สถานการณ์ PM2.5 ประจำวันพุธที่ 8 พ.ค.62 จากการตรวจวัด 17 พื้นที่ ใน 9 จังหวัดภาคเหนือ

1. สถานการณ์ฝุ่นละอองขนาดไม่เกิน 2.5 ไมครอน (PM2.5) เฉลี่ย 24 ชั่วโมง ประจำวันพุธที่ 8 พฤษภาคม 2562 ณ เวลา 9.00 น. จากการตรวจวัด 17 พื้นที่ ใน 9 จังหวัดภาคเหนือ สรุปได้ดังนี้

2. ค่าความเข้มข้นของฝุ่นละออง PM2.5 เฉลี่ย 24 ชั่วโมง มีค่าระหว่าง 34 – 82 ไมโครกรัม/ลูกบาศก์เมตร (ค่ามาตรฐานไม่เกิน 50 ไมโครกรัม/ลูกบาศก์เมตร) ซึ่งแสดงถึง คุณภาพอากาศดี (พื้นที่สีเขียว) จำนวน 2 พื้นที่ในวันนี้ได้แก่ พื้นที่ ต.แม่ปะ อ.แม่สอด จ.ตาก และ ต.นาจักร อ.เมือง จ.แพร่ คุณภาพอากาศปานกลาง (พื้นที่สีเหลือง) จำนวน 5 พื้นที่ มีพื้นที่อยู่ในเกณฑ์ที่เริ่มมีผลกระทบต่อสุขภาพ (พื้นที่สีส้ม) จำนวน 9 พื้นที่ และไม่พบพื้นที่ ที่มีผลกระทบต่อสุขภาพ (พื้นที่สีแดง) ในวันนี้

-มีแนวโน้มเปลี่ยนแปลงเล็กน้อยในพื้นที่ทั้ง 9 จังหวัด เมื่อเปรียบเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของเมื่อวาน โดยเฉพาะพื้นที่ ต.นาจักร อ.เมือง จ.แพร่ ที่มีสถานการณ์ฝุ่นละอองขนาดเล็กมีแนวโน้มดีขึ้นอย่างต่อเนื่อง ซึ่งในวันนี้ค่าระดับฝุ่นละอองขนาดไม่เกิน 2.5 ไมครอน อยู่ในเกณฑ์คุณภาพอากาศดี เป็นครั้งแรก ในสัปดาห์นี้

-คุณภาพอากาศมีค่าอยู่ในเกณฑ์ดี –เริ่มมีผลกระทบต่อสุขภาพ โดยพื้นที่ส่วนใหญ่เป็นสีส้ม(คุณภาพอากาศเริ่มมีผลกระทบต่อสุขภาพ) จำนวน 10 พื้นที่ ซึ่งสถานการณ์เปลี่ยนแปลงไปจากเมื่อวานเล็กน้อยพื้นที่สีเหลือง(คุณภาพอากาศปานกลาง) จำนวน 5 พื้นที่ และไม่พบพื้นที่สีแดง (คุณภาพอากาศมีผลต่อสุขภาพ) พื้นที่สีเขียว (คุณภาพอากาศดี) จำนวน 2 พื้นที่ ได้แก่ พื้นที่ ต.แม่ปะ อ.แม่สอด จ.ตาก และ ต. นาจักร อ.เมือง จ.แพร่ ในวันนี้

ตารางที่ 1 แสดงค่า PM2.5 เฉลี่ย 24 ชั่วโมง (ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร) ณ เวลา 9.00 น.

หมายเหตุ : N/A หมายถึง ไม่มีข้อมูลเนื่องจากเครื่องมือขัดข้อง

2. สถานการณ์จุดความร้อน (Hotspot) ในวันที่ 7 พฤษภาคม 2562 จากดาวเทียมระบบ MODIS ดังนี้

– จุดความร้อนรวมทั้ง 9 จังหวัดภาคเหนือ มีทั้งสิ้น 40 จุด โดยเพิ่มขึ้นจากวันที่ 6 พฤษภาคม 2562 จำนวน 2 จุด หรือคิดเป็น 5.3 %

– มีจำนวนมากสุดที่ จ. เชียงราย จำนวน 17 จุด

– สามารถแบ่งตามประเภทพื้นที่ได้ดังนี้

1) พื้นที่ป่าอนุรักษ์ 10 จุด

2) ป่าสงวนแห่งชาติ 26 จุด

3) เขตสปก. 4 จุด

ตารางที่ 2 แสดงจำนวนจุดความร้อน (hotspot) จากดาวเทียมระบบ MODIS

หมายเหตุ : ข้อมูลจุดความร้อนจากดาวเทียมระบบ MODIS

3.สถานการณ์หมอกควันข้ามแดน โดยสำนักงานพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ(องค์การมหาชน) (GISTDA)รายงานการปกคลุมของหมอกควันจากดาวเทียมระบบ MODIS ประจำวันที่ 3 พฤษภาคม 2562 ไม่พบกลุ่มหมอกควันปกคลุมและจุดความร้อนนอกประเทศไทย มีทิศทางลมพัดจากทิศตะวันตกและตะวันตกเฉียงเหนือเข้าสู่ประเทศไทย ดังนั้น สถานการณ์หมอกควันในช่วงเวลานี้จึงเกิดจากปัญหาการเผาในที่โล่งภายในประเทศไทย

4.การดำเนินงานแก้ไขปัญหาหมอกควันของ 9 จังหวัดภาคเหนือ

จังหวัดลำปาง

จังหวัดลำปางได้กำหนดข้อปฏิบัติในการบริหารจัดการเชื้อเพลิงหลังจากพ้นกำหนดห้ามเผา จังหวัดลำปาง ประจำปี พ.ศ. 2562 เพื่อเป็นการบริหารจัดการเชื้อเพลิงทุกพื้นที่หลังสิ้นสุดกำหนดวันห้ามเผา ตั้งแต่วันที่ 1 พฤษภาคม 2562 เป็นต้นไป โดยดำเนินการบริหารจัดการเชื้อเพลิงตามหลักวิชาการ ให้พื้นที่ที่มีความประสงค์ จะดำเนินการบริหารจัดการเชื้อเพลิงตามหลักวิชาการ โดยให้จัดการด้วยวิธีการที่ไม่ส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมและประชาชนเป็นลำดับแรก เช่น การไถกลบตอซัง หรือเศษวัชพืชในพื้นที่เกษตร การทำปุ๋ยหมัก หรือการนำไปเป็นอาหารสัตว์ เป็นต้น ทั้งนี้หากมีความจำเป็นต้องเผาวัชพืชในที่ดินทำกิน ให้ราษฎรผู้ครอบครองที่ดินดังกล่าวต้องขออนุญาตจากกำนันหรือผู้ใหญ่บ้าน นายกองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น และนายอำเภอท้องที่นั้นๆ ก่อนที่จะดำเนินการเผาทุกครั้ง โดยต้องจัดทำแนวกันไฟความกว้างไม่น้อยกว่า 6 เมตร โดยรอบพื้นที่ และควบคุมไฟมิให้ลุกลามไปยังพื้นที่อื่นๆได้ พร้อมทั้งให้ประสานกำนัน ผู้ใหญ่บ้าน นายกองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น และนายอำเภอท้องที่ จัดเจ้าหน้าที่คอยควบคุมในการดำเนินการดังกล่าวด้วย
จังหวัดพะเยา

พื้นที่จังหวัดพะเยายังคงพบว่าค่าฝุ่นละออง PM 2.5 ยังคงเกินค่ามาตรฐาน เนื่องจากยังเกิดไฟไหม้ป่าอย่างต่อเนื่องในพื้นที่ ซึ่งจากผลการตรวจวัดคุณภาพอากาศอยู่ในเกณฑ์เริ่มมีผลกระทบต่อสุขภาพประชาชน โดยสถานการณ์การเกิดไฟป่าและการเผาในพื้นที่จังหวัดพะเยา ยังคงพบการเผาเศษวัชพืช ขยะ การเกิดไฟไหม้ ริมทาง ในพื้นที่หลายจุด ซึ่งเป็นผลมาจากการเผาป่ากันมากขึ้น ซึ่งเมื่อวันที่ 7 พฤษภาคม 2562 ทางเทศบาลตำบลแม่กา ได้รับแจ้งเกิดไฟป่าลุกไหม้บริเวณ พื้นที่หมู่ 2 ซอยโรงน้ำแข็งลุงแดง ต.แม่กา อ.เมือง
จ.พะเยา โดยศูนย์ป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย เทศบาลตำบลแม่กา พร้อม กำนัน ผู้ใหญ่บ้านในพื้นที่ เจ้าหน้าที่ตำรวจ สภ.แม่กา เจ้าหน้าที่ป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย เทศบาลตำบลแม่กา ได้นำรถบรรทุกน้ำ สายธาร 2 พร้อมเจ้าหน้าที่ปฏิบัติงานออกตรวจสอบที่เกิดเหตุเบื้องต้น ซึ่งที่เกิดเหตุพบกลุ่มไฟมีระดับความรุนแรงระดับ 3-4 กำลังลุกลามในบริเวณพื้นป่าสวนสัก จึงนำรถบรรทุกน้ำเข้าทำการสกัดไฟป่าและทำการเฝ้าระวังที่เกิดเหตุ เบื้องต้นสามารถความคุมไฟป่าได้ โดยพบพื้นที่เสียหายประมาณ 10 ไร่

จังหวัดตาก

ศูนย์บัญชาการหมอกควันและไฟป่าอำเภอแม่สอดจัดรถดับเพลิงทำการฉีดพ่นละอองน้ำและล้างถนน เพื่อลดปริมาณฝุ่นละอองในอากาศในพื้นที่อำเภอแม่สอด โดยได้รับการสนับสนุนรถน้ำจากหน่วยเฉพาะกิจกรมทหารราบที่ 14 เทศบาลนครแม่สอด และศูนย์ปภเขต 9 พิษณุโลก

จังหวัดเชียงราย

ศูนย์ป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยเขต 15 เชียงราย ตำบลบ้านดู่ อำเภอเมือง จังหวัดเชียงราย นายประจญ ปรัชญ์สกุล ผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงราย เป็นประธานการประชุมถอดบทเรียนผลการปฏิบัติงานป้องกันแก้ไขปัญหาไฟป่าหมอกควัน ปี 2561-2562 โดยมีหน่วยงานที่เกี่ยวข้องระดับจังหวัด ภาครัฐ ภาคเอกชนจำนวน 30 หน่วย และหน่วยปฏิบัติจาก 18 อำเภอ เข้าร่วมประชุมนำเสนอข้อมูลจากการปฏิบัติในพื้นที่ เพื่อนำมาเป็นข้อมูลร่วมกันแก้ไขปัญหา นำไปวางแผนกำหนดมาตรการปฏิบัติงานป้องกันแก้ไขปัญหาไฟป่า
หมอกควันในครั้งต่อไป ผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงราย กล่าวว่า การประชุมครั้งนี้ ขอให้หน่วยปฏิบัติโดยนายอำเภอ ได้สรุปนำเสนอข้อมูล ปัญหาอุปสรรค ข้อจำกัดต่างๆ ในการปฏิบัติงาน และแนวทางการแก้ไขปัญหาแต่ละพื้นที่ ทั้ง 18 อำเภอ จะเป็นข้อมูลสำคัญจากการลงมือปฏิบัติที่เข้มข้นอย่างจริงจังต่อเนื่องในระยะเวลาช่วงประกาศห้ามเผาทุกชนิดโดยเด็ดขาด 60 วัน ระหว่างวันที่ 15 กุมภาพันธ์ 2562 – วันที่ 15 เมษายน 2562 และจังหวัดเชียงราย ได้ขยายระยะเวลาขอความร่วมมืองดการเผาในที่โล่งระหว่างวันที่ 16 – 30 เมษายน 2562 จากข้อมูลนำเสนอของ 48 หน่วยงานนอกจากนี้ขอให้สถาบันการศึกษา ได้แก่ มหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวง มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลล้านนาเชียงราย และมหาวิทยาลัยราชภัฏเชียงราย นำข้อมูลทั้งหมด ไปทำการวิเคราะห์ วิจัย แล้วนำไปสู่แนวทางการปฏิบัติการวางแผน และกำหนดมาตรการต่างๆ ในครั้งต่อไป

จังหวัดแพร่

สำนักงานป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยจังหวัดแพร่ ปฏิบัติการฉีดพ่นละอองน้ำเพื่อบรรเทาปัญหาฝุ่นละอองขนาดเล็กและเพิ่มความชื้นในอากาศเป็นประจำทุกวัน โดยได้รับการสนับสนุนรถหุ่นยนต์ดับเพลิงแรงดันสูงควบคุมระยะไกล จากศูนย์ป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยเขต 15 เชียงราย และได้รับการสนับสนุนรถน้ำดับเพลิงพร้อมเจ้าหน้าที่จากเทศบาลเมืองแพร่ กองพันทหารม้าที่ 12 แขวงทางหลวงแพร่ แขวงทางหลวงชนบท อบจ.แพร่ และองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นในพื้นที่ทุกแห่งร่วมปฏิบัติการอย่างต่อเนื่อง

จังหวัดแม่ฮ่องสอน

นายประจวบ อาจารพงษ์ รองผู้ว่าราชการจังหวัดแม่ฮ่องสอน พร้อมด้วยนายเต็งอ่อง ผู้ว่าราชการจังหวัดบอลาแคะ (ผู้แทนรัฐคะยา) สาธารณรัฐแห่งสหภาพเมียนมา และคณะ ประชุมร่วมกับศูนย์อํานวยการเฉพาะกิจป้องกันและแก้ไขปัญหาไฟป่าและหมอกควันจังหวัดแม่ฮ่องสอน เพื่อหารือภายใต้ข้อตกลงอาเซียนว่าด้วยมลพิษจากหมอกควันข้ามแดน Asean Agreement on Transboundary Haze Pollution (AATHP) ณ ห้องประชุมพญาพิศาลห้องสอนบุรี สำนักทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมจังหวัดแม่ฮ่องสอน ฝ่ายไทย ให้ข้อมูลเรื่องสถานการณ์หมอกควันและไฟป่า โดยสำนักทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมจังหวัดแม่ฮ่องสอนข้อมูลการจัดการชิงเผาโดยหลักวิชาการ โดยสํานักงานป่าไม้ที่ 1 จังหวัดแม่ฮ่องสอน ข้อมูลการจัดการเชื้อเพลิงในพื้นที่เกษตร โดยสํานักงานพัฒนาที่ดินจังหวัดแม่ฮ่องสอน ข้อมูลการจัดการเชื้อเพลิงโดยเทคโนโลยีโดยสํานักงานหอการค้าจังหวัดแม่ฮ่องสอน และข้อมูลการดําเนินงานการดับไฟป่าของหน่วยเฉพาะกิจกรมทหารราบที่ 7 นอกจากนี้ ยังมีการหารือกรอบความร่วมมือในปี พ.ศ. 2563 และข้อเสนอแนะในการร่วมมือทั้ง 2 ฝ่าย ซึ่งคณะฯ มีกำหนดดูงานการจัดการพื้นที่เกษตรกรรม โดยสํานักงานพัฒนาที่ดิน ดูงานการจัดการเชื้อเพลิงในพื้นที่การเกษตรด้วยเทคโนโลยี (ถ่านอัดแท่ง) โดยหอการค้าจังหวัดแม่ฮ่องสอน และดูงานการสาธิตการดับไฟป่าของชุดการปฏิบัติการร่วม ณ สถานีดับไฟป่าจังหวัดแม่ฮ่องสอน

จังหวัดเชียงใหม่

– สำนักงานป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยจังหวัดเชียงใหม่ และศูนย์ป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย เขต 9 พิษณุโลก องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นในจังหวัดเชียงใหม่ ได้ดำเนินการฉีดพ่นละอองน้ำเพื่อสร้างความชุ่มชื้นและลดฝุ่นละอองในอากาศ รวมถึงฉีดล้างทำความสะอาดถนนในพื้นที่รับผิดชอบ ตามมาตรการป้องกันและแก้ไขปัญหาฝุ่นละอองเกินค่ามาตรฐานเป็นประจำทุกวัน

– จังหวัดเชียงใหม่ ได้จัดทำแผนการบริหารจัดการพื้นที่เกษตรหลังช่วงห้ามเผา ในพื้นที่ 21 อำเภอ ตั้งแต่วันที่ 2 – 18 พฤษภาคม 2562 ทั้งนี้ได้มีการเฝ้าระวังและประเมินสถานการณ์และผลกระทบอย่างต่อเนื่อง

จังหวัดลำพูน

จังหวัดลำพูนได้ประชุมชี้แจง ส่วนราชการระดับอำเภอ กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน และองค์กรปกครอง ส่วนท้องถิ่นในพื้นที่ ให้ถือปฏิบัติตามนโยบายและมาตราการของจังหวัด หลังประกาศห้ามโดยเด็ดขาด อย่างเคร่งครัด ให้กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นในพื้นที่ ประชาสัมพันธ์เสียงตามสายให้ประชาชนในพื้นที่ได้รับทราบ ส่วนการกำจัดเชื้อเพลิงในส่วนของอำเภอเมืองลำพูน ให้ดำเนินการได้ในช่วงวันที่ 20 – 25 พฤษภาคม 2562 ตามแผนของอำเภอโดยเผาได้ใน สองช่วงเวลา คือ ช่วงเวลา 06.00-11.00น. และช่วงเวลา 14.00-20.00 น. ห้ามเผาในพื้นที่ป่าและพื้นที่ของรัฐ โดยเด็ดขาด ซึ่งยังมีการบังคับใช้กฎหมายอย่างเคร่งครัดต่อไปจนการสถานการณ์จะข้าสู่ภาวะปกติ และไม่กระทบกับประชาชนด้านสุภาพและการท่องเที่ยวของจังหวัด

จังหวัดน่าน

– เจ้าหน้าที่สถานีควบคุมไฟป่านันทบุรี (สบอ.13) และโครงการสถานีพัฒนาการเกษตรที่สูงฯ บ้านสบขุ่นออกลาดตระเวนไฟ และดำเนินการดับไฟไหม้ป่าบริเวณป่าต้นน้ำติ้ว บ้านสบขุ่น ต.ป่าคา อ.ท่าวังผา จ.น่าน ในเขตป่าสงวนแห่งชาติป่าน้ำยาว-น้ำสวด นอกเขตอุทยานแห่งชาตินันทบุรี พื้นที่ป่าเสียหายประมาณ 10 ไร่

– สถานีควบคุมไฟป่าศรีน่าน สำนักบริหารพื้นที่อนุรักษ์ ที่ 13 (แพร่) กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช ออกประชาสัมพันธ์เคลื่อนที่ให้ความรู้เรื่องไฟป่า แจกสื่อประชาสัมพันธ์ไฟป่า และสอบถามถึงสถานการณ์ไฟป่าและผลกระทบของไฟป่าระหว่างปี 2561 และ ปี 2562 บ้านหมาก หมู่ที่ 7 ตำบลสถาน อำเภอนาน้อย เหตุการณ์ทั่วไปปกติ ไม่พบไฟไหม้ในเขตพื้นที่รับผิดชอบแต่อย่างใด