ผู้เเทน”กก.สิ่งแวดล้อมฯ-นายกฯ-ผู้ว่าฯกทม.”ขึ้นแถลงศาลไต่สวนฟ้องละเลยแก้ฝุ่นจิ๋ว

เมื่อเวลา10.00 น.วันที่ 7 กุมภาพันธ์ ที่ศาลปกครองกลาง ถ.แจ้งวัฒนะ ศาลนัดไต่สวนครั้งแรก เพื่อพิจารณาคำขอกำหนดมาตรการบรรเทาทุกข์ชั่วคราว หลังจากที่ “สมาคมต่อต้านสภาวะโลกร้อน” และ “ประชาชนพักอาศัยเขตจัตุจักร-บางเขน-ลาดพร้าว” ที่ได้รับผลกระทบจากปัญหาฝุ่นละอองขนาดเล็กเกินมาตรฐาน รวม 5 ราย ร่วมกันยื่นฟ้อง คณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ , นายกรัฐมนตรี และผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร เป็นผู้ถูกฟ้องที่ 1-3 เมื่อวันที่ 17 ม.ค.ที่ผ่านมา ข้อพิพาทเรื่องละเลยต่อการปฏิบัติหน้าที่ ตามพ.ร.บ.ส่งเสริมและรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ พ.ศ. 2535 จนเกิดวิกฤตการณ์ สะสมของฝุ่นละอองขนาดเล็ก หรือ PM 2.5 เป็นเหตุให้ประชาชนจำนวนมากเจ็บป่วยและก่อปัญหาด้านสุขภาพตามมามากมาย

โดยคำร้องขอให้ศาลปกครองกลาง กำหนดมาตรการบรรเทาทุกข์ชั่วคราว 2 ข้อ ให้สั่ง “นายกรัฐมนตรี” ผู้ถูกฟ้องที่ 2 ใช้อำนาจตาม พ.ร.บ.ส่งเสริมและรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ มาตรา 9 สั่งการให้ส่วนราชการที่เกี่ยวข้อง ร่วมกันควบคุม ระงับ หรือบรรเทาอันตราย และความเสียหายที่เกิดจากปัญหาฝุ่นละอองดังกล่าวอย่างทันท่วงทีภายใน 3 วันนับแต่ศาลมีคำสั่ง และให้ “นายกฯ” สั่งการให้ ผู้ว่าราชการจังหวัดทุกจังหวัด ยึด “กำแพงเพชรโมเดล” เป็นตัวอย่างในการแก้ไขปัญหาฝุ่นละอองในอากาศ ด้วยการสั่งห้ามเผาไร่อ้อยเพื่อเก็บเกี่ยวผลผลิต , ห้ามเผาซังนาข้าวหลังเก็บเกี่ยวอย่างเด็ดขาดนั้น

ซึ่งวันนี้ “นายเถลิงศักดิ์ เพ็ชรสุวรรณ” รองอธิบดีกรมควบคุมมลพิษ (คพ.) และ “นายพันธ์ศักดิ์ ถิรมงคล” ผอ.จัดการคุณภาพอากาศและเสียง คพ. เป็นผู้แทนรับมอบอำนาจจากผู้ถูกฟ้องที่ 1-2 มาให้ถ้อยคำต่อศาล ส่วนผู้ว่าฯ กทม.ผู้ถูกฟ้องที่ 3 ก็มีนิติกร ผู้แทนมาร่วมแถลง

ขณะที่ “นายศรีสุวรรณ จรรยา” นายกสมาคมต่อต้านสภาวะโลกร้อน ผู้ฟ้อง ก็เดินทางมาศาลร่วมการไต่สวนด้วย ซึ่งศาลใช้เวลาไต่สวนสอบถามผู้แทนฝ่ายผู้ถูกฟ้องทั้งสาม 2 ชั่วโมงจึงเสร็จสิ้น

ภายหลัง “นายศรีสุวรรณ” นายกสมาคมต่อต้านสภาวะโลกร้อน กล่าวว่า การเรียกไต่สวนวันนี้เป็นครั้งแรกนับจากที่ตนและชาวบ้านยื่นฟ้องเมื่อวันที่ 17 ม.ค. โดยก่อนหน้านี้ศาลให้ฝ่ายผู้ถูกฟ้องทำให้การยื่นเข้ามาภายใน 30 วัน แต่ฝ่ายผู้ถูกฟ้องได้ขอขยายระยะเวลาอีก ซึ่งตนในฐานะผู้ฟ้อง จึงได้ยื่นคำร้องต่อศาลอีกเมื่อวันที่ 23 ม.ค.ที่ผ่านมาว่าสถานการณ์ยังน่าเป็นห่วง ศาลจึงได้เรียกฝ่ายผู้ถูกฟ้องมาไต่สวนในวันนี้ อย่างไรก็ดีในการไต่สวนศาลได้ห้ามคู่ความทั้ง 2 ฝ่ายนำเอกสารหลักฐานที่ยืนในการไต่สวนออกมาแสดงหรือสัมภาษณ์เกี่ยวกับข้อมูลการไต่สวนคดี โดยวันนี้การไต่สวนทั้งสองฝ่ายก็ได้เสร็จสิ้นแล้วแต่ศาลยังไม่ได้กำหนดวันนัดฟังคำสั่ง การพิจารณาคำขอกำหนดมาตรการบรรเทาทุกข์ดังกล่าวซึ่งคาดว่าน่าจะใช้เวลาอีกสักระยะหนึ่งซึ่งศาลก็จะต้องตรวจดูข้อมูลที่ได้รับเพิ่มเติมจากคู่ความทั้งสองฝ่ายในวันนี้ว่าเพียงพอที่จะวินิจฉัยแล้วหรือไม่

เมื่อถามถึงบรรยากาศการไต่สวน “นายศรีสุวรรณ” นายกสมาคมต่อต้านสภาวะโลกร้อน ได้กล่าวว่า ในส่วนของตนและผู้ฟ้อง ได้นำเอกสารหลักฐานการเก็บข้อมูลตรวจสภาพอากาศหลังจากวันที่ยื่นฟ้องเมื่อ 17 ม.ค. มายื่นเพิ่มเติมด้วยโดยเน้นในพื้นที่กทม. และปริมณฑลบางส่วน ซึ่งค่าสภาพอากาศยังไม่ได้มีความเปลี่ยนแปลงลดลงไปมาก

ขณะที่วันนี้ฝ่ายผู้แทนของผู้ถูกฟ้อง ก็ได้ยืนยันการปฏิบัติตามมาตรการ 9 ข้อของนายกรัฐมนตรี และได้อ้างถึงมติคณะรัฐมนตรี ซึ่งตนก็ได้อธิบายและชี้แจงให้ศาลเห็นว่า มาตรการที่ฝ่ายรัฐได้อ้างว่าเรียกผู้ประกอบการก่อสร้างรถไฟฟ้ามาพูดคุยเพื่อให้ปฏิบัติตาม มาตรการ 9 ข้อนั้นยังไม่เห็นเป็น Action Plan ที่เป็นรูปธรรม อย่างไรก็ดีหลังจากต้องรอฟังคำสั่งจาก ก็คาดว่า 2-3 อาจจะมีความคืบหน้า

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า สำหรับคดีนี้ นอกจากคำขอกำหนดมาตรการบรรเทาทุกข์ดังกล่าวแล้ว ในคำฟ้อง ก็มีคำขอท้ายฟ้อง ขอให้ศาลสั่ง “ผู้ว่า กทม.” ออกมาตรการที่เป็นรูปธรรมในแก้ปัญหาการแพร่กระจายฝุ่นละอองขนาดเล็ก พร้อมเพิ่มพื้นที่ปลูกต้นไม้เพื่อดูดซับฝุ่นพิษ และห้ามมีการตัดต้นไม้ที่มีอยู่บริเวณริมทางเท้า – ริมถนนโดยเด็ดขาด เว้นแต่เป็นการตัดแต่งเพื่อความสวยงาม หรือป้องกันอุบัติภัยเท่านั้น

 

ที่มา มติชนออนไลน์