การดำเนินงานแก้ไขปัญหาหมอกควัน 9 จังหวัดภาคเหนือ 1 พ.ค. 2562

1.สถานการณ์ฝุ่นละอองขนาดไม่เกิน 2.5 ไมครอน (PM2.5) เฉลี่ย 24 ชั่วโมง ประจำวันพุธที่ 1พฤษภาคม 2562 ณ เวลา 9.00 น. จากการตรวจวัด 17 พื้นที่ ใน 9 จังหวัดภาคเหนือ สรุปได้ดังนี้

2.ค่าความเข้มข้นของฝุ่นละออง PM2.5 เฉลี่ย 24 ชั่วโมง มีค่าระหว่าง 24- 114 ไมโครกรัม/ลูกบาศก์เมตร (ค่ามาตรฐานไม่เกิน 50 ไมโครกรัม/ลูกบาศก์เมตร) ซึ่งแสดงถึงคุณภาพอากาศอยู่ในเกณฑ์คุณภาพอากาศดีมาก (พื้นที่สีฟ้า) เพิ่มขึ้นจากเดิมที่ไม่มีพื้นที่ใดเป็นจำนวน 1 พื้นที่ในวันนี้ ได้แก่ ต.แม่ปะ อ.แม่สอด จ.ตาก คุณภาพอากาศ ปานกลางจำนวน 8 พื้นที่ มีพื้นที่อยู่ในเกณฑ์ที่เริ่มมีผลกระทบต่อสุขภาพ (พื้นที่สีส้ม) จำนวน 5 พื้นที่ และพื้นที่ ที่มีผลกระทบต่อสุขภาพ (พื้นที่สีแดง) จำนวน 2 พื้นที่ได้แก่ พื้นที่ ต.เวียง อ.เมือง และ ต.เวียงผาคำ อ.แม่สาย จ. เชียงราย

– มีค่าเปลี่ยนแปลงไม่มากนักในพื้นที่ทั้ง 9 จังหวัด เมื่อเปรียบเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของเมื่อวาน ส่วนพื้นที่ที่มีแนวโน้มดีขึ้นเปลี่ยนแปลงเล็กน้อยเป็น 5 พื้นที่ จากเดิม 9 พื้นที่ในเมื่อวาน โดยเฉพาะพื้นที่ ต.แม่ปะ อ.แม่สอด จ.ตาก ที่สถานการณ์เริ่มคลี่คลายไปในทางที่ดีขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยอยู่ในเกณฑ์คุณภาพอากาศดีมากเป็นพื้นที่แรกของสัปดาห์นี้

– คุณภาพอากาศมีค่าอยู่ในเกณฑ์ดีมาก – มีผลกระทบต่อสุขภาพ โดยพื้นที่ส่วนใหญ่เป็นสีเหลือง ซึ่งเพิ่มขึ้นเล็กน้อยจากเมื่อวานเป็น 8 พื้นที่ (คุณภาพอากาศปานกลาง) และสีส้ม จำนวน 5 พื้นที่ ซึ่งสถานการณ์ ไม่เปลี่ยนแปลงไปจากเมื่อวาน (คุณภาพอากาศเริ่มมีผลกระทบต่อสุขภาพ) และพื้นที่สีแดง เป็น 2 จุด ซึ่งสถานการณ์ไม่มีการเปลี่ยนแปลงไปจากเมื่อวาน (คุณภาพอากาศมีผลต่อสุขภาพ) ได้แก่ พื้นที่ ต.เวียง อ.เมือง และ ต.เวียงผาคำ อ.แม่สาย จ.เชียงราย

หมายเหตุ : N/A หมายถึง ไม่มีข้อมูลเนื่องจากเครื่องมือขัดข้อง

2. สถานการณ์จุดความร้อน (Hotspot) ในวันที่ 30 เมษายน 2562 จากดาวเทียมระบบ MODIS ดังนี้

– จุดความร้อนรวมทั้ง 9 จังหวัดภาคเหนือ มีทั้งสิ้น 155 จุด โดยเพิ่มขึ้นจากวันที่ 29 เมษายน 2562 จำนวน 48 จุด หรือเพิ่มขึ้นคิดเป็น 44.9 %

– มีจำนวนมากสุดที่ จ. เชียงราย จำนวน 68 จุด

– สามารถแบ่งตามประเภทพื้นที่ได้ดังนี้
1) พื้นที่ป่าอนุรักษ์ 53 จุด
2) ป่าสงวนแห่งชาติ 89 จุด
3) เขตสปก. 5 จุด
4) พื้นที่เกษตร 4 จุด
5) ชุมชน และอื่น ๆ 4 จุด

ตารางที่ 2 แสดงจำนวนจุดความร้อน (hotspot) จากดาวเทียมระบบ MODISหมายเหตุ : ข้อมูลจุดความร้อนจากดาวเทียมระบบ MODIS

3. สถานการณ์หมอกควันข้ามแดน โดยสำนักงานพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ (องค์การมหาชน) (GISTDA) รายงานการปกคลุมของหมอกควันจากดาวเทียมระบบ MODIS ประจำวันที่ 30 เมษายน 2562 พบว่า มีกลุ่มหมอกควันปกคลุมและจุดความร้อนนอกประเทศไทยบริเวณฝั่งตะวันตกของภาคเหนือ ได้แก่จังหวัดแม่ฮ่องสอน และจังหวัดตาก รวมทั้งฝั่งเหนือของภาคเหนือ ได้แก่ จังหวัดเชียงราย และจังหวัดน่าน มีทิศทางลมพัดจากทิศตะวันตกและตะวันตกเฉียงเหนือเข้าสู่ประเทศไทย ดังนั้น นอกจากปัญหาการเผาในที่โล่งภายในประเทศไทยแล้ว จังหวัดดังกล่าวอาจได้รับผลกระทบจากหมอกควันข้ามแดน ได้อีกด้วย

4. การดำเนินงานแก้ไขปัญหาหมอกควันของ 9 จังหวัดภาคเหนือ

จังหวัดเชียงใหม่

ที่ห้องประชุม 4 อาคารอำนวยการ ศาลากลางจังหวัดเชียงใหม่ นายสรัชชา สุริยกุล ณ อยุธยา ผู้อำนวยการสำนักงานทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมจังหวัดเชียงใหม่ เปิดเผยว่าสถานการณ์ค่าฝุ่นละออง ในจังหวัดเชียงใหม่ปัจจุบัน คุณภาพอากาศอยู่ในเกณฑ์เริ่มมีผลกระทบต่อสุขภาพ ซึ่งมีค่าคุณภาพอากาศ ที่ไม่เปลี่ยนแปลงจากวันก่อนมากนัก จังหวัดเชียงใหม่ได้ประกาศการบริหารจัดการเชื้อเพลิงทุกพื้นที่หลังสิ้นสุดกำหนดวันห้ามเผา พร้อมทั้งบังคับใช้มาตรการ ” จังหวัดเชียงใหม่เมืองปลอดภัยจากฝุ่นละออง ” อย่างต่อเนื่อง

จังหวัดพะเยา

จังหวัดพะเยาร่วมกับส่วนราชการ หน่วยงานองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (งานป้องกัน และบรรเทาสาธารณภัย สำนักงานเทศบาลเมืองพะเยา) ร่วมดำเนินมาตรการเพิ่มความชุ่มชื้นและลดฝุ่นละออง ในอากาศ โดย นำรถยนต์บรรทุกน้ำ รถดับเพลิง ทำการฉีดพ่นละอองน้ำเพิ่มความชุ่มชื่น ลดหมอกควัน และ ฝุ่นละอองขนาดเล็กในอากาศ ทำความสะอาดถนน ต้นไม้ ณ บริเวณศาลหลักเมืองพะเยา อำเภอเมืองพะเยา

จังหวัดลำปาง

– อำเภอเถิน ชุดปฏิบัติการประจำตำบล 4 ชุด ประกอบด้วย กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน ผู้ช่วยผู้ใหญ่บ้าน สารวัตรกำนัน ตำรวจ ทหาร ราษฎรจิตอาสา เจ้าหน้าที่ประจำหน่วยป้องกัน และฝ่ายปกครอง รวมทั้งสิ้น 40 คน ปฏิบัติงานลาดตระเวนในพื้นที่ ตำบลแม่ถอด ตำบลแม่วะ ตำบลแม่ปะ และตำบลนาโป่ง ทั้งนี้ องค์การบริหาร ส่วนตำบลแม่ถอด ได้ร่วมกับ ผู้ใหญ่บ้านและราษฎรจิตอาสา บ้านนาบ้านไร่ หมู่ 5 ตำบลแม่ถอด อำเภอเถิน ปฏิบัติการดับไฟป่าบริเวณริมทางบ้านนาบ้านไร่ ผลการปฏิบัติเป็นไปด้วยความเรียบร้อย

– เกิดจุดความร้อน (Hotspot) จำนวน 1 จุด ในเขตตำบลบ้านค่า ณ บริเวณบ้านค่ากลาง หมู่ที่ 2 ตำบลบ้านค่า อำเภอเมืองลำปาง เจ้าหน้าที่ อบต.บ้านค่า ร่วมกับ ผช.ผญบ. ลงพื้นที่ตรวจสอบ
ในบริเวณไฟไหม้ด้านหลังโรงเรียนบ้านทุ่งโจ้ เป็นนารกร้างไม่ได้ใช้ประโยชน์ในการทำกิน เป็นรอยต่อ กับบ้านทุ่งโจ้ หมู่ที่ 3 ต.บ้านค่า และได้ประสานงานไปยังปลัด อบต.บ้านค่า ให้การช่วยเหลือในการดับไฟป่า
และสามารถดับไฟป่าได้สำเร็จ

– บก.ควบคุม กกล.รส.จว.ล.ป. โดย ร้อย .รส.ที่ 1 (มทบ.32)พื้นที่ อ.ห้างฉัตร จ.ลำปาง รายงาน การปฏิบัติงานสถานีควบคุมไฟป่าขุนตาล-ผาเมือง เจ้าหน้าที่สถานีฯร่วมกับเจ้าหน้าที่ อช.ขุนตาล เข้าดำเนินการตรวจสอบจุด Hotspots บริเวณห้วยแป๊ป พื้นที่อุทยานฯ ขุนตาล หมู่ 9 ต.เวียงตาล อ.ห้างฉัตร จ.ลำปาง พบไฟกำลังลุกไหม้ พื้นที่เสียหาย 32 ไร่

– กกล.รส.จว.ลป.โดย.ร้อย.รส.ที่3 (ร้อย.ฝรพ.3) พื้นที่ อ.แจ้ห่มร่วมกับ จนท.บรรเทาสาธารณภัย เทศบาลตำบลบ้านสา, จนท.ป่าไม้หน่วย ลป.8, จนท.บรรเทาสาธารณภัยตำบลวิเชตนคร, จนท.บรรเทาสาธารณภัยตำบลแจ้ห่ม, จนท.บรรเทาสาธารณภัยเทศบาลตำบลแจ้ห่ม, จนท.ปภ.สาขาวังเหนือดับไฟบริเวณป่าอนุรักษ์ ตำบลบ้านสาได้ทำการดับไฟ ผลการปฏิบัติเป็นไปด้วยความเรียบร้อย

จังหวัดตาก

– นายบรรจง ขุนเพชร นายอำเภอสามเงา เป็นประธานการประชุมเพื่อกำหนดแผนบริหารจัดการระเบียบการเผา หลังประกาศห้ามเผาเด็ดขาด 72 วัน โดยมีกำนันทุกตำบล ผู้ใหญ่บ้านทุกหมู่บ้าน ผู้บริหารองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นและหน่วยงานที่เกี่ยวของ เพื่อวางแผนจัดระเบียบการเผาตลอดจนกำหนดแนวทางและ มาตรการต่าง ๆ ให้ดำเนินการเป็นไปด้วยความเรียบร้อยต่อไป

– ศูนย์บัญชาการหมอกควันและไฟป่าอำเภอแม่สอดจัดรถดับเพลิงทำการฉีดพ่นละอองน้ำและล้างถนน เพื่อลดปริมาณฝุ่นละอองในอากาศในพื้นที่อำเภอแม่สอด โดยได้รับการสนับสนุนรถน้ำจากหน่วยเฉพาะกิจ กรมทหารราบที่ 14 เทศบาลนครแม่สอด และศูนย์ปภเขต 9 พิษณุโลก

จังหวัดเชียงราย

หน่วยงานราชการ ทุกภาคส่วน ประชาชน ร่วมฉีดพ่นละอองน้ำในพื้นที่เขตรับผิดชอบตามข้อสั่งการ ของผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงราย เพื่อเพิ่มความชุ่มชื้นในอากาศและลดฝุ่นละอองขนาดเล็กที่มีค่าเกินมาตรฐาน และจะดำเนินการอย่างต่อเนื่องในพื้นที่ พร้อมรณรงค์ให้ประชาชนในพื้นที่ช่วยกันฉีดพ่นละอองน้ำในทุกครัวเรือนและชุมชน

จังหวัดแพร่

สำนักงานป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยจังหวัดแพร่ ปฏิบัติการฉีดพ่นละอองน้ำเพื่อบรรเทาปัญหา ฝุ่นละอองขนาดเล็กและเพิ่มความชื้นในอากาศเป็นประจำทุกวัน โดยได้รับการสนับสนุนรถหุ่นยนต์ดับเพลิงแรงดันสูงควบคุมระยะไกล จากศูนย์ป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยเขต 15 เชียงราย และได้รับการสนับสนุนรถน้ำดับเพลิงพร้อมเจ้าหน้าที่จากเทศบาลเมืองแพร่ กองพันทหารม้าที่ 12 แขวงทางหลวงแพร่ แขวงทางหลวงชนบท อบจ.แพร่ และองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นในพื้นที่ทุกแห่งร่วมปฏิบัติการอย่างต่อเนื่อง

จังหวัดลำพูน

นายวรยุทธ เนาวรัตน์ รองผู้ว่าราชการจังหวัดลำพูน เปิดเผยหลังการประชุมกำหนดมาตรการป้องกัน และแก้ไขปัญหาหมอกควันและไฟป่า ช่วงหลังประกาศห้ามเผาของจังหวัดลำพูน ณ ห้องประชุมศูนย์อำนวยการเฉพาะกิจป้องกันและแก้ไขปัญหาหมอกควันและไฟป่าจังหวัดลำพูน (war room) ระดับจังหวัดว่า ตามที่ จังหวัดลำพูน มีประกาศห้ามเผาเด็ดขาดในทุกพื้นที่ เพื่อป้องกันปัญหาหมอกควันและไฟป่า นับตั้งแต่วันที่ 1 มีนาคม – 30 เมษายน 2562 นั้น ขณะนี้เข้าสู่ช่วงสิ้นสุดระยะเวลาตามประกาศห้ามเผาเด็ดขาดแล้ว ที่ผ่านมา ผลการดำเนินงานภาพรวมจุดความร้อนลดลงเมื่อเทียบกับปีที่ผ่านมาในช่วงระยะเวลาเดียวกัน การควบคุมการเผามีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น สามารถบริหารจัดการเพื่อทำให้สถานการณ์ของจังหวัดลำพูนจัดอยู่ในระดับดีที่สุด ของภาคเหนือ รองผู้ว่าราชการจังหวัดลำพูน กล่าวเพิ่มเติมว่า ที่ประชุมได้ร่วมกันพิจารณามาตรการหลังสิ้นสุด การประกาศห้ามเผาของจังหวัดลำพูนและมีข้อสรุปว่า จะไม่ขยายระยะเวลาประกาศห้ามเผาเด็ดขาดต่อออกไป เนื่องจากภาคการเกษตรมีความจำเป็นในการจัดการพื้นที่เพื่อเตรียมการเพาะปลูก ตลอดจนสภาพอากาศถ่ายเทได้ดียิ่งขึ้น อย่างไรก็ตาม ยังคงขอความร่วมมือทุกพื้นที่งดเว้นการเผาในช่วงการจัดพระราชพิธีบรมราชาภิเษก นับตั้งแต่วันที่ 1 – 7 พฤษภาคม 2562 โดยภายหลังวันที่ 7 พฤษภาคม 2562 เป็นต้นไป ยังคงมีการบังคับใช้กฎหมายอย่างเคร่งครัด ตำรวจ ทหาร และเจ้าหน้าที่ของรัฐ จะบังคับใช้กฎหมายหากมีการลักลอบเผาในพื้นที่ป่าไม้หรือพื้นที่ของรัฐอย่างเข้มข้นต่อเนื่อง สำหรับพื้นที่ทั่วไปของประชาชนนั้น อนุญาตให้มีการเผาได้เฉพาะพื้นที่ ที่มีเอกสารสิทธิ์ หรือ มีการอนุญาตให้ใช้ประโยชน์ทำกิน ก่อนการเผาจะต้องแจ้งต่อกำนัน ผู้ใหญ่บ้าน /อบต. /เทศบาล เพื่อขออนุญาตจัดการเชื้อเพลิง ให้เป็นไปตามช่วงเวลาที่จังหวัดกำหนด และต้องอยู่ในการดูแล ของเจ้าหน้าที่ เพื่อควบคุมไฟไม่ให้ลุกลามออกไปยังพื้นที่อื่นๆ เมื่อเผาแล้วต้องดับให้สนิททันที ทั้งนี้ จังหวัดลำพูน ได้ร่วมกับอำเภอกำหนดช่วงระยะเวลาการจัดการเชื้อเพลิง ดังนี้ วันที่ 8 -13 พฤษภาคม 2562 กำหนดจัดการพื้นที่อำเภอแม่ทา อำเภอทุ่งหัวช้าง อำเภอบ้านโฮ่ง วันที่ 14 – 19 พฤษภาคม 2562 กำหนดจัดการพื้นที่อำเภอลี้ อำเภอป่าซาง อำเภอบ้านธิ และวันที่ 20 – 25 พฤษภาคม 2562 กำหนดจัดการพื้นที่อำเภอเมือง และอำเภอเวียงหนองล่อง ช่วงเวลาการจัดการเชื้อเพลิงแบ่งเป็น 2 รอบต่อวัน คือ รอบแรก เวลา 06.00 – 11.00 น. และ 14.00 – 20.00 น. เท่านั้น สำหรับพื้นที่แยกเป็นรายตำบล หมู่บ้าน อำเภอจะเป็นผู้กำหนดตาม ความเหมาะสมและจะแจ้งให้จังหวัดทราบต่อไป

จังหวัดน่าน

– อ.เวียงสา ร่วมกับ กกล.รส.จว.นน.โดย หมู่ รส.ที่ 1 ร้อย.รส.ที่ 2 (ม. 2 พัน.15 ) อ.เวียงสา ชป.ลว.ป้องกันไฟป่า ม.2 พัน.15 (ต.แม่ขะนิง), จนท.หน่วยจัดการต้นน้ำแม่ขะนิง, หน่วยป้องกันรักษาป่า นน. ที่13 (ป่าแพะ) ลาดตระเวน/ตรวจพื้นที่บริเวณรอยต่อบ้านยาบนาเลิม ม.2 – บ้านป่าแพะ ม.3 ต.แม่ขะนิง อ.เวียงสา และได้พบปะราษฎรในพื้นที่ พร้อมประชาสัมพันธ์ไม่ให้ราษฎรในพื้นที่เผาป่าและเผาไร่ ผลการปฏิบัติเป็นไปด้วยความเรียบร้อยไม่พบจุดเกิดความร้อน

– องค์การบริหารส่วนจังหวัด องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นในพื้นที่จังหวัดน่าน ดำเนินการฉีดพ่นละอองน้ำในพื้นที่ อาทิ เส้นทางการจราจร พื้นที่สาธารณะ สถานที่ราชการ เพื่อลดปริมาณฝุ่นละอองขนาดเล็ก ที่เกินค่ามาตรฐานและสร้างความชุ่มชื้นในพื้นที่

– สำนักงานสาธารณสุขอำเภอ โรงพยาบาลอำเภอ โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล และประชาชน จิตอาสาในพื้นที่จังหวัดน่าน ดำเนินการจัดสถานที่ปลอดภัยให้กับผู้ได้รับผลกระทบจากควันไฟป่า และดำเนินการประชาสัมพันธ์ รณรงค์สร้างความเข้าใจให้กับประชาชนในพื้นที่ ในการป้องกันตนเองจากฝุ่นละออง ที่เกินค่ามาตรฐาน พร้อมกับแจกจ่ายหน้ากากอนามัยให้กับประชาชน

จังหวัดแม่ฮ่องสอน

จังหวัดแม่ฮ่องสอนประชุมคณะกรรมการอำนวยการเฉพาะกิจป้องกันและแก้ไขปัญหาไฟป่า และหมอกควันจังหวัดแม่ฮ่องสอน เพื่อสรุปและประเมินสถานการณ์ไฟป่าและหมอกควัน รวมถึงผลการดำเนินงานและปัญหาอุปสรรคในการดำเนินการในช่วงที่ผ่านมา โดยมีนายสิริรัฐ ชุมอุปการ ผู้ว่าราชการจังหวัดแม่ฮ่องสอน เป็นประธานประชุม สถานการณ์คุณภาพอากาศตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม ถึง 28 เมษายน 2562 พบค่า PM10 เกินเกณฑ์มาตรฐาน จำนวน 24 วัน (เกณฑ์มาตรฐานไม่เกิน 120 ไมโครกรัม/ลูกบาศก์เมตร) พบค่า PM2.5 เกินเกณฑ์มาตรฐาน จำนวน 61 วัน (เกณฑ์มาตรฐานไม่เกิน 50 ไมโครกรัม/ลูกบาศก์เมตร) พบจุดความร้อนสะสม จำนวน 1,487 จุด ขณะเดียวกันเที่ยวบินยกเลิกเนื่องด้วยสภาพทัศนวิสัยไม่เหมาะสม จำนวน 84 เที่ยวบิน และล่าช้าจำนวน 8 เที่ยวบิน ผู้ว่าราชการจังหวัดแม่ฮ่องสอน กำชับให้ทุกหน่วยงานและชุดปฏิบัติ การระดับหมู่บ้าน ที่ยังคงต้องเฝ้าระวังไฟป่าอย่างต่อเนื่อง แม้ว่าจะพ้นกำหนดประกาศห้ามเผาอย่างเด็ดขาด และประกาศปิดป่า รวมถึงการถอนกำลังออกจากพื้นที่ของชุดปฏิบัติการดับไฟป่าที่เข้ามาสนับสนุนในพื้นที่ โดยภายหลังจากนี้จังหวัดแม่ฮ่องสอนจะดำเนินการตามแผนการบริหารจัดการเชื้อเพลิงและการจัดระเบียบการเผาหลังช่วงประกาศห้ามเผาต่อไป