ศาลปกครองฯมีคำสั่งกลับคำสั่งของศาลปกครองภูเก็ต เป็นให้ยกคำขอทุเลาการบังคับตามคำสั่งที่กำหนดจำนวนนักท่องเที่ยวหมู่เกาะสิมิลัน

เมื่อวันที่ ๒๙ มีนาคม ๒๕๖๒ ศาลปกครองสูงสุดได้มีคำสั่งที่ ๗๘/๒๕๖๒ ในคดีที่นายนิพนธ์ สมเหมาะ ผู้ฟ้องคดีฟ้องกรมอุทยานแห่งชาติสัตว์ป่าและพันธุ์พืชและอธิบดีกรมอุทยานแห่งชาติสัตว์ป่าและพันธุ์พืชเป็นผู้ถูกฟ้องคดี ขอเพิกถอนประกาศลงวันที่ ๙ ตุลาคม ๒๕๖๑ เรื่อง การกำหนดจำนวนนักท่องเที่ยวที่เข้าไปในอุทยานแห่งชาติหมู่เกาะสิมิลัน และประกาศลงวันที่ ๙ ตุลาคม ๒๕๖๑ เรื่อง กำหนดอัตราค่าบริการสำหรับยานพาหนะประเภทเรือที่เข้าไปในอุทยานแห่งชาติหมู่เกาะสิมิลัน และมีคำขอให้ศาลทุเลาการบังคับตามประกาศทั้งสองฉบับ ซึ่งศาลปกครองภูเก็ตได้มีคำสั่งทุเลาการบังคับตามประกาศลงวันที่ ๙ ตุลาคม ๒๕๖๑ เรื่องการกำหนดจำนวนนักท่องเที่ยวที่เข้าไปในอุทยานแห่งชาติหมู่เกาะสิมิลันตามคำขอของผู้ฟ้องคดี ตั้งแต่วันที่ ๑ มกราคม ๒๕๖๒ ถึงวันที่ ๓๑ มีนาคม ๒๕๖๒ ไว้เป็นการชั่วคราวจนกว่าศาลจะมีคำพิพากษาหรือคำสั่งเป็นอย่างอื่น และผู้ถูกฟ้องคดีทั้งสองได้อุทธรณ์ต่อศาลปกครองสูงสุด

ศาลปกครองสูงสุดวินิจฉัยว่า อธิบดีกรมอุทยานแห่งชาติสัตว์ป่าและพันธุ์พืช ผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๒ มีอำนาจกำหนดมาตรการเพื่ออนุรักษ์คุ้มครองทรัพยากรธรรมชาติ เมื่อข้อเท็จจริงปรากฏว่า ในช่วงเวลาระหว่างปี พ.ศ. ๒๕๖๐ ถึง ปี พ.ศ. ๒๕๖๑ ก่อนที่จะมีประกาศพิพาทมีจำนวนนักท่องเที่ยวเข้าอุทยานแห่งชาติหมู่เกาะสิมิลันเฉลี่ย ๔,๕๖๒ คนต่อวัน โดยเคยมีจำนวนสูงสุดถึง ๗,๓๐๒ คนต่อวัน ซึ่งเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องจากช่วงปี พ.ศ. ๒๕๕๗ ถึง ปี พ.ศ. ๒๕๕๘ ที่มีนักท่องเที่ยว ๖๒๖ คนต่อวัน และปรากฏข้อมูลว่ากิจกรรมการท่องเที่ยวส่งผลกระทบด้านระบบนิเวศ กรณีจึงมีเหตุผลที่ผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๒ จะใช้อำนาจออกประกาศกำหนดจำนวนนักท่องเที่ยวได้ ส่วนข้ออ้างของผู้ฟ้องคดีเกี่ยวกับผลการศึกษาวิจัยที่ผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๒ นำมาประกอบดุลพินิจซึ่งดำเนินการโดยไม่ชอบตามขั้นตอนและวิธีการนั้น เป็นประเด็นพิพาทที่ศาลปกครองชั้นต้นจะต้องแสวงหาข้อเท็จจริงให้เป็นที่ยุติแล้วจึงจะมีคำวินิจฉัยในเนื้อหาแห่งคดีต่อไป ในชั้นนี้จึงยังฟังไม่ได้ว่าประกาศกรมอุทยานแห่งชาติสัตว์ป่าและพันธุ์พืชลงวันที่ ๙ ตุลาคม ๒๕๖๑ เรื่อง การกำหนดจำนวนนักท่องเที่ยวที่เข้าไปในอุทยานแห่งชาติหมู่เกาะสิมิลัน ที่เป็นเหตุแห่งการฟ้องคดีนี้น่าจะไม่ชอบด้วยกฎหมาย อุทธรณ์ของผู้ถูกฟ้องคดีทั้งสองฟังขึ้น

ศาลปกครองสูงสุดจึงมีคำสั่งกลับคำสั่งของศาลปกครองชั้นต้น เป็นให้ยกคำขอทุเลาคำบังคับตามกฎหรือคำสั่งทางปกครองของผู้ฟ้องคดี