กทม.ไข้เลือดออกระบาดป่วยเกือบ 1,000 ราย ตายแล้ว 1 แนะทำลายน้ำยุงลายทุกสัปดาห์

นพ.ชวินทร์ ศิรินาค ผู้อำนวยการสำนักอนามัย กรุงเทพมหานคร (กทม.) เปิดเผยว่า ข้อมูลจากสำนักระบาดวิทยา กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) ระหว่างวันที่ 6 มกราคม – 9 มีนาคม 2562 ประเทศไทยมีรายงานผู้ป่วยโรคไข้เลือดออกสะสม 9,914 ราย เสียชีวิต 9 ราย ส่วนพื้นที่กทม.ข้อมูลจากกลุ่มงานควบคุมสัตว์และแมลงนำโรค สำนักอนามัย กทม. พบว่า วันที่ 6 มกราคม – 9 มีนาคม 2562 มีผู้ป่วยโรคไข้เลือดออกสะสม 846 ราย เสียชีวิต 1 ราย กลุ่มที่มีอัตราป่วยมากที่สุด คือ อายุ 5 – 15 ปี รองลงมา กลุ่มอายุ 15 – 34 ปี กลุ่มอายุ 0 – 4 ปี กลุ่มอายุ 35 – 59 ปี และกลุ่มอายุ 60 ปีขึ้นไป ตามลำดับ เขตที่พบอัตราป่วยสูงสุด คือ เขตธนบุรี รองลงมา เขตคลองสาน เขตบางคอแหลม เขตยานนาวา และเขตบางกอกน้อย

นพ.ชวินทร์ กล่าวว่า สำหรับอาการต้องสงสัยเป็นโรคไข้เลือดออก คือ ไข้สูงลอย 39 – 40 องศา ปวดเมื่อยตามร่างกายประมาณ 2 – 7 วัน มีอาการเลือดออก ถ่ายดำ มีจุดเลือดตามตัว แขน ขา ข้อพับ กระสับกระส่าย มือเท้าเย็น รอบปากเขียว ชีพจรเบาและเร็ว ความดันต่ำ ตับโตกดเจ็บบริเวณชายโครงด้านขวา รวมทั้งอาการช็อกหรือระบบไหลเวียนเลือดล้มเหลวซึ่งมักเกิดในช่วงไข้เริ่มลด สำหรับการรักษานั้นจะให้ยาลดไข้ประเภทพาราเซตามอล ห้ามใช้แอสไพรินเด็ดขาด ดื่มน้ำให้เพียงพอ เฝ้าระวังอาการอย่างใกล้ชิดโดยเฉพาะในช่วงไข้ลดประมาณ 3 – 4 วัน หากผู้ป่วยเข้าสู่ภาวะช็อกให้รีบนำไปพบแพทย์โดยเร็วที่สุด ทั้งนี้ ทุกคนสามารถช่วยกันป้องกันการแพร่ระบาดโรคไข้เลือดออกได้ด้วยการสำรวจและกำจัดแหล่งเพาะพันธุ์ลูกน้ำยุงลายบริเวณบ้านและรอบบ้านเป็นประจำทุกสัปดาห์ ดูแลสุขภาพตนเอง ป้องกันไม่ให้ถูกยุงกัด หรือใช้ยาทาป้องกันยุงกัด หากมีอาการไข้สูง หน้าแดง ไม่ไอ เพลีย ซึม กินไม่ได้เกิน 2 วัน ให้รีบไปพบแพทย์ รวมทั้งขอให้ติดตามข่าวสาร สถานการณ์โรคไข้เลือดออกในพื้นที่กรุงเทพฯ ได้ทางเว็ปไซต์ กองควบคุมโรคติดต่อ สำนักอนามัย กทม. ที่ http://www.bangkok.go.th/bmadcd

 

 


ที่มา : มติชนออนไลน์