ผู้ค้า 100 ราย ไม่ต่อ “แผงจตุจักร” กทม.เล็งหาเจ้าใหม่เข้าไปขายแทน

เมื่อวันที่ 31 มีนาคม นายเกรียงพล พัฒนรัฐ เลขานุการผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร เปิดเผยถึงความคืบหน้าการบริหารจัดการตลาดนัดจตุจักร ภายหลังกรุงเทพมหานคร (กทม.) รับโอนภารกิจบริหารตลาดนัดจตุจักร พื้นที่ 68 ไร่ 1 งาน 88 ตารางวา มาจากการรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) ว่า หลังจากสิ้นสุดสัญญาเช่าแผงค้าระหว่างผู้ค้ากับ รฟท.เมื่อวันที่ 28 กุมภาพันธ์ที่ผ่านมา รฟท.ได้ส่งมอบข้อมูลผู้ค้าให้ กทม.แล้ว รวมจำนวนผู้ค้าทั้งสิ้น 10,334 ราย แบ่งเป็น แผงค้าทั่วไป 9,495 ราย และผู้ค้าตลาดต้นไม้ จำนวน 839 ราย ทั้งนี้ ผู้ค้าได้ไปแสดงสิทธิเช่าแผงค้าและทำสัญาเช่าใหม่กับ กทม.แล้วเกือบร้อยละ 100

“แต่ยังเหลืออีกประมาณเกือบ 100 แผงค้า ที่ยังไม่มีผู้ไปแสดงสิทธิ ซึ่ง กทม.อยู่ระหว่างติดต่อผู้ค้าเหล่านี้เพื่อให้ไปยืนยันสิทธิ ทั้งนี้ หากยังไม่ได้รับการยืนยันสิทธิภายในเวลาที่กำหนด หรือผู้ค้าเดิมสละสิทธิ กทม.จะหารือกับผู้เกี่ยวข้องในการเปิดโอกาสให้บุคคลอื่นเข้ามาเช่าแผงค้าแทน ซึ่งอาจจะใช้วิธีจับฉลาก สำหรับอัตราค่าเช่าแผงค้าใหม่ภายในตลาดนัดจตุจักรนั้น กทม.เก็บค่าเช่าแผงทั่วไปแผงละ 1,800 บาทต่อเดือน ส่วนแผงต้นไม้เก็บเดือนละ 900 บาท” นายเกรียงพลกล่าว

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เมื่อวันที่ 1 ธันวาคม 2561 กทม.ได้ร่วมกับ รฟท. และสมาคมผู้ค้าตลาดนัดจตุจักร ได้ลงนามส่งมอบพื้นที่ตลาดนัดจตุจักรให้ กทม.เป็นผู้บริหารจัดการมติคณะรัฐมนตรี (ครม.) ที่รับทราบเมื่อวันที่ 20 พฤศจิกายน 2561 ว่ากระทรวงคมนาคมจะโอนความรับผิดชอบการบริหารจัดการตลาดนัดจตุจักรไปอยู่ในความดูแลรับผิดชอบของ กทม. ซึ่ง กทม.จ่ายค่าเช่าที่ดินในอัตราปีละ 169,423,250 บาท ระยะเวลาไม่เกิน 10 ปี หรือสิ้นสุดในปี 2571 โดย รฟท.จะพิจารณาทบทวนค่าเช่าโดยรวมทุก 3 ปี และ กทม.จะปรับลดค่าเช่าแผงจากราคาเดิมที่เก็บ 3,175 บาทต่อเดือน โดยในช่วงแรก รฟท.จะให้ความร่วมมือและช่วยเหลือในการบริหารจัดการเบื้องต้นในช่วงเปลี่ยนถ่ายภารกิจ พร้อมทั้งขอเวลาในการจัดการปัญหาต่างๆ และรวบรวมเอกสารจำนวนผู้ค้าประมาณ 6 เดือน ก่อนที่จะส่งรายละเอียดให้ กทม.เป็นผู้ดำเนินการ กทม.

ทั้งนี้ นับเป็นครั้งที่ 2 ที่ กทม.ได้สิทธิกลับมาบริหารจัดการนัดจตุจักร หลังจากที่ได้รับผิดชอบบบริหารมาแล้วตั้งแต่ปี 2525-2554 โดยที่ผ่านมา กทม.ได้พัฒนาจนทำให้ตลาดนัดจตุจักรเป็นสัญลักษณ์และแหล่งท่องเที่ยวสำคัญของกรุงเทพมหานครและประเทศไทย โดยเฉลี่ยมีประชาชนและนักท่องเที่ยวเข้ามาในพื้นที่ประมาณ 2 แสนคนต่อวัน ซึ่งครั้งนี้ กทม.มุ่งเน้นการบริหารจัดการตลาดนัดจตุจักรภายใต้แนวคิด “เสน่ห์ วิถีไทย ประทับใจนักท่องเที่ยว”

 

 

ที่มา : มติชนออนไลน์