ก.แรงงานเผยไต้หวันอนุญาตให้แรงงานต่างชาติผิด กม. รายงานตัวกลับปท.ได้

พล.ต.อ. อดุลย์ แสงสิงแก้ว รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน
กระทรวงแรงงานเผยไต้หวันอนุญาตให้แรงงานต่างชาติผิด กม. รายงานตัวกลับประเทศได้ตั้งแต่ 1 ม.ค.-30 มิ.ย.62

 

พล.ต.อ. อดุลย์ แสงสิงแก้ว รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน เปิดเผยว่า ตามที่ทางการไต้หวัน ได้ประกาศโครงการพิเศษ ลดหย่อนโทษสำหรับชาวต่างชาติที่อยู่เลยกำหนดวีซ่า ซึ่งรวมถึงแรงงานต่างชาติที่หลบหนีจากนายจ้างกลายเป็นแรงงานผิดกฎหมาย และชาวต่างชาติที่อยู่เลยกำหนดวีซ่า ให้สามารถเข้ามอบตัว และสามารถเดินทางกลับประเทศได้ ระหว่างวันที่ 1 มกราคม – 30 มิถุนายน 2562 นั้น มีสาระสำคัญ คือ

1) ไม่ว่าจะหลบหนีหรืออยู่เลยกำหนดวีซ่านานเท่าไหร่ จะได้รับการลดหย่อนค่าปรับเหลือ 2,000 เหรียญไต้หวัน

2) หากหลบหนีหรืออยู่เลยกำหนดวีซ่าไม่เกิน 3 ปี จะไม่ถูกจำกัดการเข้าไต้หวัน และกลับไปแล้วสามารถเข้าสู่ไต้หวันได้อย่างถูกกฎหมาย ส่วนกรณีที่อยู่เลย 3 ปี จะได้รับการลดหย่อนการจำกัดเข้าไต้หวันกึ่งหนึ่ง

3) ผู้ประสงค์เข้ามอบตัว ขอให้เตรียมเอกสารการเดินทาง (พาสปอร์ต) และตั๋วเครื่องบิน ให้ไปรายงานตัวต่อสำนักงานตรวจคนเข้าเมืองท้องที่ โดยจะไม่ถูกกักตัวอยู่ในสถานกักกัน หากเอกสารการเดินทางและตั๋วเครื่องบินพร้อม เมื่อมอบตัวเสร็จแล้ว สามารถเดินทางกลับประเทศได้ทันที

4) ช่วงระหว่างการมอบตัวในโครงการพิเศษนี้ เริ่มตั้งแต่วันที่ 1 ม.ค. – 30 มิ.ย. 2562 และ 5) หากถูกตรวจพบในระหว่างหรือเมื่อสิ้นสุดโครงการ จะต้องเสียค่าปรับและถูกจำกัดการเข้าไต้หวันตามบทลงโทษเดิม ทั้งนี้ ตามบทลงโทษในปัจจุบัน จะถูกปรับตามระยะเวลาที่อยู่เกินกำหนด สูงสุด 10,000 เหรียญไต้หวัน และจะถูกจำกัดการเดินทางเข้าไต้หวันเป็นเวลา 3 ปีขึ้นไป

ทั้งนี้ กระทรวงแรงงาน ขอแจ้งเตือนไปยังแรงงานไทยในไต้หวันที่ทำงานโดยผิดกฎหมาย หรืออยู่เลยกำหนดวีซ่า ให้เข้ามอบตัว โดยรายงานตัวต่อสำนักงานตรวจคนเข้าเมืองท้องที่เพื่อเดินทางกลับประเทศ และสำหรับผู้ที่มีความประสงค์จะเดินทางไปทำงานในไต้หวันสามารถติดต่อกรมการจัดหางาน กระทรวงแรงงาน โดยสามารถสอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่กองบริหารแรงงานไทยไปต่างประเทศ กรมการจัดหางาน 02-245 1034 หรือสายด่วนกระทรวงแรงงาน 1506 กด 2 กรมการจัดหางาน


“ขอเตือนคนไทยที่จะเดินทางไปทำงานต่างประเทศ จะต้องไปด้วยวิธีการที่ถูกต้องตามกฎหมาย เพราะการเดินทางไปทำงานอย่างถูกกฎหมายจะได้รับ อัตราค่าจ้างตามกฎมาย และได้รับการคุ้มครองด้านสิทธิประโยชน์จากทางการ ขณะที่การลักลอบเข้าไปทำงานอย่างผิดกฎหมาย จะทำให้การได้รับความช่วยเหลือเป็นไปด้วยความยากลำบาก และไม่สามารถเรียกร้องสิทธิใดๆ จากนายจ้างได้ จึงขอให้แรงงานไทยตระหนักถึงการเดินทางไปทำงานที่ถูกต้องตามกฎหมายและขอให้ศึกษาข้อมูลรายละเอียดที่เกี่ยวข้องให้ชัดเจน ก่อนตัดสินใจไปทำงานต่างประเทศ”