เปิด 7 เคส ผลกระทบใช้กัญชา หมอเตือนอย่าใช้มั่ว เผยเดือนเดียวหามส่งรพ. อื้อ

เปิด 7 เคส ผลกระทบใช้กัญชา หมอเตือนอย่าใช้ มั่ว เผยเดือนเดียวหามส่งรพ. อื้อ

วันที่ 24 พฤษภาคม นพ.สมศักดิ์ อรรฆศิลป์ อธิบดีกรมการแพทย์ กล่าวว่า ขณะนี้ทางกรมการแพทย์พยายามจัดทำฐานข้อมูลบุคลากรทางการแพทย์ที่ผ่านการอบรมไปแล้ว โดยเน้นไปยังแพทย์และเภสัชกรว่าอยู่ในพื้นที่ใด เพื่อทำการจับคู่กับผู้ป่วยที่มีอยู่ในฐานข้อมูล ซึ่งรุ่นแรกผู้ที่สอบผ่านได้รับการขึ้นทะเบียนรับรองจากทาง อย.แล้ว โดยกรมการแพทย์ได้วางเป้าหมายให้มีแพทย์และเภสัชกรที่ผ่านการอบรมกระจายอยู่ในโรงพยาบาลศูนย์ทั่วประเทศ เพื่อให้จับคู่และสามารถจ่ายยาได้ในคนไข้ที่เข้ารับการรักษา แต่รุ่นแรกที่ผ่านการอบรมกลับไม่เป็นไปตามเป้า เพราะผู้ที่เข้าอบรมส่วนใหญ่เป็นบุคลากรทางการแพทย์ของโรงพยาบาลเอกชนและหน่วยงานภายนอก สำหรับการจัดอบรมการใช้สารสกัดกัญชาทางการแพทย์สำหรับบุคลากรทางการแพทย์ ในปีงบประมาณ 2562 กำหนดจัดรวม 6 รุ่น โดยรุ่นแรกได้ผ่านการประเมิน 175 คน รุ่นที่ 2 อยู่ระหว่างอบรมวันที่ 23-24 พฤษภาคม ส่วนรุ่นที่ 3-6 จำนวนรุ่นละ 300 คน ขณะนี้ได้มีผู้ลงทะเบียนเต็มจำนวนแล้ว

นพ.สมศักดิ์ อรรฆศิลป์

นพ.สมศักดิ์ กล่าวว่า ทั้งนี้ เพื่อให้การจับคู่ผู้ป่วยครอบคลุมทุกจังหวัด โดยการเปิดอบรมรุ่นพิเศษเฉพาะแพทย์และเภสัชกรในโรงพยาบาลศูนย์และโรงพยาบาลทั่วไปทุกจังหวัดเพื่อให้พร้อมจ่ายยาและดูแลผู้ป่วย ระหว่างวันที่ 17-18 มิถุนายน รวม 250 คน หลักสูตรทีมดูแลผู้ป่วยรักษาประคับประคอง ระหว่างวันที่ 30-31 กรกฎาคม รวม 180 คน รวมถึงเปิดหลักสูตรเชิงบริหารการใช้กัญชาทางแพทย์ สำหรับผู้บริหารสำหรับผู้อำนวยการโรงพยาบาลศูนย์ โรงพยาบาลทั่วไปและนายแพทย์สาธารณสุขจังหวัด เพื่อเพิ่มความเข้าใจและให้เข้าถึงข้อมูลกัญชาใช้รักษาทางการแพทย์มากขึ้น

“อย่างไรก็ตาม ทางกรมการแพทย์ยืนยันสารสกัดจากกัญชาควรใช้ตามข้อบ่งชี้ที่มีหลักฐานชัดเจน ส่วนข้อบ่งใช้ที่ยังไม่ชัดเจนอยากให้มีการเก็บข้อมูลเพื่อให้มีข้อบ่งใช้ชัดเจน หากเป็นไปได้อยากให้เครือข่ายใต้ดินเข้ามาอยู่ในระบบเพื่อเก็บข้อมูลในการศึกษาวิจัยให้ได้หลักฐานเชิงประจักษ์ทางการแพทย์ ซึ่งสารสกัดจากกัญชาเป็นยาหากใช้ให้ถูกต้อง แต่หากใช้ไม่ถูกต้องยอมรับว่าเป็นยาเสพติด นอกจากนี้ไม่แนะนำให้ผู้ป่วยโรคอื่นใช้สารสกัดจากกัญชา เนื่องจากการรักษามีเรื่องยีนมาเกี่ยวข้อง ทำให้การตอบสนองแต่ละคนแตกต่างกัน บ้างมีอาการตอบสนองน้อยมาก บางคนไม่ตอบสนอง บ้างปกติ บางตอบสนองมากผิดปกติ ซึ่งยืนยันว่าสารสกัดจากกัญชารักษาได้ตามที่มีข้อบ่งใช้ชัดเจน 4 โรค ส่วนนอกนั้นควรเป็นลักษณะการศึกษาวิจัย ขอย้ำว่ากัญชาไม่ได้รักษาทุกโรค อยากให้ผู้ป่วยที่ต้องการใช้สารสกัดจากกัญชาปรึกษาแพทย์ก่อนการใช้ เพื่อให้เกิดความเข้าใจในการรักษาได้มากขึ้น ย้ำว่ากัญชาไม่ใช่ทางเลือกแรกในการรักษา” นพ.สมศักดิ์ กล่าว

นพ.สมศักดิ์ กล่าวว่า ขณะนี้ มีกระแสข่าวถึงผู้ใช้น้ำมันกัญชาเกินขนาดและต้องการรักษาตัวยังโรงพยาบาลวิชัยยุทธ ล่าสุด ได้รับรายงานจากโรงพยาบาลนพรัตนราชธานี ยังพบกรณีลักษณะเดียวกัน โดยในเวลาเพียงเดือนกว่า พบมีผู้ป่วย 7 ราย อายุระหว่าง 20-60 ปีเข้ารับการรักษาจากการได้รับผลเคียงจากการใช้สารสกัดจากกัญชาทั้งการสูบและหยดใต้ลิ้น ส่วนใหญ่มีอาการคลื่นไส้ อาเจียน วิงเวียนศรีษะ แม้ข้อบ่งใช้ชัดเจนระบุว่าจะใช้รักษาอาการดังกล่าว แต่ข้อเท็จจริงสามารถใช้รักษาอาการคลื่นไส้ อาเจียนจากบางอาการเท่านั้น ซึ่งบางรายยังมีภาวะสมองขาดเลือด ทำให้เกิดอาการอัมพาตเฉียบพลัน เพราะผู้ใช้มีอาการของโรคอื่นร่วมด้วย

นพ.สมศักดิ์ กล่าวว่า สำหรับผู้ป่วย 7 รายที่เข้ารับการรักษา เป็น 1.ชายอายุประมาณ 20 ปี ใช้กัญชารักษาอาการปวดท้องเรื้อรัง เพียง 1-2 ครั้ง เกิดอาการคลื่นไส้ อาเจียน 2.หญิงอายุ 35 ปี เป็นความดันโลหิตสูง หยดยาใต้ลิ้นเกินขนาด เนื่องจากหยดครั้งแรกรู้สึกติดปลายลิ้น เพียง 4 ชั่วโมงเข้าห้องฉุกเฉินทันที เพราะมีอาการบ้านหมุน วิงเวียนศีรษะ คลื่นไส้ อาเจียน 3. ผู้ป่วยไม่มีโรคประจำตัว สูบกัญชาเป็นประจำ เกิดอาการปวดท้อง คลื่นไส้ 4.พระ อายุ 60 ปี รายงานไม่มีโรคประจำตัว ใช้กัญชาโดยการหยด เพื่อรักษาอาการปวดเมื่อย จากคำแนะนำของหลาน ผ่านไป 1 คืนมีอาการวิงเวียนศีรษะ ต่อมามีอาการ สโตรก(Stroke) กลายเป็นอัมพาตครึ่งตัว และตรวจพบภายหลังเป็นความดันโลหิตสูง ซึ่งยังพิสูจน์ไม่ได้ว่าสาเหตุมาจากการหยดกัญชาหรือไม่ 5.ชาย 45 ปี เคยผ่าตัดหัวใจและความดันโลหิตสูง หยดน้ำมันกัญชาแก้ปวดแค่ 1 ครั้ง ต่อมาเกิดอาการวิงเวียนศีรษะ ตาลาย คลื่นไส้ อาเจียน 6.ผู้ป่วยมะเร็ง 65 ปีติดเตียง หยดน้ำมันกัญชา จากนั้นปลุกไม่ตื่น แต่ยังไม่เสียชีวิต ก่อนเข้ารักษาตัวในโรงพยาบาล 2-3 วัน และ 7.หญิง 35-46 ปี ไม่มีโรคประจำตัว ใช้น้ำมันกัญชาหยดใต้ลิ้น 3-4 วัน รักษาอาการเครียด นอนไม่หลับ ต่อมาดื่มแอลกอฮอล์ ก่อนมีอาการคลื่นไส้ อาเจียน

“ทางกรมการแพทย์อยู่ระหว่างการตั้งศูนย์เฝ้าระวังเพื่อติดตามสถานการณ์ดังกล่าว ซึ่งปัจจุบันได้รับรายงานจากว่ามีเคสผู้ป่วยเข้ารับการรักษาในห้องฉุกเฉินมากขึ้นจากการทดลองใช้กัญชา เนื่องจากประชาชนยังมีความเข้าใจคลาดเคลื่อนว่ากัญชารักษาได้ทุกโรค หากมีความต้องการใช้ให้ปรึกษาแพทย์ก่อน อย่ามั่วรักษากันเอง ทั้งนี้ หากมีอาการผิดปกติจากการใช้ ไม่ว่าด้วยอาการใดให้รีบพบแพทย์ทันที” นพ.สมศักดิ์ กล่าว.

 

 

 

 

ที่มา มติชนออนไลน์