กรมอุตุฯชี้ร้อนนี้ทะลุ 43 องศา ดันต้องการใช้ไฟเกิน 3.5 หมื่นเมกะวัตต์

นายสราวุธ แก้วตาทิพย์ รองปลัดกระทรวงพลังงาน เปิดเผยว่า คณะทำงานจัดทำค่าพยากรณ์ความต้องการไฟฟ้าได้ประมาณความต้องการใช้ไฟฟ้าสูงสุดของประเทศ (พีค) รวมทุกโรงไฟฟ้าปี 2562 คาดว่าจะอยู่ที่ 35,889 เมกะวัตต์ เพิ่มขึ้น 4.6% จากปี 2561 ขณะที่กรมอุตุนิยมวิทยาคาดการณ์ว่าอุณหภูมิช่วงหน้าร้อนอยู่ที่ 42-43 องศาเซลเซียส และคาดว่าพีคจะเกิดปลายเมษายนถึงต้นเดือนพฤษภาคม ซึ่งอุณหภูมิเปลี่ยนแปลงขึ้นหรือลดลง 1 องศาเซลเซียสจะมีผลต่อการใช้ไฟฟ้าประมาณ 400 เมกะวัตต์ ซึ่งปีที่ผ่านมามีพีคเกิดขึ้นวันที่ 24 เมษายน 2561 เวลา 13.51 น. อยู่ที่ระดับ 34,317 เมกะวัตต์

“พีคนั้นมีหลายองค์ประกอบที่เป็นตัวแปรสำคัญ รวมถึงกรณีกลุ่มผู้ผลิตไฟฟ้าใช้เอง (ไอพีเอส) อาจเติบโตขึ้น และประเทศไทยเข้าสู่ฤดูร้อนเร็วกว่าปกติ โดยปีนี้เริ่มเข้าสู่ฤดูร้อนเร็วตั้งแต่ปลายเดือนกุมภาพันธ์ และสภาพอากาศที่แปรปรวน ล้วนมีผลต่อการพยากรณ์ความต้องการใช้ไฟฟ้าเบี่ยงเบนไปจากคาดการณ์ได้” นายสราวุธกล่าว

นายวัฒนพงษ์ คุโรวาท ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน (สนพ.) กล่าวว่า สนพ.ได้จัดเตรียมมาตรการสร้างความตระหนักในการประหยัดพลังงานและขอความร่วมมือจากภาคประชาชน เอกชน และอุตสาหกรรม ให้ช่วยกันลดใช้ไฟฟ้าอย่างจริงจัง โดยทำการประชาสัมพันธ์ผ่านมาตรการ 4 ป. ได้แก่ ปิดอุปกรณ์ไฟฟ้าที่ไม่จำเป็น ปรับอุณหภูมิเครื่องปรับอากาศเป็น 26 องศา ปลดปลั๊กอุปกรณ์ไฟฟ้าเมื่อเลิกใช้ เปลี่ยนมาใช้อุปกรณ์ประหยัดไฟเบอร์ 5 เพื่อลดพีคไฟฟ้า

นายวัฒนพงษ์กล่าวว่า กรณีผู้ผลิตก๊าซธรรมชาติแหล่งยาดานา ประเทศเมียนมา มีแผนหยุดการผลิตบางส่วนเพื่อปรับปรุงและซ่อมบำรุงอุปกรณ์ประจำปี ระหว่างวันที่ 11-17 เมษายน 2562 รวม 7 วันนั้นไม่ส่งผลกระทบต่อเชื้อเพลิงในการผลิตไฟฟ้าของไทย เพราะหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้งบริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) และการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) เตรียมแผนรองรับไว้แล้ว

นายจรรยง วงศ์จันทร์พงษ์ ผู้ช่วยผู้ว่าการปฏิบัติการควบคุมระบบ การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) กล่าวว่า กฟผ.บริหารจัดการโรงไฟฟ้าในระบบทั้งโรงไฟฟ้าของ กฟผ. โรงไฟฟ้าเอกชนขนาดใหญ่(ไอพีพี) และเอกชนขนาดเล็ก (เอสพีพี) ให้มีการทำงานบำรุงรักษาเท่าที่จำเป็น และขอความร่วมมืองดบำรุงรักษานอกแผนที่ไม่มีความจำเป็นเร่งด่วนตลอดช่วงฤดูร้อน โดยเฉพาะอย่างยิ่งในช่วงเดือนมีนาคม-พฤษภาคม อย่างไรก็ตามมีกำลังผลิตสำรองพร้อมจ่ายเพียงพอสำหรับรองรับเหตุการณ์ฉุกเฉินซ้ำซ้อนที่อาจเกิดขึ้น รวมทั้งประสาน ปตท. ในการเพิ่มความสามารถในการส่งเชื้อเพลิงก๊าซธรรมชาติ ให้มีความเพียงพอต่อความต้องการใช้ผลิตไฟฟ้าที่เพิ่มขึ้น

 

 

ที่มา : มติชนออนไลน์