ศาลฎีกาสั่งยกคำร้องประกันตัว “สรยุทธ-พวก” นอนเรือนจำพิเศษกรุงเทพ

เมื่อวันที่ 29 สิงหาคม ภายหลังศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบกลาง อ่านคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ให้จำคุกนางพิชชาภา เอี่ยมสะอาด หรือนางชนาภา บุญโต อดีตพนักงาน บริษัท อสมท มีความผิดตามพระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดของพนักงานในองค์การของรัฐ จำคุก 20 ปี ส่วนนายสรยุทธ สุทัศนะจินดา อดีตพิธีกรรายการข่าวชื่อดังและกรรมการผู้จัดการบริษัทไร่ส้ม และน.ส.มณฑา ธีระเดช พนักงานบริษัทไร่ส้ม มีความผิดฐานสนับสนุน จำคุก 13 ปี 4 เดือน และปรับบริษัท ไร่ส้ม รวม 80,000 บาท

จากกรณีเมื่อวันที่ 4 กุมภาพันธ์ 2548 ถึง 28 เมษายน 2549 นางพิชชาภา ซึ่งเป็นพนักงานจัดทำคิวโฆษณาของ บริษัท อสมท ได้จัดทำคิวโฆษณารวม ในรายการ “คุย คุ้ยข่าว” ซึ่งก่อนออกอากาศนางพิชชาภาใช้อำนาจหน้าที่โดยทุจริต ไม่รายงานการโฆษณาเกินเวลาเพื่อเรียกเก็บค่าโฆษณาเกินเวลาจาก บริษัท ไร่ส้ม จำนวน 17 ครั้ง ทำให้ บริษัท อสมท เสียหาย 138,790,000 บาท และยังได้เรียกรับเอาเงิน 658,996 บาท จากบริษัท ไร่ส้ม และจำเลยร่วม เพื่อเป็นการตอบแทนที่นางพิชชาภาไม่รายงานการโฆษณา ทำให้เกิดความเสียหายแก่ บริษัท อสมท โดยบริษัท ไร่ส้ม นายสรยุทธและนางสาวมณฑา จำเลยที่ 2 ถึง 4 เป็นผู้สนับสนุนในการกระทำผิด และมอบเช็คธนาคารธนชาติ สาขาพระราม 4 สั่งจ่ายเงินให้นางพิชชาภา

โดยศาลอุทธรณ์ ได้ส่งให้ศาลฎีกาพิจารณาประกันตัวจำเลย ภายหลังนายสรยุทธยื่นหลักทรัพย์เป็นเงินฝากคนละ 4 ล้านบาท เพื่อขอปล่อยตัวชั่วคราว

ต่อมาเวลา 16.30 น. ที่ศาลอาญาทุจริตและประพฤติมิชอบ ผู้สื่อข่าวรายงานว่าศาลฎีกามีคำสั่งเกี่ยวกับการประกันตัวถึงศาลอาญาทุจริตฯ ในคดีที่นายสรยุทธ และเจ้าหน้าที่บริษัทำไร่ส้มจำกัด กับอดีตพนักงาน บมจ.อสมท จำเลย ได้ยื่นคำร้องพร้อมหลักทรัพย์คนละ 4 ล้านบาท เพื่อขอประกันตัว

โดยนายมนต์อนันต์ เรืองจรัส ทนายความของนายสรยุทธ และคณะได้เข้าฟังคำสั่งของศาลฎีกา ศาลฎีกาได้พิเคราะห์คำร้องและหลักทรัพย์ในการประกันตัวของจำเลยทั้ง 3 รายเเล้ว เห็นว่าจึงมีคำสั่งยังไม่ให้ประกันตัวจำเลยในชั้นนี้ จึงให้ยกคำร้อง

ผู้สื่อข่าวรายงานว่าภายหลังศาลฎีกาไม่อนุญาตให้ประกันตัวนายสรยุทธกับพวก ทั้งหมดจึงยังถูกควบคุมตัวอยู่ที่เรือนจำพิเศษกรุงเทพและทัณฑสถานหญิงกลางตามหมายขังของศาลอาญาคดีทุจริตฯต่อไป สำหรับการยื่นคำร้องประกันตัวใหม่นั้น จำเลยสามารถยื่นได้ตลอด จนกว่าจะมีคำพิพากษาศาลฎีกาในคดีหลักออกมา เพียงแต่การยื่นคำร้องใหม่นั้นจำเลยจะต้องระบุเหตุและข้อเท็จจริงใหม่เพียงพอที่จะเปลี่ยนแปลงคำสั่งเดิมของศาลฎีกาซึ่งเป็นศาลสูง

 

ที่มา : มติชนออนไลน์