การดำเนินงานแก้ไขปัญหาหมอกควัน 9 จังหวัดภาคเหนือ 26 เมษายน 2562

1.สถานการณ์ฝุ่นละอองขนาดไม่เกิน 2.5 ไมครอน (PM2.5) เฉลี่ย 24 ชั่วโมง ประจำวันศุกร์ที่ 24 เมษายน 2562 ณ เวลา 9.00 น. จากการตรวจวัด 17 พื้นที่ ใน 9 จังหวัดภาคเหนือ สรุปได้ดังนี้

– มีค่าระหว่าง 37 – 82 ไมโครกรัม/ลูกบาศก์เมตร (ค่ามาตรฐานไม่เกิน 50 ไมโครกรัม/ลูกบาศก์เมตร) ซึ่งแสดงถึง “แสดงถึงคุณภาพอากาศอยู่ในเกณฑ์ดีจำนวน 2 พื้นที่ได้แก่ พื้นที่ ต.เวียงผาคำ อ.แม่สาย จ.เชียงราย และพื้นที่ ต.สุเทพ อ.เมือง จ.เชียงใหม่ ซึ่งทั้ง 2 พื้นที่มีคุณภาพอากาศอยู่ในเกณฑ์ดีติดต่อกัน 2 วัน แสดงให้เห็นถึงสถานการณ์ฝุ่นละออง PM2.5 ในพื้นที่ดังกล่าวเริ่มคลี่คลาย แต่จะพบว่ามีพื้นที่ที่อยู่ในเกณฑ์คุณภาพอากาศปานกลางเพิ่มขึ้นจากเมื่อวาน 8 พื้นที่เป็น 10 พื้นที่ในวันนี้ และมีพื้นที่อยู่ในเกณฑ์ที่เริ่มมีผลกระทบต่อสุขภาพอยู่จำนวน 5 พื้นที่ ”

– มีค่าเปลี่ยนแปลงไม่มากนักในพื้นที่ทั้ง 9 จังหวัด เมื่อเปรียบเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของเมื่อวาน ส่วนพื้นที่ที่มีแนวโน้มลดลงได้แก่ ต.เวียง อ.เมือง จ.เชียงราย และ ต.จองคำ อ.เมือง จ.แม่ฮ่องสอน

– คุณภาพอากาศมีค่าอยู่ในเกณฑ์ดี – เริ่มมีผลกระทบต่อสุขภาพ โดยพื้นที่ส่วนใหญ่เป็นสีเขียว 2 พื้นที่ (คุณภาพอากาศดี) สีเหลืองเพิ่มขึ้นเป็น 10 พื้นที่ (คุณภาพอากาศปานกลาง) และสีส้มเพิ่มขึ้น 5 พื้นที่ (คุณภาพอากาศเริ่มมีผลกระทบต่อสุขภาพ)

ตารางที่ 1 แสดงค่า PM2.5 เฉลี่ย 24 ชั่วโมง (ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร) ณ เวลา 9.00 น.

หมายเหตุ : N/A หมายถึง ไม่มีข้อมูลเนื่องจากเครื่องมือขัดข้อง

2. สถานการณ์จุดความร้อน (Hotspot) ในวันที่ 25 เมษายน 2562 จากดาวเทียมระบบ MODIS ดังนี้
– จุดความร้อนรวมทั้ง 9 จังหวัดภาคเหนือ มีทั้งสิ้น 29 จุด โดยลดลงจากวันที่ 24 เมษายน 2562 จำนวน 45 จุด หรือคิดเป็นลดลง 48.2 %
– มีจำนวนมากสุดที่ จ. น่าน จำนวน 11 จุด
– สามารถแบ่งตามประเภทพื้นที่ได้ดังนี้
1) พื้นที่ป่าอนุรักษ์ 9 จุด
2) ป่าสงวนแห่งชาติ 18 จุด
3) พื้นที่เกษตร 2 จุด

ตารางที่ 2 แสดงจำนวนจุดความร้อน (hotspot) จากดาวเทียมระบบ MODIS

หมายเหตุ : ข้อมูลจุดความร้อนจากดาวเทียมระบบ MODIS

3. สถานการณ์หมอกควันข้ามแดน โดยสำนักงานพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ (องค์การมหาชน) (GISTDA) รายงานการปกคลุมของหมอกควันจากดาวเทียมระบบ MODIS ประจำวันที่ 25 เมษายน 2562 พบว่า มีกลุ่มหมอกควันปกคลุมและจุดความร้อนนอกประเทศไทยบริเวณฝั่งตะวันตกของภาคเหนือ ได้แก่จังหวัดแม่ฮ่องสอน และจังหวัดตาก รวมทั้งฝั่งเหนือของภาคเหนือ ได้แก่ จังหวัดเชียงราย และมีทิศทางลมพัดจากทิศตะวันตกและตะวันตกเฉียงเหนือเข้าสู่ประเทศไทย ดังนั้น นอกจากปัญหาการเผาในที่โล่งภายในประเทศไทยแล้ว จังหวัดดังกล่าวอาจได้รับผลกระทบจากหมอกควันข้ามแดน ได้อีกด้วย

4. การดำเนินงานแก้ไขปัญหาหมอกควันของ 9 จังหวัดภาคเหนือ

จังหวัดเชียงใหม่

วันที่ 25 เมษายน 2562 ที่ ห้องประชุมทองจัตุ กองกำลังผาเมือง จังหวัดเชียงใหม่ พล.ท.สุภโชค ธวัชพีระชัย แม่ทัพน้อยที่ 3 ในฐานะผู้อำนวยการศูนย์อำนวยการป้องกันและแก้ไขปัญหาไฟป่าและหมอกควันระดับภาคส่วนหน้า เป็นประธานสรุปบทเรียนการแก้ไขปัญหาไฟป่าและหมอกควัน ประจำปี 2562 โดยมีนายคมสัน สุวรรณอัมพา รองผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงใหม่ และหัวหน้าส่วนราชการจาก 9 จังหวัดภาคเหนือ ร่วมประชุม

ทั้งนี้จากสถานการณ์ไฟป่าและหมอกควันในพื้นที่ 9 จังหวัดที่ผ่านมา ทุกภาคส่วนได้ร่วมกันแก้ไขปัญหาดังกล่าวอย่างเต็มรูปแบบ แต่เนื่องจากในปีนี้มีสภาพอากาศแห้งแล้ง ประกอบกับการสะสมของเชื้อเพลิง มีจำนวนมาก ส่งผลให้สถานการณ์ไฟป่าและหมอกควันปีนี้เพิ่มมากขึ้น ศูนย์อำนวยการป้องกันและแก้ไขปัญหา ไฟป่าและหมอกควันระดับภาคส่วนหน้า จึงได้จัดการประชุมสรุปบทเรียนการแก้ไขปัญหาขึ้น เพื่อให้การดำเนินการแก้ไขปัญหาในช่วงก่อนเข้าสู่ฤดูฝนเกิดประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น และนำข้อมูลที่ได้ไปปรับใช้ ในการจัดทำแผนรองรับในปีต่อไป สำหรับในปี 2562 ตั้งแต่วันทึ่ 1 มกราคม – 23 เมษายน 2562 พบจุดความร้อนสะสม จำนวน 8,551 จุดมากกว่า ปี 2561 จำนวน 4,240 จุด จังหวัดที่มีจุดความร้อนสูงสุด ประกอบด้วย จังหวัดแม่ฮ่องสอน เชียงใหม่ เชียงราย น่าน ลำปาง ตาก พะเยา แพร่ และจังหวัดลำพูน ที่ผ่านมาศูนย์อำนวยการป้องกันและแก้ไขปัญหาไฟป่าและหมอกควันระดับภาคส่วนหน้า ได้วางแผนอำนวยการ ควบคุม และกำกับดูแลการปฏิบัติของชุดรณรงค์ฯ สร้างจิตสำนึก สร้างการรับรู้ ทำความเข้าใจกับประชาชน เฝ้าระวัง แจ้งเตือนการเกิดไฟป่า ดำเนินการดับไฟป่า และลดปัญหาหมอกควัน โดยจัดชุดรณรงค์ฯ และกำลังจาก กองกำลังรักษาความสงบเรียบร้อย บูรณาการร่วมกับจังหวัด ฝ่ายปกครอง หน่วยงานป่าไม้ ตำรวจ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ผู้นำชุมชน จิตอาสา และประชาชน จำนวน 7,442 นาย รวมทั้งขอรับการสนับสนุนอากาศยาน จากกองทัพบก และกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ปฏิบัติการทิ้งน้ำดับไฟในพื้นที่ป่าที่เป็น ภูเขาสูงชัน และจัดตั้งห้องติดตามสถานการณ์ (War Room) ขับเคลื่อนการปฏิบัติงานและติดตามสถานการณ์ตลอด 24 ชม. ในส่วนของมาตรการบังคับใช้กฎหมาย ตามมาตรการประกาศห้ามเผาโดยเด็ดขาด ในพื้นที่ 9 จังหวัดภาคเหนือ โดยผู้ว่าราชการจังหวัด ตั้งแต่เดือนกุมภาพันธ์ถึงเมษายน มีผลการจับกุม ผู้กระทำความผิดทางกฎหมาย รวม 474 ราย

อย่างไรก็ตาม ที่ผ่านมาพบปัญหาในการปฏิบัติงานที่สำคัญคือ การสะสมเชื้อเพลิงในแต่ละปีมีจำนวนมาก ทำให้เกิดความล่อแหลมในการลักลอบเผาป่าในสาเหตุต่างๆ และการจัดระเบียบในการควบคุมการเผา นอกจากนี้ยังมีกลุ่มบุคคลบางกลุ่มที่ไม่เกรงกลัวต่อมาตรการบังคับใช้กฎหมาย มีการลักลอบเผาป่าอย่างต่อเนื่อง ที่สำคัญระบบ single Command ในบางพื้นที่ยังใช้ไม่ได้ผล เนื่องจากผู้บริหารยังวิเคราะห์สถานการณ์ปัญหา และระบบการแก้ไขปัญหาไม่ชัดเจน ตลอดจนเทคนิคการสื่อสาร ในการรณรงค์ประชาสัมพันธ์ในบางพื้นที่ ยังไม่เข้าใจและไม่ถึงประชาชน โดยเฉพาะหมู่บ้านในพื้นที่ป่าสงวนและป่าอนุรักษ์ ซึ่งในการดำเนินการปีต่อไป Single Command ศูนย์ควบคุมไฟป่าและหมอกควันระดับอำเภอ จะต้องจัดทำแผนควบคุมไฟป่าและหมอกควัน โดยบูรณาการทุกภาคส่วนสร้างความเข้าใจ ซักซ้อมทุกขั้นตอน อย่างเป็นระบบ และมีการจัดตั้ง War Room วางแผน อำนวยการ ควบคุม ประสานงาน ตลอดจน การจัดชุดปฏิบัติการบูรณาการระดับตำบล เพื่อสร้างการรับรู้ ทำความเข้าใจถึงระดับหมู่บ้านต่อไป

จังหวัดตาก

– กอ. ขสป.แม่ตื่น ศูนย์เฉพาะกิจฯที่ 3 (ขสป.แม่ตื่น) สถานีควบคุมไฟป่าแม่ตื่น สบอ.14 (ตาก) หน่วยเฉพาะกิจทหารพรานที่ 35 จังหวัดตาก ลาดตระเวนและเฝ้าระวังไฟในพื้นที่เสี่ยง เหตุการณ์ปกติ และเจ้าหน้าที่สถานีเข้าร่วมโครงการจิตอาสาพระราชทาน 904 วปร. ดำเนินกิจกรรมจิตอาสาภัยพิบัติ โดยจัดทำแนวกันไฟชุมชน และลดปริมาณเชื้อเพลิง บริเวณหมู่ที่ 2 ต.เชียงทอง อ.วังเจ้า และได้ให้ความรู้เรื่องการจัดการเชื้อเพลิงแก่ประชาชนจิตอาสา ในการควบคุมไฟป่าในพื้นที่ วิธีลด แยก และใช้ประโยชน์

– ศูนย์บัญชาการหมอกควันและไฟป่าอำเภอแม่สอดจัดรถดับเพลิงทำการฉีดพ่นละอองน้ำและล้างถนน เพื่อลดปริมาณฝุ่นละอองในอากาศในพื้นที่อำเภอแม่สอด โดยได้รับการสนับสนุนรถน้ำจากหน่วยเฉพาะกิจ กรมทหารราบที่ 14 เทศบาลนครแม่สอด และศูนย์ปภเขต 9 พิษณุโลก

จังหวัดเชียงราย

จังหวัดเชียงรายเกิดไฟไหม้บ่อขยะประจำอำเภอเชียงของ จังหวัดเชียงราย พื้นที่หมู่บ้านหัวเวียง หมู่ 1 ตำบลเวียง อำเภอเชียงของ ชายแดนไทย – ลาว ตั้งแต่วันที่ 20 เมษายน ที่ผ่านมา และลุกไหม้ติดต่อกันมา หลายวัน ที่อยู่ภายในเนื้อที่ประมาณ 5 ไร่ ล่าสุด หลังจากนายทัศนัย สุธาพจน์ นายอำเภอเชียงของ ได้ตั้ง ศูนย์บัญชาการเพื่อแก้ไขปัญหาดังกล่าว มีการระดมกำลังเจ้าหน้าที่ในพื้นที่ และขอรับการสนับสนุนจาก หน่วยงานต่างๆ เพื่อนำรถบรรทุก และฉีดพ่นน้ำ ท่อน้ำ เครื่องออกซิเจน เนื่องจากมีควันพิษคละคลุ้ง จึงต้องสวมใส่อุปกรณ์พร้อมถังออกซิเจนในการเข้าไปดับเพลิง ได้เพียงครั้งละ 10 นาย รถแบ๊คโฮเข้าไปขุดตัก และพ่นน้ำทีละชิ้น รวมทั้ง ต่อท่อน้ำจากแม่น้ำโขง เข้าไปดับไฟติดต่อกันมาหลายวันนั้น ล่าสุด ทำให้ไฟได้ยุติ การลุกไหม้เกือบทั้งหมดแล้ว ทั้งนี้ นายอำเภอเชียงของและคณะ ได้จัดแบ่งพื้นที่ลุกไหม้ภายในบ่อขยะ ออกเป็น 4 ส่วน ซึ่งเป็นจุดที่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นในอำเภอเชียงของ นำขยะไปทิ้ง ทั้งที่เป็นบ่อเก่าที่ทับถมกันมานานหลายปีและบ่อใหม่ โดยมีการระดมรถดับเพลิงจากองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นทุกแห่ง ในอำเภอเชียงของ องค์การบริหารส่วนจังหวัด เทศบาลนครเชียงราย สำนักงานป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยจังหวัดเชียงราย และ สำนักงานป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยเขต 15 นำเครื่องพ่นน้ำลูฟ 60 และท่อน้ำทำการสูบน้ำ จากแม่น้ำโขง ระยะทางประมาณ 1.5 กิโลเมตร ไปรดน้ำจนทำให้ไฟที่เคยลุกโชน และกลุ่มควันคละคลุ้ง ได้ยุติลงแล้ว โดยยังคงเหลือการคุกรุ่นของขยะที่อยู่ภายในบางส่วนโดยเฉพาะส่วนที่ 4 ที่คงเหลือเพียง กลุ่มควันลอยต่ำเบาบาง

นายอำเภอเชียงของ เปิดเผยว่า หลังจากได้ดำเนินการเป็นวันที่ 4 แล้ว พบว่า การลุกไหม้ใหญ่ๆ ไม่มีแล้วเหลือเพียงกลุ่มควันลอยต่ำในบ่อใหญ่เท่านั้น ในวันนี้เจ้าหน้าที่จะเข้าปฏิบัติการให้แล้วเสร็จ สำหรับบ่อขยะใหญ่คาดว่าจะสามารถดำเนินการได้สำเร็จ ขณะที่ สถานการณ์ไฟไหม้ตามเทือกเขาต่างๆ ในจังหวัดเชียงราย ก็เบาบางลงเช่นกัน หลังจากมีฝนตกหนักประกอบกับเจ้าหน้าที่และอาสาสมัครจากทุกฝ่าย ได้ระดมกำลังกันดับไฟติดต่อกันมานานนับเดือน พบว่า เช้านี้มีจุดความร้อนขึ้นเพียงเล็กน้อย พร้อมกันนี้ เจ้าหน้าที่ ได้เริ่มเข้าฟื้นฟูสภาพป่า รวมทั้ง ป้องกันปัญหาที่จะเกิดขึ้นในปีถัดไป โดยที่ ดอยจระเข้ ป่าสงวนแห่งชาติดอยนางแล ดอยยาวและดอยพระบาท รอยต่อระหว่าง อำเภอเมืองเชียงราย และ อำเภอแม่จัน ที่เคยเกิดการลุกไหม้อย่างหนัก ตั้งแต่วันที่ 14 เมษายน ที่ผ่านมานั้น ล่าสุด นางวันดี ราชชมพู นายอำเภอแม่จัน นำเจ้าหน้าที่ ร่วมกับ มลฑลทหารบกที่ 37 เชียงราย หน่วยเฉพาะกิจ กรมทหารพรานที่ 31 กองกำลังผาเมือง ทหารจากกองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในจังหวัดเชียงราย เจ้าหน้าที่ป่าไม้ ฝ่ายปกครอง ชุดเหยี่ยวไฟ อาสาสมัครดับไฟป่าและจิตอาสา ประมาณกว่า 1,000 นาย ร่วมกันบูรณาการทำแนวกันไฟป่าเปียก ต้นกล้วย ทำฝายกั้นน้ำ ธนาคารน้ำใต้ดิน ตั้งแต่บริเวณด้านหลังสำนักสงฆ์ดอยโตน บ้านผาตั้ง ต.ป่าตึง อ.แม่จัน และจุดสำคัญอื่นๆ เพื่อสร้างความชุ่มชื้น โดยเฉพาะรับน้ำฝนที่ตกลงในฤดูฝน และป้องกันไฟป่าในระยะยาวต่อไป

จังหวัดพะเยา

จังหวัดพะเยาร่วมกับส่วนราชการ หน่วยงานองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (งานป้องกัน และบรรเทาสาธารณภัย สำนักงานเทศบาลเมืองพะเยา) ร่วมดำเนินมาตรการเพิ่มความชุ่มชื้นและลดฝุ่นละออง ในอากาศ โดย นำรถยนต์บรรทุกน้ำ รถดับเพลิง ท

การฉีดพ่นละอองน้ำเพิ่มความชุ่มชื่น ลดหมอกควัน และฝุ่นละอองขนาดเล็กในอากาศ ทำความสะอาดถนน ต้นไม้ ณ บริเวณศาลหลักเมืองพะเยา อำเภอเมืองพะเยา

จังหวัดลำปาง

– อำเภอเสริมงามมีจุดความร้อน (Hotspot) จำนวน 1 จุด ในพื้นที่ ตำบลเสริมซ้าย บ้านสบแม่ทำ ม.2 ดำเนินการตรวจสอบจุดไฟไหม้ตามที่ได้รับแจ้งตามจุดความร้อนจากภาพถ่ายดาวเทียม Suomi Npp ระบบ VIIRS พื้นที่ป่าสงวนแห่งชาติป่าแม่เสริม บ.แม่ต๋ำ ม.1 ต.เสริมซ้าย เป็นเขตติดต่อ อ.ทุ่งหัวช้าง จ.ลำพูน พื้นที่เป็นเขาสูงชัน จนท.เข้าตรวจสอบไฟได้ดับลงเรียบร้อย ไม่พบเป็นกลุ่มควันแต่ประการใด ผลการปฏิบัติ เป็นไปด้วยความเรียบร้อย

– สถานการณ์การควบคุมไฟป่าในพื้นที่ อ.วังเหนือ จ.ลำปาง เกิดจุดความร้อน (Hotspot) จำนวน 1 จุด พื้นที่ ต.วังใต้ หน่วยงานสนับสนุน ประกอบด้วย ฝ่ายปกครอง อ.วังเหนือ/ผู้ใหญ่บ้าน และผู้ช่วยผู้ใหญ่บ้านและกรรมการหมู่บ้าน /จิตอาสาดับไฟป่า /อช.แจ้ซ้อน(ผางาม) /ปภ.อบต.วังใต้ เข้าร่วมควบคุมดับไฟป่าได้สำเร็จ

จังหวัดแพร่

ตามที่ได้เกิดไฟป่าในบริเวณเขาพลึง พื้นที่ป่าสงวนแห่งชาติป่าแม่พวก รอยต่ออำเภอเด่นชัย จังหวัดแพร่ และอำเภอเมือง จังหวัดอุตรดิตถ์ เนื่องจากมีราษฎรทำการเผาเพื่อเตรียมพื้นที่เกษตรและลุกลามเข้าไปในพื้นที่ป่า ตั้งแต่วันที่ 19 เมษายน 2562 ที่ผ่านมา สร้างความเสียหายกับป่าไม้ในเขตอุทยานแห่งชาติลำน้ำน่าน และป่าสงวนแห่งชาติป่าแม่พวก มากกว่า 1,500 ไร่ และหน่วยงานต่างๆ ที่เกี่ยวข้องได้ระดมกำลังเข้าดับไฟนั้น นายพงศ์รัตน์ ภิรมย์รัตน์ ผู้ว่าราชการจังหวัดแพร่ ได้ลงพื้นที่บัญชาการเหตุการณ์และตรวจเยี่ยมให้กำลังใจเจ้าหน้าที่ผู้ปฏิบัติงาน ณ บริเวณจุดพักรถเขาพลึง ริมทางหลวงหมายเลข 11 โดยมีนายอิสรา สุขแจ่มใส นายอำเภอเด่นชัย จังหวัดแพร่ นายชาตรี บุญมาก นายอำเภอเมืองอุตรดิตถ์ จังหวัดอุตรดิตถ์ และ พ.อ.เกียรติอุดม นาดี ผู้บังคับกองพันทหารม้าที่ 12 ค่ายพระยาไชยบูรณ์ ร่วมบัญชาการเหตุการณ์ดังกล่าว ในการนี้ กองพันทหารม้าที่ 12 ได้ตั้งโรงครัวพระราชทาน เพื่อประกอบอาหารจัดเลี้ยงเจ้าหน้าที่ที่ปฏิบัติงานจนเสร็จสิ้นภารกิจดังกล่าวด้วย ด้าน นายธีระ เงินวิลัย ผู้อำนวยการสำนักงานทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมจังหวัดแพร่ กล่าวถึงความคืบหน้าล่าสุดว่า หลังจากที่เจ้าหน้าที่หน่วยงานต่างๆ ทั้งกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช, กรมป่าไม้, มณฑลทหารบกที่ 35, กองพันทหารม้าที่ 12 กองพลทหารม้าที่ 1 ค่ายพระยาไชยบูรณ์, ฝ่ายปกครองและประชาชนจิตอาสาของทั้งสองจังหวัด รวมกว่า 200 คน เข้าร่วมปฏิบัติการดับไฟตลอดทั้งวัน โดยมีเฮลิคอปเตอร์ MI17 ของกองทัพบกช่วยโปรยน้ำสนับสนุนการดับไฟด้วยนั้น ทำให้ไฟในจุดต่างๆ ลดความรุนแรงลงและสามารถควบคุมไม่ให้ลุกลามต่อไปได้ และจากข้อมูลดาวเทียมเมื่องช่วงเช้า (25 เมษายน 2562) ที่ผ่านมายังคงพบกลุ่มควันในบางจุด จึงได้ให้ชุดปฏิบัติการภาคพื้นที่เข้าไปตรวจสอบ และใช้เฮลิคอปเตอร์ MI17 ขึ้นบินสนับสนุนอีก 4 เที่ยว ไฟจึงดับสนิท แต่ยังคงให้ชุดปฏิบัติการต่างๆ เตรียมความพร้อมอยู่ตลอดเวลาหากเกิดไฟปะทุขึ้นมาอีก โดยขณะนี้กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมได้เตรียมพร้อมของเฮลิคอปเตอร์อยู่ที่จังหวัดเชียงรายเพื่อสนับสนุนการปฏิบัติการทางอากาศอยู่หากได้รับการร้องขอ

จังหวัดลำพูน

– หน่วยป้องกันและพัฒนาป่าไม้แม่ทา, หน่วยป้องกันรักษาป่าที่ ลพ.2 (ทาชมภู), หน่วยส่งเสริม การควบคุมไฟป่าแม่ทา ดับไฟป่าในเขตป่าสงวนแห่งชำติป่าแม่ทา บ้านหน้าสถานี หมู่ที่ 11 ต.ทาปลาดุก อ.แม่ทา จ.ลำพูน พื้นที่ป่าเสียหายประมาณ 30 ไร่ สาเหตหาของป่า และดับไฟป่าร่วมกับเจ้าหน้าที่ฝ่ายปกครอง
อำเภอแม่ทา และเครือข่ายฯบ้านจำตาเหิน ดับไฟป่าในเขตป่าสงวนแห่งชาติป่าแม่ทา พื้นที่ป่าเสียหายประมาณ 20 ไร่

– นายโยธิน ประสงค์ความดี นายอำเภอแม่ทา สั่งการให้ปลัดอำเภอฝ่ายความมั่นคง อส.อ.แม่ทาที่ 3 ร่วมกับกำนัน/ผู้ใหญ่บ้าน ตำบลทาปลาดุก /เจ้าหน้าที่ทหาร รส.อ.แม่ทา/เจ้าหน้าที่เทศบาลทาปลาดุก/จิตอาสาบ้านทาปลาดุก ได้ดำเนินการดับไฟป่าบริเวณดอยห้วยไคร้น้อย บ้านทาปลาดุก หมู่ที่ 5 ตำบลทาปลาดุก อำเภอแม่ทา จังหวัดลำพูน สามารถควบคุมสถานการณ์ไฟป่ำได้เรียบร้อยแล้ว

– ชุดปฏิบัติการดับไฟป่าเขตห้ามล่า ร่วมกับหน่วยงานรับผิดชอบ ในพื้นที่ทำแนวกันไฟในพื้นที่ บ้านป่าป๋วย ตำบลบ้านโฮ่ง อำเภอบ้านโฮ่ง จังหวัดลำพูน

– สถานีควบคุมไฟป่าบ้านโฮ่ง ส ำนักบริหารพื้นที่อนุรักษ์ที่ 16 (เชียงใหม่) ออกลาดตระเวนตรวจหาไฟ ลาดตระเวนร่วมเจ้าหน้าที่ทหาร ในเขตพื้นที่ตำบลป่าพลู อำเภอบ้านโฮ่ง จังหวัดลำพูน และประชาสัมพันธ์ ผ่านสื่อมวลชนสถานีวิทยุ FM.99 บ้านเฮาเรดิโอ ท้องที่บ้านป่าดำ ตำบลบ้านโฮ่ง อำเภอบ้านโฮ่ง จังหวัดลำพูน

จังหวัดน่าน

– อำเภอบ้านหลวง ร่วมกับประชาชนจิตอาสา ” เราทำความดี ด้วยหัวใจ ” หน่วยป้องกันรักษาป่าที่ นน. 12, หน่วยดับไฟป่านันทบุรี, อช.นันทบุรี ออกลาดตระเวนตรวจสอบพื้นที่เสี่ยงเกิดไฟป่าบริเวณบ้านดอน ม.5 ต.บ้านหลวง อ.บ้านหลวง ผลการปฏิบัติเป็นไปด้วยความเรียบร้อย

– อำเภอนาหมื่นบูรณาการร่วมกับทหาร หมู่ รส.มว.รส.ที่ 2 ม.2 พัน.15(อ.นาหมื่น), ตำรวจ สภ.นาหมื่น, ทหารพราน 3202, อช.ศรีน่าน,อช.ขุนสถาน, หน่วยควบคุมไฟป่าศรีน่าน, หน่วยจัดการต้นน้ำเคิม, หน่วยจัดการ ต้นน้ำห้วยนาย, หน่วยจัดการต้นน้ำกื๋น หน่วยป้องกันรักษาป่า นน.17 (นาทะนุง) และผู้นำชุมชน ร่วมออกลาดตระเวน เฝ้าระวังและคัดกรองคนเข้าป่า บริเวณป่าสงวนฯ (อช.ขุนสถาน) บ้านหนอง บ้านห้วยเย็น ม.4 ต.ปิงหลวง อ.นาหมื่น ผลการปฏิบัติเป็นไปด้วยความเรียบร้อยไม่พบไฟป่าแต่อย่างใด

– องค์การบริหารส่วนจังหวัด องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นในพื้นที่จังหวัดน่าน ดำเนินการฉีดพ่นละอองน้ำในพื้นที่ อาทิ เส้นทางการจราจร พื้นที่สาธารณะ สถานที่ราชการ เพื่อลดปริมาณฝุ่นละอองขนาดเล็ก ที่เกินค่ามาตรฐานและสร้างความชุ่มชื้นในพื้นที่

จังหวัดแม่ฮ่องสอน

นายสุรศักดิ์ วุฒิอิ่น ผู้อำนวยการส่วนอนุรักษ์สัตว์ป่า ตรวจเยี่ยมให้กำลังใจพร้อมมอบสิ่งของ อาทิ น้ำดื่ม กาแฟกระป๋อง เครื่องดื่มชูกำลัง และอาหารแห้ง ให้กับเจ้าหน้าที่สายตรวจลาดตระเวนป้องกันและดับไฟป่า ในหน่วยงานสังกัดฯ โดยมี เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าลุ่มน้ำปาย เขตห้ามล่าสัตว์ป่าลุ่มน้ำปายฝั่งซ้าย สถานีควบคุมไฟป่าลุ่มน้ำปาย เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าสันปันแดน และ ศูนย์ศึกษาธรรมชาติและสัตว์ป่าถ้ำน้ำลอด ขณะเดียวกัน ด้านนายธัญญา เนติธรรมกุล อธิบดีกรมอุทยานแห่งชาติสัตว์ป่าและพันธุ์พืช แสดงความห่วงใยต่อเจ้าหน้าที่ และอาสาสมัคร ที่เข้าไปดับไฟป่า โดยให้คำนึงถึงความปลอดภัยของผู้ปฏิบัติงาน