กรมควบคุมโรค ชี้ไข้หวัดใหญ่เริ่มหนัก ยอดผู้ป่วยพุ่ง ห่วงภาคเหนือ ฝุ่นพิษฟุ้ง เสี่ยงรับเชื้อง่าย

เมื่อวันที่ 24 มี.ค. นพ.สุวรรณชัย วัฒนายิ่งเจริญชัย อธิบดีกรมควบคุมโรค(คร.) กระทรวงสาธารณสุข(สธ.) กล่าวถึงกรณีสถานการณ์โรคไข้หวัดใหญ่ ที่ขณะนี้หลายคนกังวลว่าเกิดการระบาด ว่า สถานการณ์โรคไข้หวัดใหญ่เป็นไปตามที่ทางกรมควบคุมโรค(คร.) เคยพยากรณ์โรคเมื่อช่วงปลายปี 2561 ว่า ในปี 2562 จะเป็นหนึ่งโรคที่ต้องเฝ้าระวังสำหรับประเทศไทย ซึ่งข้อมูลสถานการณ์ตั้งแต่วันที่ 1 ม.ค.จนถึงวันที่ 21 มี.ค.62 พบผู้ป่วย 99,087 ราย และผู้เสียชีวิต 7 ราย ซึ่งเพิ่มจากสัปดาห์ที่แล้วผู้เสียชีวิต 6 ราย

ขณะที่ข้อมูลผู้ป่วยไข้หวัดใหญ่ปี 2561 พบ 180,000 ราย ผู้เสียชีวิต 32 ราย แต่จากสถานการณ์แค่ 2-3 เดือนต้นปี 2562 ก็เริ่มพบผู้ป่วยมากขึ้นแล้ว ก็ทำให้ต้องเฝ้าระวังมากขึ้น เพราะสถานการณ์ทั่วโลกก็พบผู้ป่วยเพิ่มขึ้นด้วย

“ตัวเลขผู้ป่วยค่อนข้างมาก แต่จำนวนผู้เสียชีวิตไม่มาก เพราะมีการฉีดวัคซีนป้องกันตั้งแต่ปีที่แล้ว ทำให้ครอบคลุมกว่าทุกปีที่ผ่านมา และผู้ป่วยที่ยังมีอาการป่วย 48 ชั่วโมงยังไม่ดีขึ้น ต้องรีบมาพบแพทย์ เพื่อให้ได้รับยาโอเซลทามิเวียร์ ก็จะช่วยลดอัตราการเกิดโรคแทรกซ้อน ทั้งปอดบวม ติดเชื้อแบคทีเรีย และลดการเสียชีวิต” นพ.สุวรรณชัย กล่าว และว่า

สิ่งสำคัญต้องสังเกตอาการ หากไข้ไม่ลด หรือมีอาการปวดเมื่อยรุนแรง รวมทั้งหอบ หายใจเร็ว แค่ 24 ชั่วโมงก็ต้องพบแพทย์ทันที ที่สำคัญอยากเตือนคนที่ป่วยขอให้รับผิดชอบสวมหน้ากากอนามัย เพื่อป้องกันการแพร่ระบาดด้วย

ผู้สื่อข่าวถามว่าสาเหตุที่ผู้ป่วยเพิ่มขึ้นเพราะอะไร อธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวว่า จริงๆ แล้วโรคไข้หวัดใหญ่เป็นการระบาดตามฤดูกาลอยู่แล้ว แต่จากข้อมูลของผู้เชี่ยวชาญทำให้ทราบว่า เชื้อมีการเปลี่ยนแปลงทีละเล็กน้อย อาจทำให้รอบการระบาดแคบลง อย่างก่อนหน้านี้มีการระบาดใหญ่ของไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ 2009 มาขณะนี้ก็ 10 ปีแล้ว แต่ไม่ได้หมายความว่า จะเกิดการระบาดใหญ่จนต้องวิตก

เพราะหากเชื้อมีการเปลี่ยนแปลงทีละเล็กน้อยก็จะไม่เกิดปัญหาการระบาดใหญ่ เนื่องจากส่วนใหญ่การระบาดใหญ่จะต้องเกิดการเปลี่ยนแปลงของเชื้อมากๆ แต่ครั้งนี้ไม่ใช่ ซึ่งขณะนี้สายพันธุ์ไข้หวัดใหญ่ที่พบ คือ เชื้อไข้หวัดใหญ่ชนิด A (H1N1) ชนิด A (H3N2) และชนิด B ซึ่งพบว่าชนิด B เพิ่มขึ้น เมื่อเทียบกับชนิด A แต่จากสถานการณ์ดังกล่าวไม่ต้องกังวล คือ ตระหนักได้ แต่อย่าตระหนก

นอกจากนี้ที่ต้องระวังคือ ในพื้นที่ภาคเหนือ อย่างเชียงใหม่ ที่มีปัญหาฝุ่นควันอยู่นั้น ซึ่งส่วนใหญ่จะเป็นฝุ่นควันจากการเผาไหม้ ทำให้แตกต่างจากกทม. ที่พบ พีเอ็ม 10 มากกว่าพีเอ็ม 2.5 ดังนั้น เราสามารถป้องกันตัวเองด้วยการสวมหน้ากากอนามัยธรรมดาก็ป้องกันได้ในระดับหนึ่ง

แต่ที่ต้องระมัดระวังคือ กลุ่มเสี่ยง ผู้ป่วยมีโรคประจำตัว ผู้สูงอายุ เด็ก หญิงตั้งครรภ์ ฯลฯ โดยเฉพาะโรคไข้หวัดใหญ่ก็น่ากังวล เนื่องจากเมื่อเราประสบปัญหาเรื่องฝุ่น จะส่งผลต่อระบบทางเดินหายใจ ทำให้เยื่อบุอทางเดินหายใจขับไล่ฝุ่นน้อยลง และทำให้เยื่อบุเกิดการอักเสบได้ง่ายขึ้น เมื่อเรารับเชื้อไข้หวัดใหญ่ก็จะทำให้มีความไวต่อเชื้อ ป่วยได้มากขึ้น ดังนั้น กลุ่มเสี่ยง หรือกลุ่มที่ดูแลสุขภาพไม่ค่อยดีมากก็ต้องระวัง” นพ.สุวรรณชัย กล่าว

 

 

 


ที่มา ข่าวสดออนไลน์