กทม.ตรวจละเอียดพื้นที่ไฟไหม้ ชี้ปี 60-62 ไหม้อาคารแล้ว 739 ครั้ง ตาย 35 คน

เมื่อวันที่ 11 เมษายน ที่ศาลาว่าการกรุงเทพมหานคร (กทม.) นายสกลธี ภัททิยกุล รองผู้ว่าฯ กทม. กล่าวความคืบหน้าเหตุเพลิงไหม้เซ็นทรัลเวิลด์ เมื่อวันที่ 10 เมษายนที่ผ่านมา ว่าเบื้องต้นได้รับรายงานว่าในส่วนของโรงแรมเซ็นทราแกรนด์แอสเซ็นทรัลเวิลด์และห้างสรรพสินค้าเซ็นทรัลเวิลด์ จะปิดให้บริการ 1 วัน โดยในวันนี้ผู้อำนวยการเขตปทุมวัน จะเข้าไปปิดประกาศห้ามใช้อาคาร ขณะเดียวกันสภาวิศวกรรมสถานแห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์ (วสท.) สำนักการโยธา (สนย.) และฝ่ายโยธา สำนักงานเขตปทุมวัน จะเข้าตรวจสอบพื้นที่โดยละเอียด ทั้งนี้ได้สั่งการให้สำนักป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (สปภ.) ไปตรวจสอบวงรอบการตรวจสอบอาคารและระบบป้องกันอัคคีภัยของอาคาร รวมทั้งมีการซักซ้อมแผน ตลอดจนมีการบริหารจัดการการเผชิญเหตุหรือไม่ และมีประสิทธิภาพหรือไม่ ซึ่งรัฐบาล พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี และ พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา รมว.มหาดไทย เน้นย้ำและได้กำชับให้ตรวจสอบอาคารและระบบป้องกันอัคคีภัยของอาคาร รวมทั้งมีการซักซ้อมแผนอย่างต่อเนื่อง อย่างไรก็ตามหลังจากเทศกาลสงกรานต์ผ่านพ้นไป จะหารือกับสปภ. สำนักการโยธา สำนักงานเขต ในการวางมาตรการเข้มข้นต่อไป

พล.ต.อ.อัศวิน ขวัญเมือง ผู้ว่าฯกทม. กล่าวว่า ได้กำชับให้สำนักการโยธา สำนักป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย และสำนักงานเขตทั้ง 50 เขต เข้มงวดในการตรวจสอบอาคารต่างๆ รวมถึง “อาคารสูง” ซึ่งตามกฎกระทรวงฉบับที่ 33 กำหนดไว้ว่า เป็นอาคารที่มีความสูงตั้งแต่ 23 เมตรขึ้นไป หรือสูงประมาณ 8 ชั้น และอาคารขนาดใหญ่พิเศษในพื้นที่กรุงเทพฯ ตลอดจนให้คำแนะนำในการปรับปรุงระบบแจ้งเตือน และระบบป้องกันอัคคีภัยภายในอาคารให้สามารถใช้งานได้อย่างครบถ้วน เพื่อลดความเสียหายที่อาจเกิดขึ้น และไม่เกิดเหตุซ้ำรอยอีก

พ.ต.ท.สมเกียรติ นนทแก้ว ผู้อำนวยการสำนักป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (สปภ.) กรุงเทพมหานคร (กทม.) กล่าวว่า เหตุเพลิงไหม้วานนี้ หลังจากได้รับแจ้งสถานีดับเพลิงบรรทัดทอง ได้เดินทางไปที่เกิดเหตุ โดยใช้เวลาประมาณ 6-7 นาที ซึ่งเจ้าหน้าที่ชุดแรก ได้เข้าไปให้การช่วยเหลืออพยพประชาชนออกมาก่อน เนื่องจากเป็นห้างสรรพสินค้าใหญ่ เมื่อเจ้าหน้าที่ที่ตามมาสมทบที่เกิดเหตุ ได้เข้าไปหาจุดเริ่มต้นเหตุเพลิงไหม้ และสามารถเข้าควบคุมเพลิงได้ 40 นาที

ทั้งนี้จากสถิติผู้บาดเจ็บและเสียชีวิตจากเหตุเพลิงไหม้อาคารพื้นที่กรุงเทพฯ เมื่อปี 2560 เกิดเหตุเพลิงไหม้ในอาคาร รวมทั้งสิ้นจำนวน 359 ครั้ง ผู้บาดเจ็บ 77 ราย เสียชีวิต 19 ราย ปี 2561 เกิดเหตุเพลิงไหม้ในอาคาร รวมทั้งสิ้นจำนวน 292 ครั้ง ผู้บาดเจ็บ 93 ราย เสียชีวิต 15 ราย ปี2562 เกิดเหตุเพลิงไหม้ในอาคาร รวมทั้งสิ้นจำนวน 88 ครั้ง ผู้บาดเจ็บ 77 ราย เสียชีวิต 1 ราย

ขณะเดียวกัน สปภ. มีแผนป้องกันและกู้เหตุไฟไหม้ โดยได้กระจายรถดับเพลิง ประจำสถานีดับเพลิงทั่วกรุงเทพฯ จำนวน 35 แห่ง และสถานีดับเพลิงย่อย 15 แห่ง ซึ่งแต่ละสถานีจะมีรถดับเพลิงไว้ใช้งาน 1-2 คัน หรือตามความเหมาะสมของแต่ละพื้นที่ สามารถเข้าถึงพื้นที่เกิดเหตุได้ภายใน 10 นาที แต่ที่ผ่านมาหากเหตุไฟไหม้เกิดขึ้นในชั่วโมงเร่งด่วน ปัญหาจราจรกลายเป็นอุปสรรค สำคัญในการเดินทางเข้าพื้นที่เกิดเหตุแทบทุกครั้ง โดยในต่างประเทศกำหนดให้รถดับเพลิงเข้าในพื้นที่เกิดเหตุภายใน 5 นาที แต่สำหรับประเทศไทยแตกต่างเรื่องกายภาพของเมือง จึงได้ขยายเวลา เข้าถึงที่เหตุภายใน 8-10 นาที

อย่างไรก็ตาม ปัจจุบัน กทม. มีรถดับเพลิงที่สามารถดับเพลิงอาคารที่มีความสูง 90 เมตร หรือประมาณ 30 ชั้น จำนวน 6 คัน กระจายไปตามพื้นที่ต่างๆ ของกรุงเทพมหานคร ขณะที่อาคารสูงในพื้นที่กรุงเทพฯ มีขนาดความสูงเพิ่มขึ้น ประกอบกับพื้นที่ตรอก ซอย มีขนาดเล็ก ซึ่งอาจเป็นอุปสรรคในการเข้าถึงพื้นที่เกิดเหตุ ดังนั้นเพื่อความปลอดภัยของประชาชน ประชาชนควรศึกษาวิธีป้องกันตนจากเหตุอัคคีภัย ดังนี้ 1.ก่อนเข้าพักอาศัยในอาคารต่างๆ ควรสอบถามความพร้อมของอุปกรณ์ความปลอดภัยจากเหตุไฟไหม้ เช่น เครื่องป้องกันควันไฟ อุปกรณ์ฉีดน้ำอัตโนมัติบนเพดาน รวมถึงอ่านคำแนะนำเกี่ยวกับการดูแลความปลอดภัยจากเหตุไฟไหม้ และการหนีไฟ ของสถานที่นั้นๆ 2.ตรวจสอบทางหนีไฟฉุกเฉินที่ใกล้ห้องพักที่สุด รวมถึงตรวจสอบประตูหนีไฟต้องไม่ปิดล็อค หรือสิ่งกีดขวาง โดยให้นับจำนวนประตูห้องทั้งสองทาง (ซ้าย-ขวา) จนถึงทางหนีไฟ ซึ่งจะทำให้ถึงทางหนีไฟฉุกเฉินได้แม้ว่าไฟฟ้าจะดับ หรือปกคลุมไปด้วยควัน 3.เรียนรู้ และฝึกการเดินภายในห้องพักเข้าหาประตู วางกุญแจห้องพักและไฟฉายใกล้กับเตียงนอน หากเกิดไฟไหม้จะได้นำกุญแจห้องและไฟฉายไปด้วย อย่าเสียเวลากับการเก็บสิ่งของ

4.หาตำแหน่งสัญญาณเตือนไฟไหม้ เปิดสัญญาณเตือนไฟไหม้หากหาพบ จากนั้นหนีออกจากอาคาร แล้วโทรศัพท์เรียกหน่วยดับเพลิง 5. หากได้ยินเสียงสัญญาณไฟไหม้ ให้หนีลงจากอาคารทันที อย่าเสียเวลาตรวจสอบว่าไฟไหม้ที่ใด 6.ถ้าไฟไหม้ห้องพักของท่าน ให้หนีออกมา แล้วปิดประตูห้องทันที จากนั้นให้แจ้งเจ้าหน้าที่ดูแลอาคาร และโทรศัพท์แจ้งหน่วยดับเพลิงโดยเร็ว 7.ถ้าไฟไม่ได้เกิดที่ห้องพักของท่าน ให้หนีออกจากห้อง โดยวางมือบนประตู หากประตูมีความเย็นอยู่ ค่อยๆ เปิดประตู แล้วหนีไปยังทางหนีไฟฉุกเฉินที่ใกล้ที่สุด 8. หากประตูมีความร้อน อย่าเปิดประตู เพื่อป้องกันตนเองจากเปลวไฟภายนอก แต่ให้รีบโทรศัพท์แจ้งหน่วยดับเพลิง ถึงตำแหน่งของท่าน และหาผ้าเช็ดตัวเปียกๆ ปิดช่องประตู หรือทางเข้าของควัน ปิดพัดลม และเครื่องปรับอากาศ แล้วเปิดหน้าต่าง พร้อมส่งสัญญาณขอความช่วยเหลือที่หน้าต่าง หรือชานอาคาร คอยความช่วยเหลือ

9.คลานให้ต่ำ หากท่านต้องเผชิญหน้ากับควันไฟ เมื่อควันปกคลุม อากาศบริสุทธิ์จะอยู่ด้านต่ำของพื้นห้อง ควรหาถุงพลาสติกตักเอาอากาศบริสุทธิ์ครอบศีรษะ จากนั้นคลานหนีไปยังทางหนีไฟฉุกเฉิน พร้อมนำกุญแจห้องไปด้วย หากหมดหนทางหนีจะได้สามารถกลับเข้าห้องพัก และขอความช่วยเหลือทางอื่นต่อไป และ 10.อย่าใช้ลิฟท์ขณะเกิดไฟไหม้ ให้ใช้บันไดภายในอาคาร เนื่องจากลิฟท์อาจหยุดทำงานที่ชั้นไฟไหม้

ด้านนายนพดล ฉายปัญญา ผู้อำนวยการสำนักงานควบคุมอาคาร สำนักการโยธา กล่าวว่า สำหรับอาคารสูงในกรุงเทพมหานคร มีจำนวนทั้งสิ้น 2,810 อาคาร แบ่งเป็น อาคารที่ปลูกสร้างก่อนการประกาศใช้กฎกระทรวง ฉบับที่ 33 ตาม พ.ร.บ.ควบคุมอาคาร พ.ศ. 2535 จำนวน 1,033 อาคาร และอาคารที่ปลูกสร้างหลังการประกาศใช้กฎกระทรวง ฉบับที่ 33 ตาม พ.ร.บ.ควบคุมอาคาร พ.ศ. 2535 จำนวน 1,777 อาคาร ซึ่งที่ผ่านมา 50 สำนักงานเขต ได้ดำเนินการตรวจสอบอาคารและระบบป้องกันอัคคีภัยของอาคารภายในพื้นที่เขต ให้เป็นไปตามกฎกระทรวงและจัดส่งรายงานให้กองควบคุมอาคาร สำนักการโยธา ทุกปี รวมถึงสำนักงานเขต สำนักการโยธา และสำนักป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย ได้ร่วมกันออกตรวจการประจำปี โดยตรวจสอบความปลอดภัยของอาคารด้านต่างๆ อาทิ มีการปฏิบัติตาม พ.ร.บ.ควบคุมอาคาร 2535 หรือไม่ มีสัญญาณแจ้งเหตุเพลิงไหม้หรือไม่ ระบบน้ำกรณีเกิดเหตุเพลิงไหม้ ป้ายบอกทางหนีไฟ ต้องมีถังดับเพลิงขนาดเล็กทุกชั้น นอกจากนี้ยังได้กำหนด 10 มาตรการ ในการป้องกันและดูแลตัวเองหากเกิดเพลิงไหม้
โดยจะขอความร่วมมือให้อาคารสูงทุกแห่งติดป้าย 10 มาตรการดังกล่าว รวมถึงอาคารขนาดใหญ่อื่นๆ ด้วย อย่างไรก็ตามหากพบข้อบกพร่องแต่ไม่ขัดกับกฎหมาย เจ้าหน้าที่จะให้คำแนะนำเพื่อปรับปรุงให้เกิดความปลอดภัย แต่หากพบข้อบกพร่อง และไม่เป็นไปตามที่กฎหมายกำหนด สำนักงานเขตพื้นที่จะออกคำสั่งให้แก้ไขให้แล้วเสร็จภายในระยะเวลาที่กำหนด แต่ต้องไม่น้อยกว่า 30 วัน กรณีมีเหตุอันควรเจ้าพนักงานท้องถิ่นจะขยายเวลาออกไปอีกก็ได้

ขณะที่ศูนย์เอราวัณ ติดตามรายงานจำนวนผู้บาดเจ็บและเสียชีวิต ณ เวลา 06.00 น. สรุปมีผู้เสียชีวิต 2 ราย (ที่เกิดเหตุ 1 ราย และรพ.จุฬา1 ราย ผู้บาดเจ็บ รวม 20 ราย เพศชาย 6 ราย เพศหญิง 14 ราย เข้ารับการรักษารพ.จุฬา 7 ราย รพ. ตำรวจ 10 ราย รพ. พญาไท 3 ราย ส่วนใหญ่มีอาการสำลักควัน ผู้บาดเจ็บสามารถกลับบ้านได้ 6 ราย ให้นอนพักรักษาในรพ.14ราย แบ่งเป็นที่ รพ.ตำรวจ 5 ราย รพ.จุฬา 6 ราย และรพ.พญาไท 3 ราย

 

 

ที่มา : มติชนออนไลน์