เลขาฯ อย.ขอผู้ป่วยแจ้งครอบครองกัญชาก่อน 19 พ.ค. ได้สิทธิใช้ยาว 3-6 เดือน

หลังจากเครือข่ายกัญชาทางการแพทย์ มี 3 มหาวิทยาลัย คือ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย มหาวิทยาลัยขอนแก่น และมหาวิทยาลัยรังสิต ผนึกกำลังดันน้ำมันกัญชาสูตรนายเดชา ศิริภัทร ประธานมูลนิธิข้าวขวัญ จ.สุพรรณบุรี เข้าสู่โครงการวิจัยและเตรียมเสนอขออนุญาตคณะกรรมการควบคุมยาเสพติดให้โทษ ที่มีสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) เป็นเลขานุการในช่วงเดือนพฤษภาคมนี้ ขณะที่อาจารย์จุฬาฯ กังวลว่า หลังจากครบกำหนดนิรโทษกรรมครอบครองกัญชาในวันที่ 19 พฤษภาคม 2562 จะส่งผลให้ผู้ป่วยขาดยาที่มีส่วนผสมของกัญชาหรือไม่ เนื่องจากคนมาแจ้งครอบครองไม่มาก และยังมีการจับกุมอยู่นั้น

ความคืบหน้าเมื่อวันที่ 19 เมษายน นพ.ธเรศ กรัษนัยรวิวงค์ เลขาธิการคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) กล่าวว่า สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) ได้เปิดให้มีการแจ้งครอบครองตามกฎหมาย คือ พระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ (ฉบับที่ 7) พ.ศ. 2562 ขอให้แจ้งข้อเท็จจริงต่อเจ้าหน้าที่เพื่อประโยชน์ในการติดตามตรวจสอบและเป็นประโยชน์ต่อผู้แจ้งเอง ซึ่งกำหนดไว้ภายใน 90 วัน ใครมาแจ้งจะถูกละเว้นโทษ โดยจะครบกำหนดในวันที่ 19 พฤษภาคม 2562 หากมาแจ้งหลังจากนี้จะไม่สามารถดำเนินการได้อีก ดังนั้น ในส่วนของผู้ป่วยที่รับกัญชาอยู่ เมื่อมีใบรับรองว่าป่วย โดยไม่ต้องรับรองว่าต้องใช้กัญชารักษาโรค ขอให้มาแจ้งการครอบครองกัญชาเพื่อทางการแพทย์ได้ที่สำนักงานสาธารณสุขจังหวัด (สสจ.) ที่ตนเองอยู่อาศัย หรือที่กรุงเทพฯ ติดต่อแจ้งครอบครองได้ที่ อย. โดยขอให้มาดำเนินการก่อนวันที่ 19 พฤษภาคมนี้

“ประเด็นผู้ป่วย ไม่ใช่ว่ากฎหมายจะจำเพาะให้ครอบครองแค่วันที่ 19 พฤษภาคมเท่านั้น แต่เปิดโอกาสให้ใช้รักษาได้ต่อเนื่องยาวออกไปอีก ในกรณีที่ผู้ป่วยกังวลว่า จะไม่มียา หรือภาครัฐจะผลิตให้ไม่ทัน หรือโครงการวิจัยที่ร่วมมือกันอาจผลิตออกมาไม่ได้ในเร็วๆ นี้ ก็สามารถมายื่นขอครอบครองการใช้ และระบุจำนวน เวลายาวออกไปประมาณ 3 เดือน หรือ 6 เดือนได้ ขึ้นอยู่กับแต่ละราย ขณะที่ในส่วนของภาครัฐ ได้มีการประสานกันแล้วว่า จะต้องดำเนินการผลิตน้ำมันกัญชา ทั้งส่วนขององค์การเภสัชกรรม (อภ.) และในส่วนของกรมการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก ก็มีความร่วมมือกับมหาวิทยาลัยที่เกี่ยวข้องในการผลิตตรงส่วนนี้” นพ.ธเรศ กล่าว

ผู้สื่อข่าวถามว่า จะดำเนินการอย่างไรให้คนมาแจ้งขึ้นทะเบียนมากขึ้น นพ.ธเรศ กล่าวว่า ขณะนี้ก็ประชาสัมพันธ์ และมีองค์กรที่เชื่อมประสานกันอยู่ให้ชมรมใต้ดิน หรือกลุ่มคนต่างๆที่ใช้อยู่ ให้ขึ้นมาแจ้งครอบครอง ส่วนผู้ที่ผลิต ก็ต้องมาแจ้ง และขออนุญาตตามกฎหมาย อย่างของอาจารย์เดชา ถือเป็นตัวอย่างของความร่วมมือจากการใช้ใต้ดิน มาสู่บนดินด้วยความร่วมมือจากภาครัฐ จากมหาวิทยาลัย 3 แห่ง ซึ่งเป็นเรื่องที่ดีมาก และน่าจะเป็นตัวอย่างให้เคสอื่นๆได้ด้วย

เมื่อถามว่ายังมีข้อกังวลเรื่องผลิตภัณฑ์กัญชาทางการแพทย์จะผลิตได้ทันหรือไม่ นพ.ธเรศ กล่าวว่า ขณะนี้กำลังดำเนินการอยู่ อย่างทางสำนักงานคระกรรมการป้องกันและปราบปรามยาเสพติด (ป.ป.ส.) ก็อนุญาตให้ทางองค์กรรัฐ มหาวิทยาลัยที่ทำโครงการวิจัยสามารถมาขอใช้ของกลางที่มีความปลอดภัย เพื่อนำมาผลิตเป็นยาได้ด้วย

เมื่อถามว่ากรณีนพ.ธีระวัฒน์ เหมะจุฑา อาจารย์จุฬาฯ เสนอว่าต้องมีองค์กรกลางในการประสานให้ชมรมใต้ดินขึ้นมาและเกิดเป็นความร่วมมือ นพ.ธเรศ กล่าวว่า หากเป็นไปตามเงื่อนไขกฎหมาย โดยเป็นความร่วมมือกับภาครัฐ มหาวิทยาลัยต่างๆ เหมือนกรณีอาจารย์เดชา ย่อมสามารถดำเนินการได้ และถือเป็นเรื่องที่ดีด้วย

 

ที่มา : มติชนออนไลน์