มหาดไทยแก้ไขพ.ร.บ.ทะเบียนราษฎร กำหนดเกณฑ์ 7 ข้อ คนไร้สัญชาติ ยื่นขอสัญชาติไทย

เมื่อวันที่ 17 พฤษภาคม เว็บไซต์ราชกิจจานุเบกษาเผยแพร่ ประกาศกระทรวงมหาดไทยเรื่องคุณสมบัติอื่นของผู้ที่มีสิทธิยื่นคำร้องขอมีสัญชาติไทย ตามมาตรา19/2วรรคสองแห่งพระราชบัญญัติการทะเบียนราษฎรพ.ศ.2564 ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติการทะเบียนราษฎร(ฉบับที่3)พ.ศ.2562 อาศัยอำนาจตามความในมาตรา19/2วรรคสองแห่งพระราชบัญญัติการทะเบียนราษฎรพ.ศ.2564 ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติการทะเบียนราษฎร(ฉบับที่3)พ.ศ.2562 รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยประกาศกำหนดคุณสมบัติของบุคคลที่นายทะเบียนผู้รับแจ้งไม่อาจพิสูจน์สถานะการเกิดและสัญชาติและได้รับการจัดทำทะเบียนประวัติและเอกสารแสดงตนหรือบัตรประจำตัวตามกฎหมายว่าด้วยการทะเบียนราษฎรให้เป็นผู้มีสัญชาติไทย มีสาระสำคัญ อาทิ ข้อ1 บุคคลที่จะได้รับสัญชาติไทยตามมาตรา19/2 วรรคสองแห่งพระราชบัญญัติการทะเบียนราษฎรพ.ศ.2534 ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติการทะเบียนราษฎร(ฉบับที่3) พ.ศ.2562จะต้องมีคุณสมบัติภายใต้เงื่อนไขดังต่อไปนี้ 7 ข้อ เช่น 1. เป็นเด็กไร้เดียงสาที่ถูกบิดามารดาทอดทิ้งหรือเด็กเร่ร่อนเด็กที่ไม่ปรากฏบุพการีหรือบุพการีทอดทิ้งซึ่งอยู่ในการอุปการะของหน่วยงานของรัฐหรือหน่วยงานเอกชนที่จดทะเบียนตามกฎหมายโดยมีวัตถุประสงค์เพื่อการสงเคราะห์ช่วยเหลือเด็กหรือเป็นบุคคลที่เคยอยู่ในการอุปการะของหน่วยงานดังกล่าว ซึ่งนายทะเบียนอำเภอหรือนายทะเบียนท้องถิ่นไม่อาจรับแจ้งการเกิดหรือเพิ่มชื่อในทะเบียนบ้านเนื่องจากไม่อาจพิสูจน์สถานะการเกิดและสัญชาติ ทั้งนี้ให้หมายความรวมถึงบุคคลที่นายทะเบียนอำเภอหรือนายทะเบียนท้องถิ่นไม่อาจรับแจ้งการเกิดหรือเพิ่มชื่อในทะเบียนบ้านเนื่องจากไม่อาจพิสูจน์สถานะการเกิดและสัญชาติด้วย

2.ได้รับการจัดทำทะเบียนราษฎรและเอกสารแสดงตนหรือบัตรประจำตัวตามกฎหมายว่าด้วยการทะเบียนราษฎร 3.ต้องมีภูมิลำเนาอาศัยอยู่ในราชอาณาจักรอย่างต่อเนื่องเป็นเวลาไม่น้อยกว่าสิบปีนับถึงวันที่ผู้นั้นยื่นคำร้องต่อนายทะเบียนอำเภอหรือนายทะเบียนท้องถิ่นเพื่อขอมีสัญชาติไทย 4. มีหนังสือรับรองความเป็นคนไร้รากเหง้าที่ออกให้โดยหน่วยงานในสังกัดกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์หรือหน่วยงานของรัฐที่มีสถานะเช่นเดียวกับสถานสงเคราะห์หรือนายอำเภอหรือผู้อำนวยการเขตแห่งท้องที่ที่ผู้นั้นมีภูมิลำเนาอาศัยอยู่หรือตามหลักฐานทะเบียนประวัติเว้นแต่กรณีคนที่ป่วยทางจิตประสาทหรือพิการทางสมองมีอาการเลอะเลือนโดยมีหนังสือรับรองจากแพทย์ของสถานพยาบาลที่ทำการรักษาบุคคลดังกล่าวนั้น 5.เป็นผู้มีความประพฤติดีไม่มีพฤติการณ์ที่เป็นภัยต่อความสงบเรียบร้อยและความมั่นคงไม่เคยต้องโทษจำคุกเว้นแต่ความผิดลหุโทษหรือความผิดโดยประมาทหรือหากเคยต้องโทษจำคุกต้องพ้นโทษมาแล้วเป็นเวลาไม่น้อยกว่าห้าปี เป็นต้น

 

 

 

ที่มา มติชนออนไลน์