ราชกิจจาฯ ประกาศใช้พ.ร.บ.ตำรวจฯ เปิดทางฟันทุจริตแม้พ้นราชการ

แฟ้มภาพ

เมื่อวันที่ 6 เมษายน ราชกิจจานุเบกษาเผยแพร่พระราชบัญญัติตำรวจแห่งชาติ (ฉบับที่ 4) พ.ศ.2562 โดยระบุว่า สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมหาวชิราลงกรณ บดินทรเทพยวรางกูร มีพระราชโองการโปรดเกล้าฯ ให้ประกาศว่า โดยที่เป็นการสมควรแก้ไขเพิ่มเติมกฎหมายว่าด้วยตำรวจแห่งชาติมีบทบัญญัติบางประการเกี่ยวกับการจำกัดสิทธิและเสรีภาพของบุคคล เพื่อเป็นการป้องกันและปราบปรามการทุจริตและประพฤติมิชอบของข้าราชการตำรวจ ซึ่งการตราพระราชบัญญัตินี้สอดคล้องกับเงื่อนไขที่บัญญัติไว้ในมาตรา 26 ของรัฐธรรมนูญแล้ว จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ตราพระราชบัญญัติตำรวจแห่งชาติ (ฉบับที่ 4) พ.ศ.2562 โดยให้ใช้บังคับตั้งแต่วันถัดจากวันประกาศในราชกิจจานุเบกษาเป็นต้นไป

ทั้งนี้ เหตุผลในการประกาศใช้พ.ร.บฉบับนี้ คือ ปัจจุบันปัญหาความไม่สอดคล้องกันระหว่างบทบัญญัติของกฎหมายว่าด้วยการดำเนินการทางวินัยของข้าราชการฝ่ายพลเรือนประเภทต่างๆ ส่งผลให้เกิดความไม่เป็นธรรม และไม่เสมอภาคในการดำเนินการทางวินัยแก่ข้าราชการที่ออกจากราชการไปแล้ว นอกจากนี้ยังมีปัญหาความแตกต่างระหว่างกฎหมายว่าด้วยการดำเนินการทางวินัยของข้าราชการฝ่ายพลเรือน กับกฎหมายขององค์กรตรวจสอบการทุจริต ซึ่งทำให้การดำเนินการทางวินัยเพื่อพิจารณาลงโทษแก่ข้าราชการที่ถูกองค์กรตรวจสอบการทุจริตชี้มูลความผิดหลังออกจากราชการไปแล้วในบางกรณี ไม่อาจดำเนินการตามฐานความผิดที่ชี้มูลได้ จึงควรให้การดำเนินการทางวินัยแก่ผู้ที่ออกจากราชการเป็นมาตรฐานเดียวกัน และสอดคล้องกับกฎหมายขององค์กรตรวจสอบการทุจริต

สำหรับสาระสำคัญของพ.ร.บ.ดังกล่าว เป็นการกำหนดให้ข้าราชการตำรวจที่ออกจากราชการซึ่งถูกกล่าวหาว่าขณะรับราชการได้กระทำความผิดอาญาอันไม่ใช่เป็นความผิดที่ได้กระทำโดยประมาทที่ไม่เกี่ยวกับราชการ หรือความผิดลหุโทษ ผู้มีอำนาจดำเนินการทางวินัย สามารถดำเนินการสืบสวนหรือพิจารณาดำเนินการทางวินัย และสั่งลงโทษข้าราชการตำรวจผู้นั้นได้ โดยต้องสั่งลงโทษภายใน 3 ปี นับแต่วันที่ผู้นั้นออกจากราชการ ในกรณีที่ศาลปกครองมีคำพิพากษาถึงที่สุดให้เพิกถอนคำสั่งลงโทษ หรือองค์กรพิจารณาอุทธรณ์ คำสั่งลงโทษทางวินัย หรือองค์กรตรวจสอบรายงานการดำเนินการทางวินัยมีคำวินิจฉัยถึงที่สุด หรือมีมติให้เพิกถอนคำสั่งลงโทษ เพราะเหตุกระบวนการดำเนินการทางวินัยไม่ชอบด้วยกฎหมาย ให้ผู้มีอำนาจดำเนินการทางวินัยให้แล้วเสร็จภายใน 2 ปีนับแต่วันที่มี คำพิพากษาถึงที่สุด หรือมีคำวินิจฉัยถึงที่สุด หรือมีมติ แล้วแต่กรณี ถ้าผลการสอบสวนพิจารณา ปรากฏว่าผู้นั้นกระทำผิดวินัยอย่างไม่ร้ายแรง ก็ให้งดโทษ ความในมาตรานี้ไม่ให้ใช้บังคับแก่ข้าราชการตำรวจซึ่งถูกสั่งให้ออกจากราชการไว้ก่อน

นอกจากนี้ ในกรณีที่คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) หรือ คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตในภาครัฐ (ป.ป.ท.) มีมติชี้มูลความผิดข้าราชการตำรวจที่ออกจากราชการแล้ว การดำเนินการทางวินัยและสั่งลงโทษแก่ข้าราชการตำรวจผู้นั้นให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์และเงื่อนไขที่กำหนดไว้ในกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริตหรือกฎหมายว่าด้วยมาตรการของฝ่ายบริหารในการป้องกันและปราบปรามการทุจริต แล้วแต่กรณีการดำเนินการทางวินัยตามวรรคหนึ่ง หากปรากฏว่าผู้นั้นกระทำผิดวินัยอย่างไม่ร้ายแรง ก็ให้งดโทษ

อ่านรายละเอียดได้ที่  ราชกิจจานุเบกษา

 

 

 


ที่มา มติชนออนไลน์