การดำเนินงานแก้ไขปัญหาหมอกควัน 9 จังหวัดภาคเหนือ 9 เมษายน 2562

1.สถานการณ์ฝุ่นละอองขนาดไม่เกิน 2.5 ไมครอน (PM2.5) เฉลี่ย 24 ชั่วโมง ประจำวันอังคารที่ 9 เมษายน 2562 ณ เวลา 9.00 น. จากการตรวจวัด 17 พื้นที่ ใน 9 จังหวัดภาคเหนือ สรุปได้ดังนี้
– ค่า PM2.5 มีค่าอยู่ระหว่าง 43 – 106 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร (มคก./ลบ.ม.) (ค่ามาตรฐานเฉลี่ย 24 ชั่วโมง มีค่าไม่เกิน 50 มคก./ลบ.ม.) โดยพบค่าสูงสุดที่ ต. เวียงพางคำ อ. แม่สาย จ. เชียงราย และค่าต่ำสุดที่ ต. ในเวียง อ. เมือง จ. น่าน

– มีค่าลดลง 9 พื้นที่ เพิ่มขึ้น 5 พื้นที่ และเท่าเดิม 2 พื้นที่ เมื่อเปรียบเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของเมื่อวาน

– คุณภาพอากาศมีค่าอยู่ในเกณฑ์ปานกลาง – มีผลกระทบต่อสุขภาพ โดยพื้นที่ส่วนใหญ่เป็นสีส้ม 12 พื้นที่ (เริ่มมีผลกระทบต่อสุขภาพ) สีเหลือง 4 พื้นที่ (คุณภาพอากาศปานกลาง) และสีแดง 1 พื้นที่ (มีผลกระทบต่อสุขภาพ)

หมายเหตุ : N/A หมายถึง ไม่มีข้อมูลเนื่องจากเครื่องมือขัดข้อง

2. สถานการณ์จุดความร้อน (Hotspot) ในวันที่ 8 เมษายน 2562 จากดาวเทียมระบบ MODIS ดังนี้

– จุดความร้อนรวมทั้ง 9 จังหวัดภาคเหนือ มีทั้งสิ้น 116 จุด โดยเพิ่มขึ้นจากวันที่ 7 เมษายน 2562 จำนวน 76 จุด หรือคิดเป็นเพิ่มขึ้น 190.0 %

– มีจำนวนมากสุดที่ จ. แม่ฮ่องสอน จำนวน 34 จุด

– สามารถแบ่งตามประเภทพื้นที่ได้ดังนี้
1) พื้นที่ป่าอนุรักษ์ 53 จุด
2) เขต สปก. 1 จุด
3) ป่าสงวนแห่งชาติ 58 จุด
4) พื้นที่เกษตร 3 จุด
5) ชุมชนและอื่นๆ 1 จุด

หมายเหตุ : ข้อมูลจุดความร้อนจากดาวเทียมระบบ MODIS
เพิ่มขึ้น * หมายถึง มีค่าเพิ่มขึ้น แต่คำนวณ % การเพิ่มขึ้นไม่ได้เนื่องจากฐานเป็นศูนย์

๓. สถานการณ์หมอกควันข้ามแดน โดยสำนักงานพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ (องค์การมหาชน) ( GISTDA) รายงานการปกคลุมของหมอกควันจากดาวเทียมระบบ MODIS ประจำวันที่ 8 เมษายน 2562 พบว่า มีกลุ่มหมอกควันปกคลุมบริเวณฝั่งตะวันตกของภาคเหนือ ได้แก่ จังหวัดแม่ฮ่องสอน และตาก และมีทิศทางลมพัดจากทิศตะวันตกและตะวันตกเฉียงเหนือเข้าสู่ประเทศไทย ดังนั้นนอกจากปัญหาการเผาในที่โล่งภายในประเทศไทยแล้ว จังหวัดดังกล่าวอาจได้รับผลกระทบจากหมอกควันข้ามแดนได้อีกด้วย

3. การดำเนินงานแก้ไขปัญหาหมอกควันของ 9 จังหวัดภาคเหนือ

จังหวัดเชียงใหม่

นายศุภชัย เอี่ยมสุวรรณ ผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงใหม่ เป็นประธานแถลงข่าวความคืบหน้าในการแก้ไขปัญหาหมอกควันไฟป่า สรุปสาระสำคัญได้ดังนี้

– วันที่ 8 เมษายน 2562 เกิดจุดความร้อน 46 จุด ใน 12 อำเภอ โดยแต่ละอำเภอได้เร่งดำเนินการจนดับไฟได้เกือบทั้งหมดแล้ว เหลือเพียงพื้นที่ในป่าลึกซึ่งเข้าดับไฟได้ยาก ปัญหาเกิดจากการลักลอบหาของป่า หาผึ้ง ซึ่งได้หารือกับนายอำเภอทุกอำเภอให้ดูแลพื้นที่อย่างเข้มข้น ทุกอำเภอมีชุดปฏิบัติการในพื้นที่ทำงานตลอดเวลาประจำพักค้างอยู่ในตำบล สามารถเข้าปฏิบัติการแก้ไขปัญหาได้โดยเร็ว คาดว่าการดับไฟจะดำเนินการเสร็จสิ้นไม่นานนี้

– วันที่ 2 เมษายน 2562 ซึ่งนายกรัฐมนตรีได้ลงพื้นที่ติดตามสถานการณ์ใน 9 จังหวัดภาคเหนือ พบว่าจังหวัดเชียงใหม่เกิดจุดวามร้อน 478 จุด แต่ในวันนี้ (8 เมษายน 2562) เกิดจุดความร้อน 46 จุด เป็นเพราะการทำงานอย่างจริงจังต่อเนื่องของทุกภาคส่วน ทั้งชุมชน ชาวบ้าน อำเภอ ชุดปฏิบัติการทั้ง 91 ชุด ทหาร ตำรวจ ซึ่งยังคงต้องดำเนินการต่อไป ทั้งนี้นายกรัฐมนตรีได้กำหนดว่าวันที่ 9 เมษายน 2562 ปัญหาหมอกควันภาคเหนือจะต้องดีขึ้นอย่างชัดเจน ซึ่งจังหวัดเชียงใหม่จะดำเนินการอย่างเข้มข้นต่อเนื่องไปจนถึงวันที่ 15 เมษายนเป็นอย่างน้อย เพื่อรักษาพื้นที่ให้ได้ และไม่ให้เกิดเหตุไฟป่าซ้ำอีก

– เครื่องดูดฝุ่นละออง PM2.5 ขนาดใหญ่ ที่จังหวัดขอนแก่นนำมามอบให้ สามารถฟอกอากาศในพื้นที่โล่งได้กว้าง โดยทางจังหวัดได้นำไปติดตั้งที่ประตูท่าแพ ซึ่งเป็นพื้นที่ที่มีชุมชนและมีนักท่องเที่ยวจำนวนมาก ซึ่งจะเกิดประโยชน์สูงสุด

– สภาพอากาศวันนี้เริ่มดีขึ้น ค่าฝุ่นละออง PM2.5 เริ่มลดลง ตนเองได้ติดตามอย่างใกล้ชิด ทั้งนี้กรมฝนหลวงและการบินเกษตรแจ้งว่าความชื้นในอากาศลดลงกว่าเมื่อวาน หากสภาพอากาศเหมาะสมจะขึ้นบินปฏิบัติการทันที

จังหวัดลำพูน

– หน่วยป้องกันและพัฒนาป่าไม้ลี้ และหน่วยส่งเสริมการควบคุมไฟป่าลำพูน ปฎิบัติงานร่วมกับเจ้าหน้าที่ทหารชุด มว.รส.ที่ 2 อำเภอลี้ ทหารค่ายพิชิตปรีชากร ร.7 พัน 2 และเจ้าหน้าที่ตำรวจ สภ.ลี้ จัดทำแนวกันไฟป้องกันไฟป่าในพื้นที่ป่าชุมชนรอบจุดตรวจด่านวังดิน ท้องที่ป่าจี้ หมู่ที่ 3 ตำบลป่าไผ่ อำเภอลี้ จังหวัดลำพูน ระยะทาง 2 กิโลเมตร

– หน่วยส่งเสริมการควบคุมไฟป่าลำพูน กรมป่าไม้ ร่วมกับเจ้าหน้าที่ทหารค่ายพิชิตปรีชากร ร.7 พัน 2 ร่วมกันออกลาดตระเวนป้องกันและควบคุมไฟป่าท้องที่ตำบลศรีวิชัย และตำบลแม่ตืน อำเภอลี้ จังหวัดลำพูน ตรวจพบไฟป่า จำนวน 2 จุด และดำเนินการดับไฟ ดังนี้ 1) ร่วมกับรถดับเพลิงองค์การบริหารส่วนตำบลเวียงแก้ว ดับไฟท้องที่บ้านสันป่าสัก หมู่ที่ 5 ตำบลแม่ตืน อำเภอลี้ จังหวัดลำพูน บริเวณป่าแพะหัวขัว ไฟไหม้เข้าสวนลำไยราษฎร มีพื้นที่เสียหาย 5 ไร่ โดยไม่ทราบสาเหตุการเกิดไฟ 2) ดับไฟท้องที่บ้านห้วยศาลา หมู่ที่ 7 ตำบลแม่ตืน อำเภอลี้ จังหวัดลำพูน สภาพป่าเป็นไร่เลื่อนลอยในเขตป่าสงวนแห่งชาติป่าแม่ตืนและป่าแม่แนต มีพื้นที่เสียหาย 25 ไร่ โดยไม่ทราบสาเหตการเกิดไฟป่า

– กองบัญชาการควบคุม กองกำลังรักษาความสงบเรียบร้อย จังหวัดลำพูน โดย มว.รส.ที่ ๒ (อ.ลี้) ร้อย.รส.ที่ ๒ (ร.๗ พัน.๒) นำกำลังพลร่วมกับ ชป.ดับไฟป่าแม่เหยียบ จำนวน ๒ ชป. จนท.ตร.สภ.ลี้ จำนวน ๕ นาย ฝ่ายปกครอง ๕ นาย หน่วยป้องกันรักษาป่า ลพ.๖ (แม่เหียบ) ผู้นำชุมชน ผู้ใหญ่บ้านจิตอาสา และราษฎรในพื้นที่ ตำบลป่าไผ่ ร่วมกันจัดทำแนวกันไฟป้องกันไฟป่าในพื้นที่ป่าชุมชนซึ่งทำเสร็จแล้วเป็นความยาว ๕ กิโลเมตร กว้าง ๓ เมตร ควบคุมพื้นที่ป่าและพื้นที่เกษตรประมาณ ๕๐๐ ไร่ ณ บ้านป่าจี้ หมู่ที่ ๓ ตำบลป่าไผ่ อำเภอลี้ จังหวัดลำพูน ผลการปฏิบัติเป็นไปด้วยความเรียบร้อย เหตุการณ์โดยทั่วไปปกติ

– สถานีควบคุมไฟป่าบ้านโฮ่ง สำนักบริหารพื้นที่อนุรักษ์ที่ 16 (เชียงใหม่) ปฏิบัติงานลาดตระเวนไฟ พบไฟ 1 จุด บริเวณขุนห้วยตวง หมู่ 7 ต.ป่าพลู อ.บ้านโฮ่ง จ.ลำพูน จึงดับไฟร่วมกับชาวบ้านเครือข่ายฯบ้านป่าแป๋ ผู้ใหญ่บ้านหมู่ 3 13 และ 14 ต.ป่าพลู อ.บ้านโฮ่ง จ.ลำพูน พบพื้นที่เสียหาย 52 ไร่ สาเหตุมาจากการหาของป่า

จังหวัดพะเยา

นายประพันธ์ กาใจทราย ผู้อำนวยการสำนักงานทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมจังหวัดพะเยา เป็นประธานการเปิดโครงการลดปริมาณเชื้อเพลิงในพื้นที่ 9 จังหวัดภาคเหนือ โดยบูรณาการความร่วมมือระหว่างกรมป่าไม้และกรมราชทัณฑ์ ณ อาคารหอประชุมเทศบาลตำบลแม่กา อำเภอเมืองพะเยา จังหวัดพะเยา โดยร่วมกิจกรรมทำแนวกันไฟและทำปุ๋ยหมักจากกิ่งไม้เพื่อลดเชื้อเพลิง โดยมีเจ้าหน้าจากสำนักจัดการทรัพยากรป่าไม้ที่ 2 เชียงราย เจ้าหน้ากรมราชทัณฑ์ เครือข่ายอาสาสมัครไฟป่า กรมป่าไม้ มีผู้ร่วมงานประมาณ 300 คน

จังหวัดแม่ฮ่องสอน

– เจ้าหน้าที่เขตห้ามล่าสัตว์ป่าลุ่มน้ำปายฝั่งซ้าย สังกัดชุดปฏิบัติการเฉพาะกิจแก้ไขปัญหาไฟป่าและหมอกควันตำบลเมืองแปง ชุดที่ 1 ทำการดับไฟป่าในพื้นที่รับผิดชอบ บริเวณรอยต่อ ต.เมืองแปง อ.ปาย จ.แม่ฮ่องสอน กับ อ.กัลยาณิวัฒนา จ.เชียงใหม่ บริเวณป่าหัวห้วยตาด พบไฟป่าติดต้นสน จึงได้ทำการดับไฟเรียบร้อยแล้ว โดยไม่ทราบสาเหตุการเกิดไฟป่า และเจ้าหน้าที่ชุดเฉพาะกิจแก้ไขปัญหาไฟป่าและหมอกควันตำบลเมืองแปง ชุดที่ 2 เข้าดับไฟป่าในพื้นที่

– เจ้าหน้าที่สถานีควบคุมไฟป่าปางตอง ร่วมกับชุดปฏิบัติการไฟป่าศูนย์ป้องกันแก้ไขปัญหาไฟป่าและหมอกควัน ต.หมอกจำแป่ ออกประชาสัมพันธ์แจกโปสเตอร์ และลาดตระเวนตรวจหาไฟป่าการลักลอบเผาป่า ดับไฟป่าในท้องที่ ต.หมอกจำแป่ ต.ปางหมู ต.ห้วยผา อ.เมือง และเจ้าหน้าที่สถานีฯ ร่วมกับชุดปฏิบัติไฟป่าศูนย์ฯ ต.หมอกจำแป่ ตรวจเช็คจุด Hotspot ในท้องที่ ต.หมอกจำแป่ และ ต.ปางหมู จำนวน 2 จุด บริเวณทางทิศเหนือ บ้านไม้สะเป่ และทางทิศตะวันตก บ้านรักไทย ใกล้ชายแดนประเทศพม่า เป็นพื้นที่อันตราย

– นายยุทธนา ศรีเงินงาม หัวหน้าอุทยานแห่งชาติสาละวิน ให้การต้อนรับผู้ว่าราชการจังหวัดแม่ฮ่องสอน และร่วมประชุมสรุปข้อมูลติดตามสถานการณ์ไฟป่าหมอกควันที่อุทยานแห่งชาติสาละวิน จากนั้นได้ประชุมหน่วยงานที่ร่วมแก้ไขปัญหาไฟป่าหมอกควัน ที่สำนักบริหารพื้นที่อนุรักษ์ที่ 16 สาขาแม่สะเรียง โดยมีผู้อำนวยการสำนักป้องกัน ปราบปรามและควบคุมไฟป่า กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช ผอ.สบอ.16 สาขาแม่สะเรียง หน.หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง จนท.ทหาร ฝ่ายปกครอง เข้าร่วมรายงานสถานการณ์ ปัญหา อุปสรรคเพื่อพิจารณาหาทางแก้ไขปัญหาไฟป่า และหมอกควันในพื้นที่ จ.แม่ฮ่องสอน และเจ้าหน้าที่อุทยานแห่งชาติสาละวิน ยังคงเฝ้าระวังเตรียมพร้อมรับสถานการณ์ไฟป่าตลอด 24 ชั่วโมง

จังหวัดตาก
ศูนย์บัญชาการหมอกควันและไฟป่าอำเภอแม่สอด ยังคงจัดรถดับเพลิงเพื่อทำการฉีดพ่นละอองน้ำและล้างถนน เพื่อลดปริมาณฝุ่นละอองในอากาศในพื้นที่อำเภอแม่สอด โดยได้รับการสนับสนุนรถดับเพลิงจาก หน่วยเฉพาะกิจกรมทหารราบที่ 14, เทศบาลนครแม่สอด, เทศบาลตำบลท่าสายลวด, องค์การบริหารส่วนตำบลแม่ปะ, องค์การบริหารส่วนตำบลพระธาตุผาแดง, ศูนย์ป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยเขต 9 พิษณุโลก

จังหวัดน่าน

– เจ้าหน้าที่หน่วยส่งเสริมการควบคุมไฟป่านาน้อย ปฏิบัติการดับไฟป่าในเขตป่าอนุรักษ์ เขตป่าอุทยานฯขุนสถาน จำนวน 3 จุด บริเวณป่าขุนเคิม – ขุนช้างชื่อ พบพื้นที่ป่าเบญจพรรณเสียหาย 300 ไร่ ปฏิบัติการดับไฟป่าในเขตป่าห้วยปลาดุก พบพื้นที่ป่าเบญจพรรณเสียหาย 30 ไร่ และปฏิบัติการดับไฟป่าในเขตป่าห้วยจำหิน พบพื้นที่ป่าเบญจพรรณเสียหาย 30 ไร่

– สถานีควบคุมไฟป่าแม่จริม ได้ปฏิบัติการออกลาดตระเวนทางเท้า บริเณป่าบ้านน้ำว้า บ้านน้ำพระทัย ต.น้ำพาง อ.แม่จริม และทางรถยนต์ตามเส้นทางสาย บ้านใหม่ – บ้านนาเซีย อ.แม่จริม จังหวัดน่าน ผลการปฏิบัติ ไม่พบการเกิดไฟป่าในพื้นที่รับผิดชอบแต่อย่างใด และดำเนินการจัดทำแนวกันไฟพื้นที่เสี่ยงต่อการเกิดไฟป่า บริเวณป่าสงวนฯ ท้องที่บ้านน้ำพระทัย ต.น้ำพาง อ.แม่จริม จ.น่าน พร้อมทั้งตั้งจุดตรวจคัดกรองผู้คนเข้าเขตป่าสงวนฯ และอุทยานฯ

– กรมทหารพรานที่ 32 ปฏิบัติการดับไฟป่าในเขตป่าห้วยขาม เขตป่าสงวนแห่งชาติป่าน้ำสา ท้องที่บ้านบ่อหอย ต.ยาบหัวนา อ.เวียงสา จังหวัดน่าน ปฏิบัติการดับไฟป่าและทำแนวกันไฟในเขตป่าห้วยปลาดุก ป่าอุทยานขุนสถาน ท้องที่บ้านน้ำเคิม และปฏิบัติการดับไฟป่าบริเวณป่าผาแดง แต่ไม่สามารถควบคุมไฟป่าได้เนื่องจากพื้นที่เป็นผาชัน การเข้าลำบากและอันตราย ทั้งนี้เจ้าหน้าที่ได้คอยเฝ้าระวังตลอด 24 ชม.

– หน่วยป้องกันและพัฒนาป่าไม้เฉลิมพระเกียรติ ร่วมกับราษฏรบ้านใหม่ไชยธงรัตน์ ปฏิบัติการดับไฟป่าและทำแนวกันไฟเพื่อป้องกันการเกิดไฟป่าปะทุขึ้นอีก ในพื้นที่ป่าอนุรักษ์ด้านทิศเหนือของหมู่บ้าน พบพื้นที่ป่าเสียหาย 50 ไร่

– หน่วยงานองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น และปกครองในพื้นที่หลายตำบลในอำเภอภูเพียง จังหวัดน่าน ได้ดำเนินการฉีดน้ำเพื่อสร้างความชุ่มชื้นและลดปัญหามลพิษหมอกควันในอากาศอันเนื่องจากไฟป่าและหมอกควัน

จังหวัดลำปาง

– อำเภอวังเหนือสนธิกำลังเจ้าหน้าที่จัดชุดลาดตระเวนบริเวณตำบลที่เสี่ยงและพื้นที่ทั่วไป จำนวน 8 ตำบล รวม 8 ชุด (ฝ่ายปกครอง อ.วังเหนือ เจ้าหน้าที่ทหาร ร้อย.รส.ที่ 3 ค่ายประตูผา ผญบ.บ้านวังนิมตร ม.17
ต.ร่องเคาะ เจ้าหน้าที่อุทยานแห่งชาติดอยหลวง (วังแก้ว) หน่วยป้องกันและพัฒนาป่าไม้วังเหนือ สมาชิก อส.อ. วังเหนือ) สภ.วังเหนือ กำนัน ผญบ.ต.วังเหนือ หน่วยส่งเสริมและควบคุมไฟป่าแจ้ห่ม พี่น้องจิตอาสาบ้านวังนิมิตร หมู่ที่ 17 ต.ร่องเคาะ ออกลาดตระเวน จุดน้ำตกธารทอง/วังแก้ว ต.วังแก้ว ต.วังทอง เส้นทางวังเหนือ-แม่ขะจาน ต.วังเหนือ และแนวสันเขาห้วยปู่พรหม ต.ร่องเคาะ อ.วังเหนือ พบไฟไหม้ป่า พื้นที่บริเวณภูเขาสันอ่างเก็บน้ำห้วยก้อด ต.ร่องเคาะ จำนวน 3 จุด เสียหายประมาณ 10 ไร่เศษ ได้ดำเนินการดับแล้ว ส่วนจุด Hotspot ผลการตรวจสอบ จำนวน 7 จุด สามารถควบคุมไฟได้แล้ว จำนวน 7 จุด และประชาสัมพันธ์สร้างการรับรู้โดย ชุดลาดตระเวนเฝ้าระวังไฟป่า กับชาวบ้านพื้นที่ หมู่ที่ 2 13 17 ต.ร่องเคาะ อ.วังเหนือ จ.ลำปาง เพื่อขอความร่วมมืองดเผาป่าเศษวัชพืชการเกษตร

– นางสุรีย์ มาปลูก นายอำเภอแม่ทะ อำนวยการการดับไฟป่าในพื้นที่ที่เกิดจุด hotspot ณ บ้านด่าน ม.2 ตำบลสันดอนแก้ว โดยการประสานขอรับการสนับสนุนเฮลิปคอปเตอร์จากกองบิน 41 จำนวน 1 ลำ และจากกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม จำนวน 1 ลำ แบ่งจุดการดำเนินการเป็นสองจุด โดยให้เฮลิปคอปเตอร์ทหารลำเลียงน้ำจากอ่างเก็บน้ำแม่ยอน เฮลิปคอปเตอร์กระทรวงทรัพยากรฯ ลำเลียงน้ำจากอ่างเก็บน้ำแม่กอก ผลการปฏิบัติงาน ฮ.ทหาร บินขึ้นปฎิบัติการจำนวน 1 เที่ยวบิน ทิ้งน้ำ 1 ครั้ง เนื่องจาก
มีกระแสลมแรง อาจเกิดอันตรายในการปฏิบัติจึงยุติภารกิจ และ ฮ.กระทรวงทรัพยากรฯ บินขึ้นปฎิบัติการ จำนวน 2 เที่ยวบิน ทิ้งน้ำ 54 ครั้ง ซึ่งสถานการณ์สามารถควบคุมได้ประมาณร้อยละ 80 และพรุ่งนี้จะมีการประชุมวางแผนหาแนวทางปฏิบัติต่อไป

จังหวัดแพร่

จังหวัดแพร่โดยการประสานงานของสำนักงานป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยจังหวัดแพร่ ปฏิบัติการฉีดพ่นละอองน้ำเพื่อบรรเทาปัญหาฝุ่นละอองขนาดเล็กและเพิ่มความชื้นในอากาศครอบคลุมพื้นที่ 8 อำเภอเป็นประจำทุกวัน โดยได้รับการสนับสนุนรถหุ่นยนต์ดับเพลิงแรงดันสูงควบคุมระยะไกลจากศูนย์ป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยเขต 15 เชียงราย และได้รับการสนับสนุนรถน้ำดับเพลิงพร้อมเจ้าหน้าที่จากเทศบาลเมืองแพร่ กองพันทหารม้าที่ 12 และองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นในพื้นที่ทุกแห่งร่วมปฏิบัติการอย่างต่อเนื่อง

จังหวัดเชียงราย

นายประจญ ปรัชญ์สกุล ผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงราย เดินทางพร้อมด้วยพันเอก พศิน แสงคำ รองผู้อำนวยการรักษาความมั่นคงภายในจังหวัดเชียงรายฝ่ายทหาร นายอำนาจ เจิมแหล่ ผู้อำนวยการสำนักงานทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมจังหวัดเชียวราย และหัวหน้าส่วนราชการ หัวหน้าหน่วยงาน เพื่อมาติดตามผลการบังคับใช้มาตรการของศูนย์อำนวยการร่วมติดตามสถานการณ์แก้ไขปัญหาไฟป่าหมอกควันของจังหวัดเชียงราย สื่อสารค้นหาสาเหตุการเกิดไฟป่าและหมอกควัน ให้นำไปสู่การป้องกันและแก้ไขปัญหาหมอกควัน ไฟป่า และฝุ่นละอองขนาดเล็กในพื้นที่อำเภอแม่สรวย โดยมีนายกิตติ ชัยดรุณ นายอำเภอแม่สรวย พร้อมด้วยชุดปฏิบัติการดับไฟป่า เจ้าหน้าที่ตำรวจ เจ้าหน้าที่ทหาร เจ้าหน้าที่สำนักบริหารพื้นที่อนุรักษ์ที่ 15 เครือข่ายควบคุมไฟป่า ชุดรักษาความปลอดภัยหมู่บ้าน อาสาสมัคร และเจ้าหน้าที่ผู้เกี่ยวข้องเข้าร่วมประชุม บรรยายสรุปการปฏิบัติงาน และรายงานผลการปฏิบัติ ซึ่งสืบเนื่องจากที่นายกรัฐมนตรีได้มอบหมายให้ผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงรายรับนโยบายไปขับเคลื่อนการแก้ไขปัญหาไฟป่า หมอกควันและฝุ่นละอองขนาดเล็กเพื่อมิให้ส่งผลกระทบต่อประชาชน และทรัพยากรและสิ่งแวดล้อม โดยกำชับให้ดำเนินการอย่างเข้มข้นในระหว่างวันที่ 3 – 9 เมษายน 2562 สำหรับสถานการณ์ระหว่างวันที่ 15 กุมภาพันธ์ 2562 ที่ผ่านมาถึงปัจจุบัน อำเภอแม่สรวยมีสถิติจุดความร้อนมากถึง 101 จุด เพื่อตอบสนองข้อสั่งการดังกล่าว จึงได้มีการจัดตั้งศูนย์บัญชาการเหตุการณ์การปฏิบัติ จัดชุดปฏิบัติการดับไฟป่า ชุดปฏิบัติการลาดตระเวนและควบคุมไฟป่า ประชาสัมพันธ์เข้าถึงการสร้างความร่วมมือในการป้องกันไฟป่าและอาสาสมัครเคาะประตูบ้าน จัดทำแนวกันไฟ รวมทั้งสร้างแรงจูงใจให้รางวัลแก่ผู้แจ้งเบาะแสทุกราย การติดตามสถานการณ์ในครั้งนี้ ผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงรายได้กล่าวถึงลักษณะการเกิดไฟป่าซึ่งเกิดจากคนจุดไฟ แนวทางการดับไฟตามหลักวิชาการ ฝนตามธรรมชาติทิ้งช่วง ไม่เกิดพายุฤดูร้อนตามฤดูกาล การกระตุ้นให้เกิดความตื่นตัวกระตือรือล้นในการเฝ้าระวังร่วมกัน การค้นหาสาเหตุอาจจะมาจากการล่าสัตว์ป่า จุดเผาเพื่อหาของป่าตามคำสั่งซื้อจากผู้บริโภค การเฝ้าระวังป้องกันการลักลอบเผาซ้ำ ให้ผู้นำท้องที่กับผู้นำท้องถิ่นร่วมมือกันอย่างใกล้ชิดและต่อเนื่องอย่างเต็มศักยภาพ