“ปิยะสกล” ลั่นเคารพกติกาหลังมติไม่เลิกใช้สารเคมี 3 ชนิด เห็นด้วยหรือไม่ก็ตาม

เมื่อวันที่ 15 กุมภาพันธ์ นพ.ปิยะสกล สกลสัตยาทร รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) กล่าวถึงกรณีคณะกรรมการวัตถุอันตรายมีมติยังไม่เลิกใช้สารเคมีอันตราย 3 รายการ คือ พาราควอต คลอไพริฟอส และไกลโฟเสต โดยจะมีการพิจารณาใหม่ในอีก 2 ปีข้างหน้า ว่า ที่ผ่านมากระทรวงสาธารณสุขมีมติไปเรียบร้อยแล้วว่า เพื่อสุขภาพประชาชน เราเห็นชอบที่จะไม่ใช้สารเคมีพวกนี้ แต่เมื่อคณะกรรมการฯ มีมติออกมาแล้วแบบนี้ เป็นไปตามกฎของประเทศนี้ คงต้องเดินไปตามนั้น แต่สิ่งที่กระทรวงสาธารณสุขทำได้และทำไปแล้วคือการรณรงค์ให้โรงพยาบาลทุกแห่งใช้พืช ผักปลอดสารพิษมาปรุงอาหารให้ผู้ป่วยและผู้ที่มารับบริการในโรงพยาบาล เป็นการรณรงค์ให้ประชาชนได้ตระหนักว่าสิ่งที่ดีที่สุดสำหรับสุขภาพของเขาเองคือพืช ผักปลอดสารพิษ อีกทั้ง ยังเป็นการสร้างความมั่นใจให้เกษตรกรด้วยว่าพืชผักปลอดสารพิษนั้นสามารถสร้างรายได้เลี้ยงตัวเองได้ โดยจะเห็นว่าตอนนี้พืชผักปลอดสารพิษไม่เพียงพอต่อความต้องการของตลาด เราต้องรณรงค์ให้เกษตรกร และประชาชนมีความรู้ทางด้านนี้มากขึ้น

“เราต้องเคารพในกฎกติกาที่เขาตั้ง แม้เราจะเห็นด้วยหรือไม่เห็นด้วยก็ตาม แต่สิ่งที่เราทำได้คือทำในสิ่งที่เรามีอำนาจหน้าที่ที่จะทำ ที่กระทรวงสาธารณสุขทำได้คือให้ทุกภาคส่วนของกระทรวงให้ใช้พืช ผักปลอดสารพิษ รณรงค์ให้ประชาชนรับทราบอันตรายและผลกระทบต่อสุขภาพจากสารเคมี และรณรงค์ให้เกษตรกรมีความมั่นใจว่าการทำแกษตรปลอดภัยเป็นที่ต้องการของประชาชน เพื่อสุขภาพ” รัฐมนตรีว่าการ สธ.

ด้าน ศ.นพ.ธีระวัฒน์ เหมะจุฑา อาจารย์คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่า เรื่องนี้ผิดหวังมาก เพราะมีข้อมูลงานวิจัยชัดเจนอยู่แล้วว่า สารเคมีเหล่านี้มีอันตรายและกระทบต่อประชาชน แต่ภาครัฐกลับไม่สนใจ และระบุเพียงว่าทำงานในรูปแบบคณะกรรมการฯ แต่ก็ทราบดีว่ามีอะไรอยู่ ประเด็นของสารเคมีจึงยืดเยื้อ และสุดท้ายก็ออกมาลักษณะเลื่อนการพิจารณา ไม่ชัดเจน และให้ใช้ต่อไป หากเป็นไปได้ก็อยากให้ผู้มีอำนาจสูงสุดที่สามารถพิจารณาเรื่องนี้และคืนความเป็นธรรมให้แก่ประชาชน เพราะทุกคนมีความเสี่ยงจากการได้รับผลกระทบจากสารเคมีเหล่านี้ในอาหารทั้งสิ้น

นพ.ธีระวัฒน์ กล่าวอีกว่า อย่างสารเคมีพาราควอต มีงานวิจัยพบว่า สามารถผ่านจากมารดาไปสู่ตัวอ่อนในครรภ์ ผลการวิจัยจากคณะสาธารณสุขศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล ตรวจพบการตกค้างของพาราควอตในซีรั่มทารกแรกเกิดและมารดาระหว่าง 17-20% และพบว่าหญิงตั้งครรภ์ที่ประกอบอาชีพเกษตรกรรมมีความเสี่ยงรับสารพาราควอตมากกว่าคนทั่วไป 1.3 เท่า หญิงตั้งครรภ์ที่มีประวัติการขุดดินในพื้นที่เกษตรมีความเสี่ยงในการตรวจพบพาราควอต คิดเป็น 6 เท่าของหญิงตั้งครรภ์ที่ไม่มีการขุดดิน และหญิงตั้งครรภ์ที่ทำงานในพื้นที่เกษตรกรรมช่วง 6-9 เดือนของการตั้งครรภ์ พบพาราควอตตกค้างมากกว่าหญิงตั้งครรภ์ที่ไม่ได้ทำงานถึง 5.4 เท่า และตรวจพบพาราควอตในขี้เทาเด็กทารกแรกเกิดสูงถึง 54.7% จากมารดา 53 คน นี่เป็นเพียงตัวอย่างเท่านั้น แต่ก็แปลกใจว่าทำไมถึงไม่คิดถึงผลกระทบเหล่านี้เลย

 

 

ที่มา : มติชนออนไลน์