ชูปรัชญาพอเพียง ตั้งรับโลกป่วน กำจัดจุดอ่อน สร้างสมดุลเศรษฐกิจ

นอกจากการแถลงข่าว “เก้าปี ก้าวหน้า” เพื่อสรุปผลการดำเนินงานในรอบ 1 ปีที่ผ่านมา และผลงาน 9 ปี ของ “สถาบันส่งเสริมและพัฒนากิจกรรมปิดทองหลังพระ สืบสานแนวพระราชดำริ” โดย “ม.ร.ว.ดิศนัดดา ดิศกุล” ในฐานะประธานกรรมการสถาบันแล้ว ในงานดังกล่าวยังได้มีการจัดเสวนาในหัวข้อ “ประเทศไทยตามแนวพระราชดำริ” โดยมี “ดร.วิรไท สันติประภพ” ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย, “ดร.ปรเมธี วิมลศิริ” ปลัดกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) และ “ดร.อานนท์ สนิทวงศ์ ณ อยุธยา” ผู้อำนวยการสำนักงานพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ (องค์การมหาชน) ร่วมถอดรหัสปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง

3 หลักการบริหารเศรษฐกิจมหภาค

เบื้องต้น “ดร.วิรไท” กล่าวว่า ท่ามกลางปัญหาของประเทศทั้งเรื่องความเหลื่อมล้ำ หนี้ครัวเรือน ความสามารถในการแข่งขัน ปัญหาเรื่องการศึกษา และอื่น ๆ อีกหลากหลายปัญหา และถ้าหากมองลึกลงไป การหาทางออกมีหลากหลายวิธี แม้ว่าปัญหานั้นจะใหญ่มากน้อยเพียงใดก็ตาม อย่างการนำหลักการทรงงานของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช รัชกาลที่ 9 ตลอดจนแนวพระราชดำริเรื่องเศรษฐกิจพอเพียงมาใช้แก้ไขปัญหาของประเทศได้

“ปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงในมุมมองของผมไม่ใช่การประยุกต์ใช้กับนโยบายเศรษฐกิจในระดับมหภาค แต่ถือเป็นแกนหลักสำคัญ (core) เพราะปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง ประกอบด้วย 3 ประเด็นหลัก คือ ความมีเหตุมีผล ความสมเหตุสมผล, การพอประมาณ และการสร้างภูมิคุ้มกัน ซึ่ง 3 เรื่องถือว่าเป็นหัวใจสำคัญที่จะตอบโจทย์การไขปัญหาในภาพใหญ่ของเศรษฐกิจฐานรากของไทยได้”

เรื่องความสมเหตุสมผลเป็นหลักที่สำคัญประการหนึ่งในการบริหารงานนโยบายเศรษฐกิจ สิ่งที่เราทำต้องมีเหตุผล มีหลักการที่ชัดเจน โดยเฉพาะนโยบายต่าง ๆ ที่มีทั้งผลดีผลเสียต่อคนหลากหลายกลุ่มต่างกัน จึงจำเป็นต้องใช้เหตุผลที่มองถึงผลรวมของประเทศไทย และประชาชน ที่จะได้รับประโยชน์จากนโยบายนั้น ๆ อีกทั้งความมีเหตุผลนี้ยังสอดคล้องกับบริบทโลกที่เปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็ว

ส่วนหลักที่สองนั้นเป็นเรื่องของความพอประมาณ ซึ่งในมุมของนักเศรษฐศาสตร์เกี่ยวกับเศรษฐกิจมหภาค จะมองถึงศักยภาพของระบบเศรษฐกิจ และการขยายตัวของเศรษฐกิจที่สอดคล้องกับศักยภาพ ตรงนี้เปรียบเหมือนรถยนต์ที่วิ่งได้ 100 กิโลเมตรต่อชั่วโมง แต่ถ้าเร่งเครื่องมากเกินไปและต่อเนื่องตลอดเวลา ไม่หยุด ก็จะทำให้เครื่องร้อน เช่นเดียวกับระบบเศรษฐกิจ ถ้าเร่งเกินไปจะทำให้เกิด over heat และมีผลข้างเคียงตามมา อาจจะทำให้เครื่องสะดุดลง ฉะนั้นแล้วเรื่องของความพอประมาณจึงถือว่าเป็นเรื่องสำคัญของการบริหารเศรษฐกิจมหภาค

ส่วนสุดท้ายที่ถือเป็นอีกหนึ่งที่สำคัญสำหรับโลกในยุคปัจจุบัน คือ การสร้างภูมิคุ้มกัน เพราะโลกในวันข้างหน้าจะเป็นโลกที่ VUCA มาก ที่จะมีทั้งความผันผวน, ความไม่แน่นอน, ความสลับซับซ้อน และความคลุมเครือ ผลที่เกิดขึ้นจะไม่ชัดเจนเหมือนเดิม ฉะนั้นแล้วการสร้างภูมิคุ้มกันจึงเป็นเรื่องที่ต้องสร้างให้เกิดขึ้นในการบริหารเศรษฐกิจเชิงมหภาค โดยเฉพาะการสร้างกันชน ทั้งทุนสำรองระหว่างประเทศ ดุลบัญชีเดินสะพัด รวมถึงการกำจัดจุดเปราะบางภายในประเทศอย่างหนี้ครัวเรือน ซึ่งถ้าเราไม่มีการสร้างภูมิคุ้มกัน ก็จะไม่สามารถเอาตัวรอดจากสิ่งเปราะบางนี้ได้ เชื่อว่าหากนำหลักเศรษฐกิจพอเพียงไปเป็นแกนหลักในการบริหารเศรษฐกิจมหภาคแล้ว จะนำประเทศไปสู่ความยั่งยืนได้

ศก.พอเพียงช่วยลดช่องว่างทางสังคม

ขณะที่ “ดร.ปรเมธี” กล่าวว่า ปัญหาสังคม โดยเฉพาะในงานที่รับผิดชอบนั้นได้พยายามส่งเสริมการใช้หลักเศรษฐกิจพอเพียงเข้าไปดูแลกลุ่มคนในระดับต่าง ๆ อย่างกลุ่มของผู้สูงอายุ ในปี จะมีถึง 20% ของจำนวนประชากร ปัจจุบันมีโรงเรียนผู้สูงอายุทั่วประเทศกว่า 1,400 แห่ง และคาดว่าจะมีเพิ่มขึ้นอีก เพื่อจัดกิจกรรมและดูแลผู้สูงอายุ โดยได้มีการเผยแพร่แนวคิดปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง การเสริมองค์ความรู้ด้านต่าง ๆ รวมถึงการออม การฝึกอาชีพต่าง ๆ

ขณะที่ในกลุ่มเด็กนั้น ปัจจุบันทุกตำบลมีสภาเด็กและเยาวชนอยู่ ได้มีการส่งเสริมความรู้ในการดำเนินชีวิต การให้การศึกษาความรู้ต่าง ๆ รวมถึงปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง โดยเฉพาะการออมเพื่อให้มีชีวิตที่ดี มีภูมิคุ้มกันที่ดีในวันข้างหน้า หรือกลุ่มที่เป็นผู้ด้อยโอกาส ซึ่งกระทรวงมีสถานดูแลคนไร้ที่พึ่ง โดยพยายามนำเอาเรื่องของเศรษฐกิจพอเพียง การเรียนรู้เรื่องของเกษตร ปลูกผัก เลี้ยงสัตว์ เพื่อให้เขาดูแลตนเองได้ และเมื่อมีรายได้ก็ให้รู้จักการออม

ขณะที่สถาบันครอบครัว ถือเป็นอีกหนึ่งส่วนที่สำคัญของสังคม และยังเป็นโจทย์ที่มีปัญหาใหญ่มาก เนื่องด้วยสภาพแวดล้อมของสังคมที่ปลี่ยนไปมาก ฉะนั้นแล้วการที่จะดูแลและแก้ไขปัญหาของสังคมจึงต้องทำครอบคลุมในทุกมิติ โดยต้องอาศัยความร่วมมือจากทุกภาคส่วน เพื่อลดช่องว่างความเหลื่อมล้ำทางสังคม โดยที่ไม่ใช่มองเพียงแค่มิติการเติบโตทางเศรษฐกิจเท่านั้น

ยึดประโยชน์พื้นที่และประชาชน

ส่วน “ดร.อานนท์” กล่าวว่า ในมิติของปัญหาสิ่งแวดล้อมที่เกิดขึ้นในปัจจุบันจะมองแต่ในภาพใหญ่เท่านั้นไม่ได้อีกต่อไปแล้ว เพราะหากมองลึกลงมาถึงปัญหาในระดับจุลภาคแล้ว จะเห็นถึงความขัดแย้งเป็นจำนวนมาก และมีความสำคัญที่จะส่งผลต่อการเติบโตของประเทศในมิติต่าง ๆ และแม้แต่ความยั่งยืนก็อาจจะไม่สามารถแก้ปัญหาที่มีความขัดแย้งเหล่านี้ได้

ความขัดแย้งที่เกิดขึ้นนั้นแบ่งได้เป็น 3 ระดับ คือ ระดับแรก ความขัดแย้งกับนโยบาย ที่ชุมชนในพื้นที่ต่าง ๆ ได้รับอาจจะไม่ตรงกับความต้องการ รู้สึกว่าไม่ได้รับการจัดการที่ดี ระดับที่สอง

ความขัดแย้งกับชุมชน หรือกลุ่มสังคม ที่มีการใช้ทรัพยากรร่วมกัน โดยเฉพาะน้ำที่ถือเป็นปัญหาใหญ่ระดับประเทศ และระดับที่สาม ความขัดแย้งภายในชุมชน และวันนี้ถ้ามาดูว่าความขัดแย้งเกิดขึ้นจากปัจจัยอะไร จะพบว่าการมีภูมิคุ้มกันที่แตกต่างกัน จึงทำให้ปัญหาความขัดแย้งเกิดขึ้นอยู่เสมอ

ฉะนั้นแล้วจะทำอย่างไรให้ชุมชนที่มีการใช้ทรัพยากรเป็นหน่วยที่จะต้องบริหารด้านสิ่งแวดล้อมอย่างมีภูมิคุ้มกันให้ได้ โดยเฉพาะเรื่องขององค์ความรู้ต่าง ๆ การยอมรับในความเปลี่ยนแปลง และสามารถเป็นผู้นำ ผู้กำหนดในการเปลี่ยนแปลงต่าง ๆ ได้ หรือการเอื้ออาทร และความเข้าใจซึ่งกันและกันว่าไม่มีใครที่จะได้ประโยชน์ไปอย่างเต็มที่ ตรงนี้ถ้าทำสำเร็จได้จะทำให้ชุมชนเดินไปด้วยกันได้


อย่างการทำงานของปิดทองหลังพระฯ ถือเป็นตัวอย่างสำคัญที่สามารถนำมาใช้แก้ปัญหาใหญ่ ๆ ของประเทศไทยได้ เพราะกระบวนการทำงานของปิดทองหลังพระฯ คือ การสร้างวิสัยทัศน์ร่วมกัน เข้าใจปัญหา ใช้เหตุผล กระจายผลประโยชน์อย่างเป็นธรรม และให้ชาวบ้านเป็นเจ้าของ ยึดโยงเอาประชาชนเป็นตัวตั้ง เอาพื้นที่ที่จะได้รับประโยชน์เป็นตัวตั้ง ซึ่งหลักคิดนี้อาจจะเป็นสิ่งที่เราหลงลืมไป โดยปัญหาที่ซับซ้อนอย่างเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม ไม่สามารถเอากิจกรรมเป็นตัวตั้งได้ ดังนั้นการที่ปิดทองหลังพระฯนำเอาหลักการทรงงานของรัชกาลที่ 9 มาขยายผลต่อ หรือมาประยุกต์ใช้ให้เกิดเป็นต้นแบบ ให้ทุกคนได้เรียนรู้ ถือว่าเป็นเรื่องที่สำคัญเป็นอย่างยิ่ง