‘ทีดีอาร์ไอ’ย้ำไทยหนีไม่พ้นสังคมสูงวัย แนะรัฐ-เอกชนรับมือแรงงานขาดแคลน

‘ทีดีอาร์ไอ’ย้ำไทยหนีไม่พ้นสังคมสูงวัย แนะรัฐ-เอกชนรับมือแรงงานขาดแคลน เร่งพลิกวิกฤติเป็นโอกาส

ผู้สื่อข่าว ‘ประชาชาติธุรกิจ’รายงานว่า วันนี้ (13 พฤษภาคม 2562) สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ) ได้จัดงานสัมมนาวิชาการประจำปี ( TDRI Annual Public Conference 2019) ในหัวข้อ “สังคมอายุยืน:แข่งขันได้ และอยู่ดี มีสุข ได้อย่างไร? โดยการสนับสนุนของ สสส.

ในช่วงเช้าเริ่มโดย ดร.สมเกียรติ ตั้งกิจวาณิชย์ ประธาน ทีดีอาร์ไอ ในหัวข้อ ‘อะไรจะเปลี่ยนไป…เมื่อไทยกลายเป็นสังคมอายุยืน?’ ต่อด้วยดร.เสาวรัจ รัตนคำฟู ทีดีอาร์ไอ และนายรุ่งโรจน์ รังสิโยภาส กรรมการผู้จัดการใหญ่ เอสซีจี

ดร.สมเกียรติ ตั้งกิจวาณิชย์ ประธาน ทีดีอาร์ไอ กล่าวว่าปัจจุบัน ประเทศไทยมีคนที่อายุยืนมากขึ้นและเกิน 100 ปี ถึง 9,000 คน(ปี2560) และอายุ 90-99 ปีถึง1.7แสนคน ทั้งมีแนวโน้มว่าคนไทยจะอายุยืนขึ้นและสุขภาพดีขึ้น แต่ผลสำรวจพบว่าผู้สูงวัยป่วยด้วยโรคไม่ติดต่อมากขึ้น เช่น เบาหวาน, ความดัน ซึ่งล้วนเป็นโรคที่เกี่ยวกับพฤติกรรม

‘เด็กที่เกินในปี 2010 ตอนนี้อายุ 9 ขวบ ถ้าอยู่ญี่ปุ่นจะมีอายุคาดการณ์ 107 ปี อเมริกา 104 ปี แคนาดา อิตาลี เกินร้อยปี เป็นอายุคาดการณ์ตามการพัฒนาเทคโนโลยี ซึ่งในไทยยังไม่มีการเก็บข้อมูลมากพอแต่อายุขัยตามช่วงเวลาของเราเพิ่มขึ้น4เดือนครึ่งต่อปีเนื่อง 6ทศวรรษ’

หมายความว่า ต่อไปคนไทยจะมีอายุเกิน100 ปี เป็นเรื่องปกติ และการเป็นสังคมอายุยืนนำมาซึ่งโอกาสและความท้าทายใหม่ๆ มากมาย ซึ่งภาครัฐและเอกชนต้องวางแผน และเตรียมการที่ดี เพราะทำให้วัยแรงงานมีจำนวนลดลง ส่งผลต่อผลิตภาพแรงงานต่ำลงเมื่ออายุมากขึ้น และออกจากตลาดแรงงานเร็วเกินไป

“หากเรา ไม่เข้าใจว่าโลกเปลี่ยนคนไทยอายุยืนขึ้นเราจะนิยามคำว่าสูงอายุผิดไปและอาจลงทุนในตนเองต่ำไป เลิกทำงานเร็วเกินไป หรือเด็กรุ่นใหม่ที่อยากเกษียณอายุ 40 หากไม่เข้าใจว่าเราจะอายุยืน เราจะอยู่ในโลกอายุยืนที่มีความสุขน้อยลง”

ดังนั้นเพื่อเตรียมความพร้อมกับสังคมอายุยืนไทยควรปรับนิยามผู้สูงอายุตามประเทศพัฒนาแล้วคืออายุ 65 65 ปี และยืดรับบำนาญเพื่อยืดอายุการทำงาน ยืดเวลาการออม และฝึกทักษะสำหรับโลกอนาคตมากขึ้น

‘เรื่องของสังคมอายุยืนไม่ใช่เรื่องของสังคมสูงวัยที่เป็นเรื่องของคนกลุ่มใดกลุ่มหนึ่ง แต่เป็นเรื่องที่เกี่ยวกับคนทุกคน และจะยกระดับประเทศได้ต้องมีการวางแผนและเตรียมการที่ดีพอ’

การเข้าสู่สังคมอายุยืนมีความท้าทายหลายประการ ได้แก่ จะทำให้ประเทศไทยแข่งขันในสังคมโลกได้อย่างไร, จะสร้างเมืองให้เหมาะกับคนอายุยืนอย่างไร, การดูแลสุขภาพ, การเก็บออม เป็นต้น