กังขา “กก.วัตถุอันตราย” กับ มติไฟเขียว ใช้ “พาราควอต” ต่อ 2 ปี

ทันทีที่คณะกรรมการวัตถุอันตราย มีมติเลื่อนการพิจารณาห้ามใช้สารเคมีพาราควอต ออกไปอีก 2 ปี โดยให้อยู่ในรูปของการจำกัดการใช้

ส่วนสารเคมีอีก 2 ชนิด คือ คลอร์ไพริฟอส และไกลโฟเซตก็เช่นกัน ยืนตามมติเดิมเมื่อวัน 23 พฤษภาคม 2561 ระบุว่า ยังไม่มีการยกเลิกการใช้วัตถุอันตรายทั้ง 3 รายการ ได้แก่ พาราควอต คลอร์ไพริฟอส และไกลโฟเซต เพราะให้ใช้เฉพาะ 6 พืช ประกอบด้วย ยางพารา ปาล์ม มันสำปะหลัง อ้อย ข้าวโพด และไม้ผลที่ขึ้นทะเบียนเท่านั้น

ระหว่างนี้ให้กรมวิชาการเกษตรดำเนินการตามมาตรการ 5 ข้อ อาทิ ทำโครงการศึกษาวิจัยเพื่อลดการใช้สารเคมีและหาวิธีทดแทนการใช้สารเคมี รวมทั้งศึกษาผลกระทบของสารที่มีต่อสิ่งแวดล้อม ผู้ผลิต และผู้บริโภค จัดอบรมให้ความรู้โครงการนำร่องทดสอบหลักสูตรผู้พ่นสารพาราควอตเพื่อกำจัดวัชพืช เป็นต้น

โดยเฉพาะสารเคมีกำจัดศัตรูพืช อย่างพาราควอต คาดว่า จะมีความชัดเจนว่าจะเลิกหรือไม่เลิกภายใน 2 ปี หรือภายในวันที่ 1 มกราคม 2564 แต่หากสามารถหาสารทดแทนได้ก็ยกเลิกก่อน 2 ปี

อย่างไรก็ตาม เกี่ยวกับเรื่องนี้ เกิดกระแสวิพากษ์วิจารณ์กันมากว่า ข้อเท็จจริงของการพิจารณาและโหวตความคิดเห็นของกรรมการวัตถุอันตรายเป็นเช่นไร เนื่องจากภาคประชาสังคมมองว่า เรื่องนี้ไม่ธรรมดา

นายวิฑูรย์ เลี่ยนจำรูญ ผู้อำนวยการมูลนิธิชีววิถี หรือไบโอไทย ให้ความเห็นเกี่ยวกับเรื่องนี้ว่า ในการประชุมพิจารณาของคณะกรรมการวัตถุอันตรายมีการลงมติจากกรรมการ 26 คน จากทั้งหมด 29 คน มี 3 คน ไม่ร่วมประชุม ทำให้มีการลงคะแนนเสียงแบบปิด 26 คน

ปรากฏว่า เสียงเห็นด้วยตามมติเดิมยังไม่แบนสารเคมีจำนวน 16 ต่อ 5 คน แน่นอนว่า กรรมการสัดส่วนจากกระทรวงเกษตรและสหกรณ์มี 5 คน อีก 11 คนมาจากกระทรวงอื่นๆ ส่วนอีก 5 คนที่คัดค้านและเห็นว่าต้องแบนสารเคมีกำจัดศัตรูพืช เพราะมีผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม และต่อสุขภาพของผู้คน มาจากกระทรวงสาธารณสุข และนักวิชาการ 1 ท่าน คือ รศ.จิราพร ลิ้มปานานนท์ ลงมติให้มีการคุ้มครองชีวิตของประชาชนและปกป้องผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมจากสารพิษโดยการเสนอให้มีการแบนสารพิษดังกล่าว

สำหรับอีก 5 คนไม่ออกเสียง

ผู้อำนวยการไบโอไทย กล่าวว่า มติครั้งนี้ไม่แตกต่างจากครั้งก่อนที่ยืน ไม่แบนสารเคมีŽ แม้ก่อนหน้านี้กระทรวงสาธารณสุขเคยมีการพิจารณาและเสนอว่า ต้องแบนสารเคมีพาราควอต และ คลอร์ไพริฟอส ส่วนไกลโฟเซต ให้จำกัดการใช้ เพราะมีผลกระทบต่อสุขภาพประชาชน แต่สุดท้ายกรรมการก็ยังไม่เห็นแก่พิษภัยที่เกิดขึ้น แน่นอนว่า เรื่องนี้เป็นเรื่องของโครงสร้างของกรรมการวัตถุอันตรายที่มักจะพิจารณาและลงคะแนนให้เป็นไปตามหน่วยงานที่เสนอ เรื่องนี้ก็คือ กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ดังนั้น ไม่ว่าประชุมกี่ครั้งก็คงออกมาแบบนี้

“จากนี้พวกเราจะมีการเคลื่อนไหวด้วยการกดดันรัฐบาล ยิ่งรัฐบาลใกล้จะเลือกตั้ง ในนามพรรคพลังประชารัฐ (พปชร.) ยังเป็นรัฐบาลอยู่ และยังมีอำนาจ ก็ควรจัดการเรื่องนี้ให้ถูกต้อง เป็นเรื่องใหญ่มาก แต่คณะกรรมการวัตถุอันตรายกลับลงมติเช่นนี้ โหวตแบบไม่เปิดเผย ถือว่าไม่รับผิดชอบต่อสังคมไทย และการที่รัฐบาลไม่ให้ความสำคัญกับเรื่องนี้ ก็น่าคิดว่าหากมาเป็นรัฐบาลอีกก็คงไม่ให้ความสำคัญเช่นกัน ดังนั้น เราจะเคลื่อนไหวกดดันรัฐบาลและแคนดิเดตนายกรัฐมนตรีของทุกพรรค เพราะอยู่ระหว่างการเลือกตั้ง ควรต้องออกมาแสดงนโยบายว่า จะเอาอย่างไรกับเรื่องนี้Ž” นายวิฑูรย์กล่าว

ที่ผ่านมา ก็มีบางพรรคให้ความสำคัญกับการกำจัดสารเคมีกำจัดศัตรูพืช อย่างพรรคเพื่อไทย พรรคเศรษฐกิจใหม่ พรรคสามัญชน ส่วนพรรคอื่นๆ ยังไม่เห็น ทางเราได้ร่วมกับสถาบันวิจัยสังคมจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และภาคีเครือข่ายต่างๆ ในการประสานพรรคการเมืองแต่ละพรรคว่า สรุปแล้วมีนโยบายจะไม่เอาสารเคมี อย่างพาราควอต และสารเคมีอื่นๆ อย่างไร รวมถึงประเด็นเกษตรอื่นๆ ด้วย

เมื่อถามว่าหากไม่ใช้สารเคมีกำจัดศัตรูพืช ทั้งพาราควอต คลอร์ไพริฟอส ไกลโฟเซต จะมีวิธีอื่นมาทดแทนหรือไม่

นายวิฑูรย์ กล่าวว่า สถาบันวิจัยเกษตรวิศวกรรม เป็นหน่วยงานหนึ่งในกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ และสนับสนุนให้แบนสารเคมีพาราควอตด้วย เพราะบอกว่าการจำกัดการใช้ให้ปลอดภัยเป็นเรื่องยากมาก ปรากฏว่าก็ยังไม่สนใจคำพูดของหน่วยงานตัวเอง อย่างไรก็ตาม มีวิธีอื่นๆ ที่นำมาทดแทนสารเคมีเหล่านี้ เบื้องต้นมี 3 วิธี คือ 1.อย่างการทำไร่อ้อยเราก็จะใช้รถแทรกเตอร์ติดจอกหมุน เพื่อทำลายวัชพืชแทน ไม่จำเป็นต้องใช้พาราควอต 2.ใช้เครื่องจักรกับเครื่องมือกลผสมกับสารเคมีที่อันตรายน้อยกว่าพาราควอต 3.เป็นการปลูกพืชคลุมดิน เป็นต้น จริงๆ ในหน่วยงานกระทรวงเกษตรฯ ก็มีการศึกษาวิจัยอยู่

“ปัญหาที่เกิดขึ้น จะแก้ไขได้ก็ต้องรัฐบาลลงมาจัดการ ทำเหมือนกรณีปัญหาสิทธิบัตรกัญชา หน่วยงานราชการไม่ทำไม่ยกเลิก สุดท้ายรัฐบาล ผู้มีอำนาจก็สั่งการลงมาจัดการเรื่องนี้ เพราะไม่เช่นนั้นก็จะมีมติแบบนี้เรื่อยๆ อย่างปี 2552 คณะกรรมการวัตถุอันตราย ได้ประกาศให้พืชสมุนไพรที่ใช้ในการป้องกันกำจัดศัตรูพืชรวม 13 ชนิด ได้แก่ สะเดา ตะไคร้หอม ขมิ้นชัน ขิง ข่า ดาวเรือง สาบเสือ กากเมล็ดชา พริก ขึ้นฉ่าย ชุมเห็ดเทศ ดองดึง และหนอนตายหยาก เป็นวัตถุอันตรายประเภทที่ 1 ขณะนั้นถูกต่อต้านมาก สุดท้ายรัฐบาลขณะนั้นก็เรียกประชุม และให้ยกเลิกในที่สุด เพราะการที่มาอ้างว่าพืชสมุนไพรเหล่านี้เมื่อนำมาใช้ป้องกันกำจัดศัตรูพืชจำเป็นต้องควบคุม ซึ่งไม่ใช่Ž” ผู้อำนวยการไบโอไทย กล่าว

นายวิฑูรย์ กล่าวว่า จากนี้คงต้องรอดูผลการหารือ ทางผู้ตรวจการแผ่นดินบอกว่า จะเรียกทั้งกระทรวงเกษตรฯ และกรรมการวัตถุอันตรายมาชี้แจงมตินี้ เพราะผลการวิจัยมีชัดว่า สารเคมีกำจัดศัตรูพืชอย่างพาราควอตมีอันตราย แต่เพราะเหตุใดจึงมีมติเช่นนี้ ขณะที่ทางไบโอไทย และมูลนิธิเพื่อผู้บริหาร รวมทั้งเครือข่ายต่างๆ ก็เตรียมจะฟ้องศาลปกครองกรณีมตินี้เช่นกัน และจะฟ้องแพ่งเรียกค่าเสียหายให้กับเกษตรกรที่ได้รับผลกระทบ

ด้าน ศ.นพ.ธีระวัฒน์ เหมะจุฑา อาจารย์คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ให้ข้อมูลว่าตนขอยืนยันมติของผู้ตรวจการแผ่นดินที่ให้ยกเลิกสารเคมี 3 ชนิดคือพาราควอต คลอร์ไพริฟอส และไกลโฟเซต ภายในสิ้นปีนี้ เนื่องจากคำนึงถึงอันตรายด้านสุขภาพแม้จะไม่เกิดขึ้นฉับพลันแต่ก็สะสมในร่างกาย และข้อมูลวิชาการด้านต่างๆ เห็นตรงกันว่าควรเลิกใช้สารอันตรายทั้ง 3 ชนิดนี้ หลายประเทศทั่วโลก ประกาศห้ามใช้พาราควอตเกือบทั้งหมดแล้ว

อย่างไรก็ตาม มีคนถามว่าจะพิสูจน์ได้อย่างไรว่าคนเสียชีวิตจากสารเคมีกำจัดศัตรูพืช ศ.นพ.ธีระวัฒน์กล่าวว่า ความจริงตายจากทุกตัวรวมกันก็ยังได้ และยิ่งรุนแรงหนักขึ้นไปอีก เพราะสารเคมีพิษแล้วนี้ ออกฤทธิ์กันคนละตำแหน่งของกลไกในมนุษย์ และยิ่งเป็นการเสริมพิษ ซึ่งกันและกัน กลไกของมนุษย์นั้นมีทั้งเพื่อป้องกันบรรเทาพิษ และขับเคลื่อนพิษไปทำลายนอกจากนั้นมีกลไกในการช่วยกระพือให้พิษ ที่ได้รับไปนั้น ออกฤทธิ์รุนแรงขึ้น สารเคมีพิษเหล่านี้ เป็นปฏิปักษ์ต่อกลไกบรรเทาพิษ และส่งเสริมให้พิษแรงขึ้น สารเคมีพิษ ตั้งแต่ พาราควอต และสารฆ่าแมลง สามารถระบุกลไกเหล่านี้ได้ ทั้งนี้อยู่ในตำราทางการแพทย์ด้วยซ้ำตั้งแต่ปี 2012

“การได้พิษเหล่านี้เป็นเวลานานเป็นเดือนเป็นปีก็ให้เกิดการเปลี่ยนแปลงอย่างสะสมและเป็นกระบวนการและมีกลไกทำให้เกิดโรคสมองเสื่อม พาร์กินสัน ได้หลายวิธีจากการที่ผ่านเข้าทางอาหารลงไปในลำไส้ จะกระตุ้นการสร้างโปรตีนที่สามารถเข้าสมองผ่านทางเส้นประสาทได้โดยตรงจากการซึมเข้าทางเยื่อบุ ผิวหนังอ่อนและเข้าทางการหายใจ จะสามารถซึมเข้าสู่กระแสเลือดและจากกลไกที่ทำให้เกิดการอักเสบ จะเปิดผนังกั้นของหลอดเลือดในสมองและทะลุเข้าสมองได้โดยตรง ดังนั้น กลไกพิษที่เกิดขึ้น จะเป็นได้ตั้งแต่การทำลายโดยตรงและการทำลายโดยอ้อมและในกรณีของโรคเรื้อรัง จะเป็นการกำหนดให้สมองมีการสร้างโปรตีนบิดเกลียวที่เป็นพิษ นี่เป็นแค่ตัวอย่างของผลกระทบเท่านั้น”Ž ศ.นพ.ธีระวัฒน์ กล่าวทิ้งท้าย

 

ที่มา : นสพ.มติชนรายวัน