‘มท.’ยกปัญหาขยะวาระแห่งชาติ สถ.สั่งอปท.ยึดหลักประชารัฐจัดการ

เมื่อวันที่ 4 กุมภาพันธ์ ที่หอประชุม ศ.สังเวียน อินทรวิชัย ชั้น 7 ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย นายสุทธิพงษ์ จุลเจริญ อธิบดีกรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น(สถ.) ร่วมงานเสวนาวิชาการ เรื่อง “20 ปี ปัญหาขยะประเทศไทยหมดไป ด้วยกลไกตลาดทุน” โดยมีพล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย(มท.) กล่าวเปิดงาน และมีดร. ชัยวัฒน์ วิบูลย์สวัสดิ์ ประธานกรรมการตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย กล่าวต้อนรับ จากนั้นมีการเสวนาพิเศษร่วมกับน.ส.นฤภัทร อมรโฆษิต เลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน และนายวัฒนพงษ์ คุโรวาท รองผู้อำนวยการสำนักนโยบายและแผนพลังงาน มีนายประพนธ์ วงษ์ท่าเรือ ผู้ตรวจราชการกระทรวงพลังงาน เป็นผู้ดำเนินการเสวนา

นายสุทธิพงษ์ กล่าวถึงปัญหาขยะของประเทศไทยว่า ปัญหานี้ถือเป็นวาระของชาติ ที่พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ได้มอบหมายให้มท.เป็นหน่วยงานหลัก ในการขับเคลื่อนให้เกิดผลเป็นรูปธรรม ซึ่งพล.อ.อนุพงษ์ ได้ดำเนินการขับเคลื่อนโดยมีการกำหนดแผนปฏิบัติการจัดการขยะมูลฝอยชุมชน “จังหวัดสะอาด” ขึ้น นโยบายด้านการบริหารจัดการสิ่งแวดล้อมและขยะมูลฝอยแบบยั่งยืนขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) ตามบริบทของแต่ละพื้นที่ ต้องเริ่มจากภายในหน่วยงาน เพื่อการเป็นแบบอย่างที่ดีก่อนถ่ายทอดนโยบายสู่ประชาชน โดยให้ อปท. สร้างรูปแบบการจัดการขยะที่เหมาะสมกับบริบทพื้นที่ ภายใต้หลัก”ประชารัฐ” เป็นการสร้างความรับผิดชอบและการมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วน โดยเฉพาะภาคประชาชน ด้วยการถ่ายทอดความรู้ การปลูกฝังจิตสำนึก การสร้างกลุ่มเครือข่ายเพื่อการเฝ้าระวังและรักษ์สิ่งแวดล้อม เพราะสิ่งที่สำคัญที่สุดที่ทุกคนต้องตระหนักรู้นั่นคือ คน เป็นผู้ก่อให้เกิดขยะ ดังนั้น การเสริมสร้างจิตสำนึกในตัวเรา คือจุดเริ่มต้นที่ดี ที่จะ Change for Good เปลี่ยนเพื่อสิ่งที่ดีกว่า เพื่อโลกของเราที่น่าอยู่มากยิ่งขึ้น โดยนำหลักการ 3Rs หรือ 3ช : Reduce (ใช้น้อย) Reuse (ใช้ซ้ำ) และ Recycle (นำกลับมาใช้ใหม่) ไปใช้เป็นแนวทางในการจัดการขยะต้นทาง โดยเฉพาะอย่างยิ่งทำการคัดแยกขยะเศษอาหารหรือขยะเปียกออกจากขยะทั่วไป และยังมี “แผนรณรงค์ แยกก่อนทิ้ง” ที่มุ่งเน้นให้ทุกคนร่วมสร้างจิตสำนึกในการคัดแยกขยะตั้งแต่ต้นทาง ให้เกิดการรับรู้และการมีส่วนร่วมในการจัดการขยะในครัวเรือน ให้หมู่บ้าน / ชุมชนมีการจัดการและคัดแยกขยะตามประเภทได้อย่างถูกต้อง อปท. ทุกแห่งมีการจัดทำสัญลักษณ์แยกประเภทขยะ และให้มีการจัดเตรียมถังขยะในพื้นที่สาธารณะให้ครบอย่างน้อย 2 ประเภท (ขยะทั่วไป – ถังสีน้ำเงิน และขยะรีไซเคิว – ถังสีเหลือง) ทั้งยังให้อปท. ทุกแห่งมีการประกาศกำหนดวันเวลาในการเก็บขนขยะแยกตามประเภทด้วย

นายสุทธิพงษ์ กล่าวต่อว่า สำหรับอีกหนึ่งในหนทางการแก้ไขที่สามารถทำได้ทันที คือ การจัดทำถังขยะอินทรีย์หรือถังขยะเปียกประจำครัวเรือนและชุมชนให้ได้มากที่สุด ซึ่งดร.ปฤถา พรหมเลิศ นายกสมาคมแม่บ้านมหาดไทย ได้มีดำริให้จัดทำ “ถังขยะอินทรีย์หรือถังขยะเปียกครัวเรือน” เริ่มจากจวนผู้ว่าราชการจังหวัดเป็นลำดับแรก และขยายผลไปยังส่วนราชการต่างๆ โดยกรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่นได้สานต่อแนวทางดังกล่าวต่อไปยังสถานศึกษา โรงเรียน และศูนย์พัฒนาเด็กเล็กในสังกัด อปท. และศูนย์การเรียนรู้ในชุมชน รวมไปถึงครัวเรือนของข้าราชการ ผู้บริหาร อปท. ครัวเรือนสมาชิกสภา อปท. ครัวเรือนกำนัน ผู้ใหญ่บ้าน ผู้นำชุมชน และครัวเรือนของพี่น้องประชาชน เพื่อคัดแยกขยะอินทรีย์หรือขยะเปียกครัวเรือน ไปใช้ประโยชน์ในการจัดทำปุ๋ย สำหรับปลูกพืชชนิดต่างๆ ซึ่งกรมฯ มีเป้าหมายให้ทุกครัวเรือนมีถังขยะเปียกให้ครบ 100% ภายในเดือนเมษายน 2562 นี้

อธิบดีสถ. กล่าวอีกว่า ล่าสุดสถ.ได้ร่วมกับจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย องค์การบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจก ชมรมแม่บ้านกรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น ชมรมแม่บ้านท้องถิ่นไทยจังหวัด และสภาสตรีแห่งชาติ ในพระบรมราชินูปถัมภ์ จัดทำโครงการวิจัยการประเมินและรับรองผลการบริหารจัดการขยะเศษอาหาร ตามแนวทางการทำถังขยะเปียกในการช่วยลดสภาวะโลกร้อนโดยเทียบเท่าการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก โดยได้มีการดำเนินการวิเคราะห์อัตราการเกิดขยะเศษอาหารต่อคนต่อวันของคนไทย โดยลงพื้นที่ 5 จังหวัด ซึ่งเป็นตัวแทนภูมิภาค ได้แก่ ภาคเหนือจังหวัดลำพูน ภาคกลางจังหวัดลพบุรี ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ จังหวัดเลย และจังหวัดยโสธร และภาคใต้จังหวัดสงขลา โดยเก็บตัวอย่างวัดปริมาณขยะจริงของครัวเรือนที่ร่วมโครงการ รวมถึงเก็บตัวอย่างในศูนย์พัฒนาเด็กเล็ก และโรงเรียนในสังกัดองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นด้วย เป็นเวลา 1 เดือน เพื่อให้ได้ค่าเฉลี่ยอัตราการเกิดขยะเศษอาหารที่สามารถใช้เป็นข้อมูลอ้างอิงของกรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น ในการลดภาระการบริหารจัดการขยะของส่วนรวมและสร้างมูลค่าเพิ่มจากสารปรับปรุงดินที่ได้จากการหมักขยะเศษอาหารในถังขยะเปียก ในอนาคตการจัดทำถังขยะเปียกครัวเรือนสามารถประเมินปริมาณก๊าซเรือนกระจกที่ลดลงได้จากการดำเนินโครงการถังขยะเปียก ลดโลกร้อน หากได้รับการขึ้นทะเบียนรับรองเพื่อพัฒนาคาร์บอนเครดิต (Carbon Credit) โดยองค์การบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจก (องค์การมหาชน) สำเร็จ ก็จะสามาถมีรายได้ในอนาคตกลับคืนสู่ชุมชนอย่างแน่นอน

“ขอฝากให้ผู้บริหารและทุกท่านในสังคมได้เข้าใจร่วมกันว่า ไฟฟ้าจากขยะไม่ใช่ธุรกิจ แต่เป็นการช่วยรักษาโลกให้มีอายุยืนยาว เป็นเรื่องสิ่งแวดล้อม เป็นเรื่องของความรับผิดชอบร่วมกันของทุกคนที่ทำให้เกิดขยะ เราต้องช่วยกันจ่ายค่ากำจัดขยะผ่านค่าไฟฟ้า ซึ่ง อปท. ทั้ง 7,852 แห่ง รวม กทม. สามารถเก็บค่ากำจัดขยะจากทุกครัวเรือนได้ถึงเดือนละ 102 บาท ซึ่งเป็นอัตราที่พอเพียงต่อการกำจัดขยะ แต่ในความจริงแล้ว ก็ยังไม่มี อปท.ไหนเก็บได้ในอัตรานั้น”นายสุทธิพงษ์ กล่าว

 

 

 

ที่มา มติชนออนไลน์