ศาลใช้ระบบยื่นฟ้อง e-Filing แล้ว 37 แห่ง พัฒนาระบบชำระเงินอิเล็กทรอนิกส์

เมื่อวันที่ 17 มีนาคม นายสุริยัณห์ หงษ์วิไล โฆษกศาลยุติธรรม เปิดเผยว่า ปัจจุบันศาลได้นำระบบการยื่นคำฟ้องอิเล็กทรอนิกส์ หรือ e-Filing มาให้บริการแก่คู่ความได้แล้ว 37 ศาลทั่วประเทศ ประกอบด้วย 1.ศาลแพ่ง 2.ศาลแพ่งธนบุรี 3.ศาลแพ่งกรุงเทพใต้ 4.ศาลแขวงพระนครเหนือ 5.ศาลแขวงธนบุรี 6.ศาลแขวงนนทบุรี 7.ศาลแขวงพระนครใต้ 8.ศาลแขวงดอนเมือง 9.ศาลแขวงเชียงใหม่ 10.ศาลแขวงพัทยา 11.ศาลจังหวัดนนทบุรี 12.ศาลจังหวัดตลิ่งชัน 13.ศาลจังหวัดพระโขนง 14.ศาลจังหวัดมีนบุรี 15.ศาลจังหวัดธัญบุรี 16.ศาลจังหวัดเชียงใหม่ 17.ศาลจังหวัดฝาง 18.ศาลจังหวัดเกาะสมุย 19.ศาลแขวงราชบุรี 20.ศาลจังหวัดสมุทรปราการ 21.ศาลแขวงพระนครใต้ 22.ศาลจังหวัดหล่มสัก 23.ศาลจังหวัดนราธิวาส 24.ศาลจังหวัดป้ตตานี 25.ศาลจังหวัดยะลา 26.ศาลจังหวัดเบตง 27.ศาลจังหวัดนาทวี 28.ศาลแขวงระยอง 29.ศาลจังหวัดภูเก็ต 30.ศาลแขวงภูเก็ต 31.ศาลจังหวัดกระบี่ 32.ศาลจังหวัดพังงา 33.ศาลจังหวัดตะกั่วป่า 34.ศาลจังหวัดระนอง 35.ศาลจังหวัดอุดรธานี 36.ศาลแขวงอุดรธานี 37.ศาลจังหวัดเชียงราย โดยเมื่อทนายความยื่นคำฟ้องทางอิเล็กทรอนิกส์แล้ว ไม่จำเป็นต้องมีการยื่นคำฟ้องที่เป็นกระดาษอีก วิธีการคือสามารถเข้าระบบการยื่นฟ้องอิเล็กทรอนิกส์ได้ที่ https://efiling.coj.go.th/TH/

นายสุริยัณห์ กล่าวต่อไปว่า ในระยะเริ่มแรกของการใช้งานกลุ่มผู้ใช้งานคือทนายความ ตั้งข้อสังเกตว่ายังคงติดขัดในเรื่องของการชำระเงินซึ่งไม่อาจจะชำระทางระบบอิเล็กทรอนิกส์ได้ สำนักงานศาลยุติธรรมจึงพัฒนาระบบการชำระเงินอิเล็กทรอนิกส์ หรือ e-Payment System ขึ้นทำให้ผู้ใช้งานผ่านระบบ e-Filing สามารถชำระค่าธรรมเนียมศาลผ่านระบบอินเตอร์เน็ตแบงค์กิ้งได้ จึงมีสถิติการใช้ที่เพิ่มขึ้น แต่เนื่องจากการรับรู้และความคุ้นชินในระบบยังไม่มากนับถึงวันศุกร์ที่ 15 มีนาคม 2562 มีผู้เข้าเป็นสมาชิกระบบ e-Filing ประมาณ 1,100 ราย มีการยื่นฟ้องผ่านระบบ e-Filing จำนวนประมาณ 1,400 คดี คิดเป็นทุนทรัพย์ทั้งสิ้นประมาณ 120 ล้านบาท

ปัจจุบันการยื่นฟ้องทางอิเล็กทรอนิกส์ แม้จะสามารถยื่นได้เพียงแค่คดีแพ่ง แต่สำนักงานศาลยุติธรรมอยู่ระหว่างการพัฒนาระบบต่อไป เพื่อให้สามารถยื่นคำฟ้องผ่านระบบนี้ได้ทุกประเภท รวมถึงคดีอาญาด้วย ดังจะเห็นได้จากการลงนามบันทึกข้อตกลง (MOU) ร่วมกับธนาคารกรุงไทย เมื่อวันที่ 15 มีนาคม ที่ผ่านมา เป็นความร่วมมือการพัฒนาระบบศาลดิจิทัล เพื่อร่วมกันศึกษาและพัฒนาระบบงานเทคโนโลยีสารสนเทศของศาลยุติธรรม ขยายผลการให้บริการระบบการยื่นและส่งคำคู่ความและเอกสารโดย e-Filing และการให้บริการอื่นๆ เพิ่มเติม เพื่อมุ่งสู่การให้บริการในลักษณะระบบศาลดิจิทัลในอนาคต ซึ่งจะเชื่อมโยงกับระบบสำนวนอิเล็กทรอนิกส์ที่สำนักงานศาลยุติธรรมกำลังดำเนินการ เพื่อให้เทคโนโลยีเข้ามามีส่วนช่วยให้การดำเนินกระพิจารณาทางศาลเป็นไปได้อย่างสะดวกขึ้น ง่ายขึ้นและเสียค่าใช้จ่ายน้อยลงและยังช่วยในการลดปริมาณการใช้กระดาษลงด้วย สิ่งเหล่านี้เป็นไปตามนโยบายของนายชีพ จุลมนต์ ประธานศาลฎีกา และการพัฒนาศาลสู่ยุคดิจิทัลในปี 2563 หรือ D-Court 2020

 

 

 

ที่มา มติชนออนไลน์