สภาเกษตรฯ ชงรัฐออก กม.ใหม่ดึง “กัญชา-กัญชง-กระท่อม” ออกจาก พ.ร.บ.ยาเสพติดฯ

เมื่อวันที่ 20 พฤษภาคม นายอาทิตย์ อุไรรัตน์ อธิการบดีมหาวิทยาลัยรังสิต และอดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) เปิดเผยว่า ในวันที่ 21 พฤษภาคมนี้ จะเข้าร่วมขบวนเดินเท้า “เดินเพื่อผู้ป่วย” ซึ่งนายเดชา ศิริภัทร ประธานมูลนิธิข้าวขวัญ และเครือข่ายภาคประชาชนจัดขึ้น โดยจะเริ่มเดินตั้งจุดเริ่มต้นที่วัดป่าวชิรโพธิญาณ อ.โพทะเล จ.พิจิตร เพราะต้องการร่วมรณรงค์ให้ถอดกัญชาออกจากบัญชียาเสพติดและเป็นสมุนไพรควบคุม เพื่อให้ประชาชนเข้าถึงยากัญชาโดยไม่มีการหมกเม็ด ทั้งๆ ที่ความจริงแล้วไม่ควรต้องทำอย่างนี้ แต่เพราะประชาชนเดือดร้อนจึงมีทางเดียวคือ รัฐบาลและราชการต้องรับรู้ความต้องการของประชาชน

“ที่ผ่านมาได้พิสูจน์แล้วว่ากัญชาเป็นยา ถึงแม้ไม่ได้วิเศษสุด แต่ก็มีความมหัศจรรย์ ช่วยชีวิตได้ในราคาถูกและชาวบ้านเข้าถึงได้ แต่รัฐบาลและราชการสร้างระบบกีดกันและเรื่องมาก แม้กระทั่งปลดล็อกครั้งก่อนที่มีการแก้ไขกฎหมายกลับทำเป็นมายากล ฉ้อฉล และไม่ได้ปลดล็อกเลย เพราะรัฐยังผูกขาดเอาไว้เพื่อนายทุนและผลประโยชน์ของบริษัทซึ่งประชาชนทั่วไปไม่มีสิทธิเข้าถึง โดยเฉพาะเมื่อพ้นกำหนดนิรโทษกรรม แต่ชาวบ้านที่ต้องการไปขึ้นทะเบียนหวั่นเกรงและรู้สึกเหมือนเป็นการชี้เป้าให้ตำรวจ ดังนั้นจึงมีประชาชนอีกจำนวนมากไม่ไปลงทะเบียนแจ้งและอยู่ใต้ดินเหมือนเดิม” นายอาทิตย์กล่าวและว่า ขณะนี้ที่ประเทศลาวยังก้าวหน้ากว่าประเทศไทย แม้กัญชายังเป็นสิ่งผิดกฎหมาย แต่ให้ปลูกเป็นพันไร่ และเป็นสินค้าส่งออกไปต่างประเทศ

“แปลกใจว่ารัฐบาลพลังประชารัฐ พล.อ.ประยุทธ จันทร์โอชา น่าจะรู้ว่าเป็นความต้องการประชาชน แต่กลับยังไม่ปลดล็อก ถ้าปลดล็อกคงได้คะแนนมากมาย ผมรู้ว่าเบื้องลึกแล้ว มีคนจากต่างประเทศได้ผลประโยชน์มหาศาล เขาเอาเงินจดสิทธิบัตรมาลงให้นักการเมือง บ้านเมืองไม่ควรอยู่แบบนี้ จะลุกเป็นไฟหมดแล้ว” อธิการบดีมหาวิทยาลัยรังสิตกล่าว

ผู้สื่อข่าวถามว่า การเดินเท้ารณรงค์ในครั้งนี้จะทำให้รัฐบาลยอมแก้ไขกฎหมายหรือไม่ นายอาทิตย์กล่าวว่า ถ้าไม่รณรงค์เรียกร้อง ก็ไม่มีโอกาส เสียงประชาชนคือสวรรค์ พรรคไหนที่เปิดให้กัญชา ประชาชนก็สนับสนุน สภาชุดใหม่เป็นสภาที่รัฐบาลคุมได้ จะออกกฎหมายอะไรก็ได้ ถ้าจริงใจ

“มีวิธีการเดียวคือ ประชาชนแสดงจุดยืน ผมเคยเสนอให้ พล.อ.ประยุทธ์ ใช้ ม.44 เพื่อให้กัญชาเป็นสมุนไพรเพื่อการแพทย์” นายอาทิตย์ กล่าวและว่า แม้วันนี้มหาวิทยาลัยรังสิตจะได้รับอนุญาตให้ทำวิจัยกัญชารักษาโรค แต่โดยขั้นตอนแล้วยุ่งยากมาก ที่สำคัญคือ ไม่มีกัญชาเพียงพอ เพราะแต่เดิมเคยได้จากสำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามยาเสพติด (ป.ป.ส.) แต่กฎหมายใหม่อนุญาตให้ปลูก 50 ต้น เพื่องานวิจัย ซึ่งไม่เพียงพอ เพราะยารักษาโรคมะเร็งต้องทอลองกับคนนับพันในเวลา 6 เดือน” นายอาทิตย์กล่าว

ด้านนายประพัฒน์ ปัญญาชาติรักษ์ ประธานสภาเกษตรกรแห่งชาติ และอดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (ทส.) กล่าวว่า ปัจจุบันสังคมไทยมีความรู้เรื่องกัญชารักษาโรคมากขึ้น แต่ที่ล้าหลังคือ เจ้าหน้าที่รัฐและระบบราชการ ทำให้การบังคับใช้กฎหมายไม่สอดคล้องกับสถานการณ์ในปัจจุบัน ในที่สุดภาคประชาชนต้องออกแรงขับเคลื่อนเพื่อให้ประโยชน์อย่างเต็มเม็ดเต็มหน่วยเป็นของประชาชาชน ซึ่งนายเดชาเป็นคนหนึ่งที่ขับเคลื่อน และมีอีกหลายเครือข่ายที่พยายามผลักดันอยู่เช่นกัน

นายประพัฒน์กล่าวว่า สภาเกษตรกรแห่งชาติได้หารือกันและเห็นว่าทางที่ดีควรมีการออกพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) กัญชา กัญชง และกระท่อม อีก 1 ฉบับ เพราหากพืชเหล่านี้ยังอยู่ภายใต้กฎหมายยาเสพติด ทำให้การแก้ปัญหาต่างๆ ปลดล็อกยากมาก เช่น กัญชาแม้ใช้ทางการแพทย์ได้แต่ยังเป็นยาเสพติด ทางที่ดีออกกฎหมายใหม่เพื่อดูแลพืช 3 ชนิดนี้ เพื่อสังคมจะได้ไม่หวาดวิตก และอนุญาตให้ใช้ประโยชน์ตามที่ปรากกฎในกฎหมาย หากใช้ผิดประเภท เช่น เอากระท่อมผสมเป็นสี่คูณร้อยก็ต้องรับโทษ

“สภาเกษตรกรฯ ได้หารือกับบางพรรคการเมืองไว้บ้างแล้ว ซึ่งเขาเห็นด้วยกับแนวทางของเรา หากเปิดสภาเมื่อใด บรรดา ส.ส.สามารถเสนอกฎหมายนี้ได้ทันที หากการเมืองเอาด้วย ก็เร็วขึ้น” นายประพัฒน์ กล่าวและว่า ไม่เชื่อว่า สธ.จะออกระเบียบหรือประกาศต่างๆ เพื่อเอื้อประโยชน์กับทุนผูกขาด แต่อาจเพราะขาดความเข้าใจ ทำให้ดูเหมือนว่าการออกระเบียบต่างๆ ไปเข้าทางทุนใหญ่มากกว่าประชาชนทั่วไป ซึ่งเรื่องนี้ประชาชนต้องคอยติดตามอย่างใกล้ชิด

 


ที่มา : มติชนออนไลน์