กู้วิกฤตฝุ่นพิษ PM 2.5 รัฐบาลชู “โมเดลญี่ปุ่น” รีดภาษีรถเก่า

หลังที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) เมื่อวันที่ 5 ก.พ. 62 เห็นชอบ “แนวทางและมาตรการการแก้ไขปัญหาฝุ่นละอองขนาดเล็ก PM 2.5 ในกรุงเทพฯ และต่างจังหวัด” ตามที่คณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ ครั้งที่ 2/2562 (นัดพิเศษ) ซึ่ง พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี และ รมว.กลาโหม เป็นประธาน เสนอ โดยกำหนดแบ่งมาตรการดูแลเป็น 3 ระยะ คือ ระยะเร่งด่วน ระยะปานกลาง และระยะยาว มีเป้าหมายเพื่อ “สร้างอากาศดี เพื่อคนไทย และผู้มาเยือน” โดยวางกลไกให้แต่ละจังหวัดตั้งศูนย์ดำเนินการแก้ไขปัญหาฝุ่น PM 2.5 ระดับจังหวัด ขณะนี้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้งส่วนกลางและต่างจังหวัดกำลังเร่งแปรทุกมาตรการไปสู่การปฏิบัติ ให้การแก้ปัญหาฝุ่นพิษเห็นผลโดยเร็วที่สุด

 

คพ.เร่งแก้ฝุ่นพิษ PM 2.5 

นายประลอง ดำรงค์ไทย อธิบดีกรมควบคุมมลพิษ เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า การดำเนินการหลังจากที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) เมื่อวันที่ 5 ก.พ. มีมติเห็นชอบแนวทางและมาตรการแก้ไขปัญหาฝุ่นละอองขนาดเล็ก PM 2.5 ในกรุงเทพฯ และปริมณฑลแล้ว ทางกรมจะเร่งประสานหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทุกส่วนให้ดำเนินการตามแผน 3 ระยะ

โดยแผนระยะเร่งด่วนได้เตรียมแนวทางรับมือปัญหาฝุ่นพิษซึ่งมีโอกาสจะเพิ่มขึ้นในช่วงวันที่ 13-15 ก.พ.นี้ ตามแผนกำหนดให้ผู้ว่าราชการกรุงเทพฯ และจังหวัดที่เกี่ยวข้องสามารถใช้อำนาจกฎหมายที่เกี่ยวข้องสั่งการให้ปิดโรงเรียนเพื่อแก้ไขปัญหาฝุ่นใช้มาตรการเข้มข้นสกัดฝุ่นพิษโรงงาน

ขณะที่การดูแลโรงงานอุตสาหกรรมในพื้นที่กรุงเทพฯ 2,000 โรงงานนั้น ทางอธิบดีกรมโรงงานมีอำนาจในการตรวจสอบและกำหนดมาตรการเร่งด่วนตามกฎหมายของกรม โดยในช่วงที่ผ่านมาทางกรมโรงงานอุตสาหกรรมได้ขอความร่วมมือผู้ประกอบการโรงงานทั้งหมดให้ปิดดำเนินการเพื่อบิ๊กคลีนนิ่ง ในช่วงวันที่ 4-6 ก.พ. 2562 ซึ่งตรงกับเทศกาลตรุษจีนพบว่าโรงงานกว่า 50% หรือ 1,000 โรงงาน ในจำนวนทั้งหมด 2,000 โรงงาน นอกจากจะทำบิ๊กคลีนนิ่งแล้ว ยังเพิ่มมาตรการพิเศษ คือ ลดกำลังการผลิตลง 30% ในช่วงวันดังกล่าวด้วย ส่งผลให้ปัญหาฝุ่น PM 2.5 ลดลงอย่างรวดเร็ว ส่วนผลการปิดโรงงาน 600 โรงงาน ในพื้นที่ จ.สมุทรสาคร ได้ปรับปรุงและเริ่มกลับมาดำเนินการได้แล้วบางส่วน โดยดำเนินมาตรการป้องกันฝุ่นพิษจากโรงงานอย่างเข้มข้นต่อเนื่อง

ใช้โมเดล ตปท.บี้ภาษีรถเก่า 

ส่วนมาตรการระยะกลาง ขณะนี้ทางกรมการขนส่งทางบก กระทรวงคมนาคม และกระทรวงการคลัง จะพิจารณาจัดทำแนวทางและรูปแบบการเพิ่มภาษีรถยนต์เก่าว่าจะเพิ่มภาษีอย่างไรบ้าง โดยที่ผ่านมาหน่วยงานต่าง ๆ เห็นว่า แนวทางนี้เป็นแนวทางที่หลาย ๆ ประเทศดำเนินการอยู่ และจะทำให้ประชาชนได้รับความเดือดร้อนน้อยที่สุด หากเทียบกับการจำกัดวันคู่-วันคี่ ซึ่งอาจจะกระทบต่อการใช้ชีวิตของประชาชนกลุ่มที่มีรถยนต์ 1 คัน ทั้งนี้ คาดว่าหน่วยงานที่เกี่ยวข้องจะนำโมเดลของต่างประเทศ เช่น ญี่ปุ่น หรือประเทศอื่น ๆ มาปรับใช้ เพื่อให้สอดคล้องกับบริบทของประเทศไทย และไม่กระทบกับเศรษฐกิจภาพรวม

เดินหน้ามาตรการเร่งด่วน

ทั้งนี้ กรอบมาตรการแก้ปัญหาฝุ่นละออง PM 2.5 ที่ ครม.อนุมัติ ในส่วนของมาตรการระยะเร่งด่วน แบ่งเป็น 3 ขั้น คือ ขั้นเตรียมการ ช่วงเดือน ก.ย.-พ.ย.ของทุกปี ให้ทุกหน่วยงานเฝ้าระวัง และสร้างความเข้าใจ พร้อมทั้งตรวจสอบแหล่งกำเนิดมลพิษในพื้นที่ ขั้นปฏิบัติการช่วงเดือน มี.ค.-เม.ย.ของทุกปี ให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องหรือผู้มีอำนาจหน้าที่ปฏิบัติได้ทันตามการเคลื่อนไหวของสถานการณ์ฝุ่น ที่มีการเปลี่ยนแปลงแบ่งเป็น 4 ระดับ ตามแผนปฏิบัติการของกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม

คือ ระดับ 1 ค่าฝุ่นไม่เกิน 50 มคก./ลบ.ม., ระดับ 2 ค่าฝุ่นมากกว่า 50 มคก./ลบ.ม. ให้ผู้ว่าราชการจังหวัดเป็นผู้บัญชาการเพิ่มมาตรการตรวจสอบควันดำ ขยายผิวจราจร ปฏิบัติการทำฝนเทียม เป็นต้น ระดับ 3 ระดับฝุ่นไม่ลดลง ใหใช้กฎหมายที่มีอยู่เพื่อเข้าไปสั่งการตามกฎหมายควบคุมพื้นที่ แหล่งกำเนิด หรือสั่งการให้หยุดกิจกรรมใดที่ก่อให้เกิดเหตุรำคาญ ระดับที่ 4 ฝุ่นยังไม่ลดลงและมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น และขั้นฟื้นฟูหลังสถานการณ์กลับสู่ภาวะปกติช่วงเดือน พ.ค. ซึ่งกำหนดให้มีการประชุมถอดบทเรียน after action review (AAR)

โซนนิ่งจำกัดรถเข้าเมือง

มาตรการระยะกลาง ระหว่างปี 2562-2564 เน้นแก้ปัญหาที่สาเหตุหลัก เริ่มจากปี 2564 จะประกาศใช้มาตรฐานน้ำมันดีเซลให้มีค่ากำมะถันต่ำกว่า 10 pm หรือยูโร 5 จากปัจจุบันที่ใช้ยูโร 3 และ 4 ที่มีค่ากำมะถัน 50 pm และกำหนดให้มีการตรวจสอบและซ่อมบำรุงรถสม่ำเสมอ เพิ่มทางเลือกสัญจรให้ประชาชน พัฒนาโครงข่ายการให้บริการขนส่งสาธารณะ การเพิ่มภาษีรถยนต์เก่า ปรับระบบควบคุมมลพิษท้องถิ่นเป็น single command ขยายเครือข่ายตรวจสอบคุณภาพอากาศ การจัดโซนนิ่งจำกัดจำนวนรถเข้าเมืองในช่วงเวลาเร่งด่วน พัฒนาระบบเฝ้าระวัง ห้ามเผาขยะและเศษวัสดุ ป้องกันไฟป่า ควบคุมสารมีเทนจากกลั่นน้ำมัน เพิ่มประสิทธิภาพการกลั่น

ส่งซิก 13-15 ก.พ.เฝ้าระวัง

และสุดท้าย มาตรการระยะยาว ปี 2564-2570 เช่น เร่งการปรับใช้มาตรฐานยูโร 6 ภายในปี 2566 เร็วขึ้น 1 ปี พัฒนาโครงข่ายระบบขนส่งสาธารณะทุกระบบ กำหนดมาตรฐานระบายอากาศเสียจากโรงงานอุตสาหกรรม ส่งเสริมการใช้รถยนต์ไฟฟ้า สนับสนุนการใช้พลังงานสะอาด ให้การเผาในที่โล่งเป็นความผิดอาญาฯลฯ นอกจากนี้ได้ปรับค่าเฉลี่ยฝุ่นละอองขนาดเล็ก PM 2.5 ราย 24 ชม. ของใหม่ให้สอดคล้องกับที่องค์การอนามัยโลก (WHO) การห้ามนำเข้าเครื่องยนต์ที่ใช้แล้ว และศึกษาการติดอุปกรณ์ DPF (disesel partic-ulate filter)

อย่างไรก็ตาม กรมอุตุนิยมวิทยารายงานว่า ต้องเฝ้าระวังฝุ่นละอองเพิ่มขึ้น 2 ช่วงเวลา คือ วันที่ 7 ก.พ. และระหว่างวันที่ 13-15 ก.พ. เนื่องจากสภาพอากาศจะปิดและลมสงบอีกครั้ง โดยเฉพาะในพื้นที่ที่มีค่าสูงเกินมาตรฐาน

ส.อ.ท.หนุนห้ามนำเข้าเครื่องยนต์เก่า

ด้านนายสุรพงษ์ ไพสิฐพัฒนพงษ์ รองประธานและโฆษกกลุ่มอุตสาหกรรมยานยนต์ สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) กล่าวว่า เห็นด้วยกับมาตรการเรื่องการห้ามนำเข้าเครื่องยนต์เก่าใช้แล้ว เพื่อลดปัญหาฝุ่น PM 2.5 ส่วนมาตรการเพิ่มภาษีรถยนต์เก่ายังต้องรอพิจารณาความชัดเจนว่าจะเป็นอย่างไร

โดยปัจจุบันก็มีหลายประเทศที่ใช้มาตรการนี้ อย่างไรก็ตาม ทางกลุ่มมองว่ามาตรการทั้งสองยังไม่ได้ส่งผลดีกับตลาดรถยนต์ในประเทศ เพราะถึงจะเพิ่มภาษีรถยนต์เก่า แต่หากราคาจำหน่ายรถยนต์ใหม่ยังแพงกว่า ประชาชนก็คงเลือกที่จะรักษาเครื่องยนต์รถยนต์เก่าและใช้ต่อไป ดังนั้น จึงยังคงเป้าหมายยอดจำหน่ายรถยนต์ในประเทศไว้ที่ 1.05 ล้านคัน จากเป้าหมายยอดจำหน่ายภาพรวมทั้งหมดในปีนี้ 2.15 ล้านคัน

หลากหลายมาตรการทั้งระยะสั้น ระยะยาว มาตรการใดจะนำไปสู่การปฏิบัติได้จริง มาตรการใดถูกพับเก็บเข้าลิ้นชัก ยังต้องรอดูกันต่อไป พร้อม ๆ กับพิสูจน์ฝีมือความสามารถรัฐบาลว่าจะสกัดฝุ่นพิษสัมฤทธิผลมากน้อยแค่ไหน

 

ไม่พลาดข่าวสารเศรษฐกิจ เจาะลึกทุกประเด็นทั้งภาครัฐ-เอกชน เพิ่มเราเป็นเพื่อนที่ Line ได้เลย พิมพ์ @prachachat หรือ คลิกลิงก์ https://line.me/R/ti/p/@prachachat 

หรือจะสแกน QR Code ในรูป เราพร้อมเสิร์ฟข่าวเศรษฐกิจ-ธุรกิจถึงมือผู้อ่านทันที!