อย.พบหมอเอี่ยวลอบขายยาลดอ้วน7คน ใน 9คลินิก ชี้ 2ตัวการสำคัญจ่อถูกยึดทรัพย์!!

อย.สรุปผลเบื้องต้นลักลอบขายยาลดอ้วน มีแพทย์เกี่ยวข้อง 7 ราย 9 คลินิก ใน 6 จว. พบหมอ 2 รายตัวการสำคัญถึงขั้นอาจถูกยึดทรัพย์ เตรียมสรุปข้อมูลส่งแพทยสภา พิจารณาจริยธรรม ส่วนสบส.เร่งตรวจสอบคลินิก

ยาลดอ้วน-เมื่อวันที่ 12 มีนาคม ที่สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา(อย.) นพ.ธเรศ กรัษนัยรวิวงค์ เลขาธิการคณะกรรมการอาหารและยา พร้อมด้วย นพ.สุรโชค ต่างวิวัฒน์ รองเลขาธิการ อย. ร่วมแถลงข่าวภายหลังร่วมกับสำนักงานตำรวจแห่งชาติ และศูนย์อำนวยการป้องกันและปราบปรามยาเสพติด ในการตรวจสอบพบว่า มีการลักลอบนำยาลดความอ้วนที่จัดเป็นวัตถุออกฤทธิ์ต่อจิตและประสาทในประเภท 2  คือ เฟนเตอร์มีน (Phentermine)  และวัตถุออกฤทธิ์ประเภท 4  คือ   ไดอะซีแพม(Diazepam)  ภายใต้ พ.ร.บ.วัตถุที่ออกฤทธิ์ต่อจิตและประสาท พ.ศ.2559 อีกทั้ง ยังพบมีบุคลากรทางการแพทย์ที่เกี่ยวข้องกับเรื่องนี้

นพ.ธเรศ กล่าวว่า จากการตรวจสอบพบว่ามีการลักลอบยากลุ่มดังกล่าว จากคลินิก ที่ได้รับอนุญาตให้ใช้ยากลุ่มเหล่านี้ได้ โดยคลินิกเหล่านี้ทำผิดกฎหมาย ผิดตามระบบที่สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา(อย.) ได้วางไว้ โดยมีการขายทั้งโดยตรง ออนไลน์ ผ่านทางเฟซบุ๊ก ไอจีต่างๆ และพบว่ามีการซื้อยาในกลุ่มวัตถุออกฤทธิ์ประเภท 2 และประเภท 4 แบบผิดสังเกต ทางทีมจึงได้สอบสวนเรื่องนี้ตั้งแต่ปลายปี 2561 โดยพบว่า แพทย์มาทำเรื่องขออนุญาตซื้อยาทั้ง 2 กลุ่ม กับทางอย. เนื่องจากยาเหล่านี้เป็นการควบคุม ตามกฎหมาย อย.จำหน่ายได้เพียงแห่งเดียว และต้องมีการติดตาม รายงานกับทางแพทย์ที่มาซื้อเพื่อจำหน่ายในการรักษาโรค แต่พบว่า มีการซื้อจำนวนมาก และมีการทำแบบกระบวนการ ทำเป็นเครือข่าย จนในที่สุดจึงได้ร่วมกับทางตำรวจในการบุกจับที่ผ่านมา

“เราพบการกระทำความผิดทั้งสิ้น 33 พื้นที่ มีทั้งคลินิก มีทั้งบ้าน สถานที่ประกอบการ ของนายทุน โดยพบว่าเป็นคลินิกที่เกี่ยวข้อง 9 แห่ง เป็นแพทย์ 7 ราย โดยมี 2 รายที่เกี่ยวข้องโดยตรงและทางเจ้าหน้าที่ตำรวจได้ออกหมายเรียกหมายสมคบ หมายถึงน่าจะเป็นตัวการสำคัญ และเข้าข่ายที่ สำนักงานป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน (ปปง.) จะยึดทรัพย์ ส่วนแพทย์อีก 5 รายก็จะถูกหมายเรียกเช่นกัน เพราะมีส่วนเกี่ยวข้อง อย่างไรก็ตาม ได้ประสานกับแพทยสภาแล้วว่า หากได้รับข้อมูลเรียบร้อยแล้วจะสรุปรายชื่อผู้ประกอบวิชาชีพเวชกรรม ส่งให้แพทยสภา เพื่อดำเนินการด้านจริยธรรมต่อไป  ส่วนเรื่องของคลินิกก็เช่นกัน เมื่อได้ข้อสรุปแล้วเราจะส่งไปยังกรมสนับสนุนบริการสุขภาพ(สบส.) และหากเป็นต่างจังหวัดก็จะแจ้งไปยังสำนักงานสาธารณสุขจังหวัด(สสจ.) และเราได้ระงับการจำหน่ายยากลุ่มวัตถุออกฤทธิ์ต่อจิตประสาททั้งหมดกับคลินิกทั้ง 9 แห่ง” นพ.ธเรศ กล่าว

ผู้สื่อข่าวถามว่าคลินิกทั้ง 9 แห่งอยู่ในพื้นที่ไหน นพ.ธเรศ กล่าวว่า สำหรับคลินิกเหล่านี้ เป็นคลินิกเวชกรรม ซึ่งน่าจะเน้นเรื่องความสวยความงามด้วย โดยกระจายในพื้นที่ต่างจังหวัดทั้งหมด  6 จังหวัด  คือ  หนองบัวลำภู 1 แห่งอุบลราชธานี 1 แห่ง  อุดรธานี 1 แห่ง นครราชสีมา 2 แห่ง พิษณุโลก 2 แห่ง และตาก 2 แห่ง อย่างไรก็ตาม โดยพบว่าแพทย์ทั้ง 2 รายเป็นทั้งผู้ได้รับอนุญาตเปิดคลินิก และเป็นผู้ดำเนินการด้วย โดย 2 รายนี้น่าจะเป็นตัวการ

“ต้องย้ำบุคลากรทางการแพทย์ที่ได้รับอนุญาตในการใช้ยากลุ่มนี้ ต้องปฏิบัติตามข้อกฎหมายอย่างเข้มงวด เพราะโทษหนักมาก อย่างกรณีลักลอบใช้ยากลุ่มวัตถุออกฤทธิ์ในประเภท 2  อย่าง เฟนเตอร์มีน (Phentermine)  จะรับโทษหนักจำคุก 4-20 ปี และปรับตั้งแต่ 4 แสนบาท- 2 ล้านบาท ส่วนหากลักลอบใช้ยากลุ่มวัตถุออกฤทธิ์ประเภท 4  อย่าง  ไดอะซีแพม(Diazepam)   มีโทษจำคุก 2-10 ปี และปรับตั้งแต่ 2 แสนบาท – 1 ล้านบาท ที่สำคัญหากพบว่าเป็นตัวการในการทำผิดอีกก็อาจถูกยึดทรัพย์ด้วย ยิ่งเป็นแพทย์ก็จะถูกเรื่องจริยธรรมอีก” นพ.ธเรศ กล่าว แลว่า อย่างไรก็ตาม สำหรับที่ผ่านมา ทางอย.ได้มีการอนุญาตการใช้ยาไปทั้งสิ้น 526 แห่ง แบ่งเป็นรพ.รัฐ 4 แห่ง รพ.เอกชน 38 แห่ง และคลินิกอีก  484 แห่ง

ผู้สื่อข่าวถามว่าจะมีการปรับกฎระเบียบในการคุมเข้มมากขึ้นหรือไม่ นพ.ธเรศ กล่าวว่า ขณะนี้กำลังหารือว่าจะพัฒนาระบบและให้มีการติดตามผู้ใช้ยามากขึ้น โดย 1.ให้แพทย์ที่ได้รับอนุญาตการใช้ยากลุ่มเหล่านี้จะต้องติดตามผู้ป่วยที่รับยาไป โดยขอเลข 13 หลัก เนื่องจากในอดีตเคยพบว่ามีการใช้ชื่อผู้ที่เสียชีวิต 2.ผู้ป่วยแต่ละราย แพทย์จะต้องให้คำแนะนำการใช้ยาว่า มีผลข้างเคียงอย่างไร เพื่อให้ผู้ป่วยได้พิจารณาว่าจะใช้หรือไม่ และ3.จะมีการวางระบบออนไลน์ ในการกรอกข้อมูลแทนการกรอกในเอกสารกระดาษ เพราะอาจแก้ไขได้ ซึ่งทั้งหมดกำลังอยู่ระหว่างปรับระบบและจะทำให้เข้มงวดมากขึ้น

นพ.สุรโชค ต่างวิวัฒน์ รองเลขาธิการ อย.กล่าวว่า ยาลดน้ำหนัก หรือยาลดความอ้วนนั้น จะเป็นกลุ่มอนุพันธ์ของแอมเฟตามีน หรือยาบ้า ทำให้มีผลข้างเคียงสำคัญปวดหัว คลื่นไส้ มีผลต่อระบบไหลเวียนของเลือด ความดันโลหิตสูงได้ จึงต้องใช้อย่างระมัดระวัง และต้องใช้ในทางการแพทย์ที่คิดว่าเหมาะสม คือมีโรคอ้วน  และให้การรักษาควบคุมอย่างอื่นไม่ได้แล้ว และต้องใช้ในเวลาเหมาะสม อย่างสมัยก่อนมีไซบูทรามีน แต่ผลข้างเคียงสูง จึงถอนออกไปจากประเทศไทยแล้ว ปัจจุบันมีกลุ่มเฟนเตอร์มีน ซึ่งตามกฎหมาย อย.จะเป็นผู้จำหน่ายเพียงผู้เดียว โดยจะนำเข้าเข้ามา และจำหน่ายเป็นไปตามกฎหมาย  การให้อย.จัดจำหน่าย เพื่อจะได้ควบคุมได้ และจะมีการติดตามทะเบียนการจำหน่าย การให้ผู้ป่วย โดยอย.จะกำหนดเพดานไม่เกินเดือนละ 5,000 เม็ดต่อคลินิกแต่ละแห่ง

“จริงๆยานี้ควรใช้ระยะสั้น ไม่เกิน 4-6 สัปดาห์ หรือไม่เกิน 12 สัปดาห์มากสุด โดยการควบคุมของแพทย์ เพราะมีผลข้างเคียงต่อระบบหัวใจและหลอดเลือด รวมทั้งผลข้างเคียงต่างๆ อย่างไรก็ตาม ยาตัวนี้รักษาโรคอ้วนอย่างเดียว แต่เป็นโรคอ้วนที่จำเป็นต้องใช้จริงๆ  อย่างควบคุมไม่ได้แล้ว   และส่งผลต่อสุขภาพ แต่ต้องใช้ด้วยแพทย์เท่านั้น” นพ.สุรโชคกล่าว

ทพ.อาคม ประดิษฐ์สุวรรณ รองอธิบดีกรมสนับสนุนบริการสุขภาพ (สบส.) กล่าวว่า ขณะนี้  สบส. ได้มีการประสานขอข้อมูลคลินิกที่เกี่ยวข้อง กับทางเจ้าหน้าที่ที่รับผิดชอบเรื่องนี้แล้ว  เบื้องต้นนั้นอาจมีการดำเนินการผิดประเภท โดยผู้ดำเนินการไม่ทำการควบคุมดูแลผู้ประกอบวิชาชีพ ปล่อยให้มีการดำเนินการผิด เช่น เปิดเพื่อรักษาคนไข้แต่ปล่อยให้มีการขายยาอันตรายผ่านทางอินเตอร์เน็ตโดยไม่ตรวจร่างกาย หรือปล่อยให้มีผู้นำยาจากคลินิกออกมาขายก็จะมีความผิดด้วย ซึ่งการจะสรุปความผิดได้ต้องลงไปตรวจสอบในสถานที่ด้วย อย่างไรก็ตาม  สบส.จะเร่งดำเนินการตรวจสอบให้เร็วที่สุด

ที่มา:มติชนออนไลน์