให้เพียงพอ 6 แก้วต่อวัน 4.ดูแลเด็กที่มีโรคประจำตัวอย่างใกล้ชิด หากมีอาการผิดปกติ เช่น ไอบ่อย หายใจลำบาก หายใจไม่ออก แน่หน้าอกให้รีบพบแพทย์ 5.ขอความร่วมมือผู้ปกครอง จอดรถนอกโรงเรียน ถ้าจำเป็นต้องเข้ามาให้ดับเครื่องยนต์ขณะจอด 6.ปลูกต้นไม้ดักฝุ่น 7.งดกิจกรรมก่อฝุ่นละอองขนาดเล็ก เช่น เผาใบไม้ ขยะ 8.ขอความร่วมมือร้านอาหารในโรงเรียน งดการทำอาการปิ้งย่าง โดยเตาไร้ควัน

 

 


ที่มา : มติชนออนไลน์