ศาลปกครองสูงสุดพิพากษายกฟ้อง คดีมูลนิธิเพื่อผู้บริโภคฟ้องขอเพิกถอน ประกาศคณะกรรมการปิโตรเลียมฯ

ศาลปกครองสูงสุดมีคำพิพากษายกฟ้อง ในคดีที่มูลนิธิเพื่อผู้บริโภคฟ้องขอเพิกถอน ประกาศคณะกรรมการปิโตรเลียมและกฎกระทรวงเกี่ยวกับการสำรวจหรือผลิตปิโตรเลียม

เมื่อวันที่ ๑๑ กุมภาพันธ์ ๒๕๖๒ ศาลปกครองสูงสุดได้มีคำพิพากษา ในคดีหมายเลขดำที่ฟร. ๑๐/๒๕๖๑ คดีหมายเลขแดงที่ ฟร. ๑/๒๕๖๒ ซึ่งมูลนิธิเพื่อผู้บริโภคเป็นผู้ฟ้องคดี คณะกรรมการปิโตรเลียม คณะรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงานเป็นผู้ถูกฟ้องคดี โดยมีคำขอให้เพิกถอนประกาศคณะกรรมการปิโตรเลียม เรื่อง หลักเกณฑ์และวิธีการกำหนดพื้นที่ที่จะดำเนินการสำรวจหรือผลิตปิโตรเลียมในรูปแบบของสัมปทาน สัญญาแบ่งปันผลผลิต หรือสัญญาจ้างบริการ ลงวันที่ ๑๙ ตุลาคม ๒๕๖๐ และกฎกระทรวงกำหนดแบบสัญญาแบ่งปันผลผลิต พ.ศ. ๒๕๖๑ โดยศาลปกครองสูงสุดวินิจฉัยว่า มูลนิธิเพื่อผู้บริโภคเป็นผู้มีสิทธิฟ้องคดี และคดีเป็นประโยชน์แก่ส่วนรวม ซึ่งศาลสามารถรับคำฟ้องไว้พิจารณาได้แม้จะยื่นฟ้องเมื่อพ้นกำหนดระยะเวลาการฟ้องคดี

สำหรับกรณีประกาศคณะกรรมการปิโตรเลียม เรื่อง หลักเกณฑ์และวิธีการกำหนดพื้นที่ที่จะดำเนินการสำรวจหรือผลิตปิโตรเลียมในรูปแบบของสัมปทาน สัญญาแบ่งปันผลผลิต หรือสัญญาจ้างบริการลงวันที่ ๑๙ ตุลาคม ๒๕๖๐ นั้น ผู้ฟ้องคดีฟ้องว่า ประกาศที่กำหนดให้การสำรวจหรือผลิตปิโตรเลียมในรูปแบบของสัญญาจ้างบริการได้ก็ต่อเมื่อเป็นพื้นที่ที่มีผลการสำรวจพบปิโตรเลียมที่ชัดเจนและมีข้อมูลคาดการณ์ได้ว่า มีปริมาณสำรองน้ำมันดิบตั้งแต่สามร้อยล้านบาร์เรลขึ้นไป และมีปริมาณการผลิตสะสมรวมกับปริมาณสำรองน้ำมันดิบที่เหลืออยู่เฉลี่ยทั้งพื้นที่มีค่ามากกว่า สี่ล้านบาร์เรลต่อหลุมผลิตปิโตรเลียม หรือมีปริมาณสำรวจก๊าซธรรมชาติตั้งแต่ สามล้านล้านลูกบาศก์ฟุตขึ้นไป และมีปริมาณการผลิตสะสมรวมกับปริมาณสำรองก๊าซธรรมชาติที่เหลืออยู่เฉลี่ยทั้งพื้นที่มีค่ามากกว่าสี่หมื่นล้านลูกบาศก์ฟุตต่อหลุมผลิตปิโตรเลียม เป็นการกำหนดเงื่อนไขที่จงใจให้ไม่สามารถนำระบบสัญญาจ้างบริการมาใช้ได้ จึงขัดต่อกฎหมาย เอื้อประโยชน์แก่ผู้รับสัมปทานเดิม ศาลปกครองสูงสุดเห็นว่าการสำรวจหรือผลิตปิโตรเลียมโดยการให้สัมปทาน สัญญาแบ่งปันผลผลิต หรือสัญญาจ้างบริการนั้น การได้ผลประโยชน์และภาระหน้าที่ของรัฐจะแตกต่างกัน ระบบสัญญาแบ่งปันผลผลิตสามารถจูงใจผู้ประกอบการได้มากกว่าสัญญาจ้างบริการ และพระราชบัญญัติปิโตรเลียม พ.ศ. ๒๕๑๔ ได้ให้อำนาจคณะกรรมการปิโตรเลียมโดยความเห็นชอบของคณะรัฐมนตรีมีอำนาจประกาศกำหนดหลักเกณฑ์และวิธีการว่า ที่ใดสมควรดำเนินการสำรวจหรือผลิตปิโตรเลียมในรูปแบบใด การกำหนดวิธีการสำรวจจากปริมาณการสำรวจพบปิโตรเลียมและโอกาสพบปิโตรเลียมจึงสามารถดำเนินการได้ตามที่กฎหมาย
ให้อำนาจ และการดำเนินการเพื่อให้เกิดประโยชน์อย่างสมดุลและยั่งยืนตามบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญและพระราชบัญญัติปิโตรเลียม พ.ศ. ๒๕๑๔ ย่อมหมายความรวมถึงกระบวนการบริหารจัดการเพื่อให้สามารถนำทรัพยากรปิโตรเลียมมาใช้ประโยชน์ได้ด้วย การกำหนดวิธีการจึงเป็นเรื่องสำคัญ เพราะเป็นปัจจัยที่จะทำให้ผู้ประกอบการทั้งในประเทศและต่างประเทศตัดสินใจเข้าสู่กระบวนการคัดเลือก

การที่คณะกรรมการปิโตรเลียมใช้ดุลพินิจกำหนดให้การสำรวจหรือผลิตปิโตรเลียมที่สามารถดำเนินการในรูปแบบสัญญาจ้างบริการเฉพาะในพื้นที่ที่มีการสำรวจพบเป็นปริมาณที่มากกว่าที่มีการค้นพบแล้วในประเทศไทย จึงมีเหตุผลสนับสนุนและไม่อาจรับฟังได้ว่า ไม่ชอบด้วยกฎหมาย อีกทั้งตามประกาศพิพาทกำหนดให้มีการทบทวนโอกาสพบปิโตรเลียมในเชิงพาณิชย์ของประเทศไทยทุกๆ ๓ ปี โอกาสที่รัฐจะดำเนินการสำรวจหรือผลิตปิโตรเลียมในรูปแบบของสัญญาจ้างบริการก็ย่อมเกิดขึ้นได้ ส่วนกรณีกฎกระทรวงกำหนดแบบสัญญาแบ่งปันผลผลิต พ.ศ. ๒๕๖๑ นั้น ผู้ฟ้องคดีฟ้องว่า แบบสัญญาแบ่งปันผลผลิตท้ายกฎกระทรวงที่กำหนดให้กรมเชื้อเพลิงธรรมชาติมีสิทธิรับ

ส่วนแบ่งปิโตรเลียมส่วนที่เป็นกำไรแทนรัฐโดยเจรจาราคาตามที่เห็นชอบกับผู้รับสัญญาโดยไม่ได้ดำเนินการพระราชบัญญัติการจัดซื้อจัดจ้างและการบริหารพัสดุภาครัฐ พ.ศ. ๒๕๖๐ เป็นการเปิดโอกาสให้ร่วมการทุจริต ศาลปกครองสูงสุดเห็นว่า ตามพระราชบัญญัติปิโตรเลียม พ.ศ. ๒๕๑๔ ได้กำหนดวิธีการขายปิโตรเลียมไว้เป็นการเฉพาะแล้ว แบบของสัญญาตามกฎกระทรวงดังกล่าวจึงเป็นไปตามบทบัญญัติแห่งพระราชบัญญัติปิโตรเลียม พ.ศ. ๒๕๑๔

ศาลปกครองสูงสุดจึงมีคำพิพากษายกฟ้อง