“กรมฝนหลวงฯ” เฝ้าระวังอีสานยังแล้ง พบ 19 เขื่อนน้ำน้อยต่ำกว่า 30% รอเมฆเป็นใจพร้อมปฏิบัติการ

นายปนิธิ เสมอวงษ์ รองอธิบดีกรมฝนหลวงและการบินเกษตร ด้านปฏิบัติการ กล่าวว่า ปัจจุบันยังมีพื้นที่ประสบปัญหาภัยแล้งตามที่กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยได้ออกประกาศ จำนวน 7 จังหวัด รวม 17 อำเภอ 60 ตำบล 442 หมู่บ้าน แม้ขณะนี้จะเริ่มเข้าสู่ฤดูฝนแต่ยังมีเขื่อนและอ่างเก็บน้ำที่มีปริมาณน้อยกว่า 30% ประกอบด้วย เขื่อนและอ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่ จำนวน 19 แห่ง, เขื่อนและอ่างเก็บน้ำขนาดกลาง จำนวน 198 แห่ง ส่วนใหญ่อยู่ในพื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ (ภาคอีสาน) ซึ่งกรมฝนหลวงฯ จะเฝ้าระวังติดตามและเร่งปฏิบัติการทันทีที่สภาพอากาศเอื้ออำนวย และขอความร่วมมือประชาชนช่วยกันรณรงค์ใช้น้ำอย่างประหยัด

ทั้งนี้ จากผลตรวจคุณภาพอากาศจากกรมควบคุมมลพิษ เมื่อวันที่ 23 พฤษภาคม 2562 พบว่าบริเวณพื้นที่กรุงเทพฯและปริมณฑลอยู่ในเกณฑ์ดีถึงดีมาก และจากผลการตรวจสภาพอากาศของสถานีเรดาร์สัตหีบ จ.ชลบุรี มีความชื้นที่ระดับการเกิดเมฆ 76% ความชื้นที่ระดับการพัฒนาตัวของเมฆ 78% และค่าดัชนีการยกตัวของอากาศ -1.3 หน่วยปฏิบัติการฯ จ.จันทบุรี จึงขอติดตามสภาพอากาศระหว่างวัน หากสภาพอากาศเหมาะสมจะขึ้นบินปฏิบัติการช่วยเหลือพื้นที่การเกษตรภาคตะวันออกที่รับผลกระทบจากปัญหาภัยแล้งทันที

นายปนิธิ กล่าวว่า หลังจากการตรวจสภาพอากาศในอ.ร้องกวาง และอ.อมก๋อย จึงตัดสินใจปฏิบัติการภารกิจที่ 1 ขั้นตอนที่ 1 บริเวณบริเวณทิศตะวันตก อ.เมืองตาก จ.ตาก เพื่อช่วยเหลือพื้นที่การเกษตรและและพื้นที่เสี่ยงขาดแคลนน้ำอุปโภคบริโภคบางส่วน จ.ตาก และภารกิจที่ 2 ขั้นตอนที่ 1 บริเวณทิศตะวันตก อ.เมืองเพชรบูรณ์ จ.เพชรบูรณ์ เป้าหมายเป็นพื้นที่ลุ่มรับน้ำอ่างเก็บน้ำขนาดกลาง อ.เมืองเพชรบูรณ์ จ.เพชรบูรณ์ หน่วยปฏิบัติการฯ จ.เชียงใหม่ ขอติดตามสภาพอากาศระหว่างวัน หากสภาพอากาศเหมาะสมจะขึ้นบินปฏิบัติการช่วยเหลือพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบต่อไป

นอกจากนี้ การปฏิบัติงานในพื้นที่ภาคใต้ ผลตรวจสภาพอากาศจากสถานีเรดาร์พนม จังหวัดสุราษฎร์ธานี และสถานีเรดาร์ปะทิว จังหวัดชุมพร พบว่ามีความชื้นที่ระดับการพัฒนาตัวของเมฆ อ.พนม 67% อ.ปะทิว 62% เนื่องจากสภาพอากาศมีลักษณะปิด หน่วยปฏิบัติการฯ หัวหิน หน่วยปฏิบัติการฯ จ.สงขลา และหน่วยปฏิบัติการฯ จ.สุราษฎร์ธานี จึงขอติดตามสภาพอากาศระหว่างวัน หากสภาพอากาศเหมาะสมจะขึ้นบินปฏิบัติการเพิ่มความชุ่มชื้นให้กับพื้นที่ป่าพรุที่ได้รับผลกระทบ ช่วยเหลือพื้นที่การเกษตรบางส่วนของ จ.ประจวบคีรีขันธ์ จ.สุราษฎร์ธานี จ.นราธิวาส และพื้นที่เสี่ยงต่อการขาดแคลนน้ำอุปโภคบริโภคในพื้นที่ จ.ภูเก็ต

 

 

 

 

 


ที่มา มติชนออนไลน์